นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ

“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว   ชี้หากเดินหน้าทำอาจส่งผลถึงกระบวนตรา กม.โดยมิชอบ “เด็ก พท.” รับสภาพหากพัก 180 วันหมดยุครัฐบาลนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ 

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2567 นายนิกร จำนง  เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  (ฉบับที่..) พ.ศ..… เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 4 ธ.ค. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรายงานของคณะกรรมาธิการร่วมกันฯ และคาดว่าจะเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในวันพุธที่ 4  ธ.ค. เพื่อให้สามารถบรรจุระเบียบวาระการประชุมของแต่ละสภาเมื่อเปิดสมัยประชุม โดยคาดว่าวุฒิสภาจะพิจารณารายงานของคณะ กมธ.ร่วมฯ   ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. ส่วนสภาผู้แทนราษฎรคาดว่าจะพิจารณาในวันพุธที่ 18 ธ.ค.2567

นายนิกรกล่าวต่อว่า เชื่อว่ารายงานจะได้รับความเห็นชอบจากฝั่ง สว.แน่นอน เพราะเป็นหลักการสองชั้นตามร่างที่ สว.ได้แก้ไขไว้เดิม แต่ในชั้นการพิจารณาของฝั่ง สส.คงไม่ให้ความเห็นชอบแน่นอน และจะถูกยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 เพื่อที่จากนั้นสภาจะได้ยกร่างฉบับของตนขึ้นพิจารณาใหม่แล้วยืนยันเพื่อให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัย สว.แต่อย่างใด จากนั้นก็นำไปดำเนินการมาตรา 81 เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

นายนิกรยังกล่าวว่า ตามที่ได้มีความคิดเห็นนำเสนอให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน เพื่อลดเวลาการยับยั้งไว้จาก 180 วัน ให้เหลือเพียงแค่ 10 วันนั้น ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้จากสภาพบังคับของกฎหมายประชามติตามที่เป็นอยู่ จะทำให้การทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งแรกมิได้ล่าช้าไปเพียง 180 วันเท่านั้น หากแต่ต้องรวมเอาเวลาของขั้นตอนอื่นๆ  ตามกฎหมายอื่นด้วย แล้วจะทำให้เวลาต้องยืดไปอีกมากเป็นปี โดยประมาณว่าจะทำประชามติครั้งแรกได้ช่วงเดือน ม.ค.2569 ทีเดียว

“เชื่อว่าไม่สามารถลดเวลาโดยอาศัยช่องทางว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินได้ ถ้าฝืนกระทำไปก็อาจสุ่มเสี่ยงถูกร้องว่าออกกฎหมายโดยมิชอบได้  เพราะถึงขณะนี้เป็นที่เด็ดขาดแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินตามที่สภาแจ้งไปยังวุฒิสภา ตามมาตรา 136 วรรคสี่  ของรัฐธรรมนูญ กรณีจึงล่วงพ้นช่วงเวลาในการสงสัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้นไปแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ จึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยอีก หากมีการดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้” นายนิกรกล่าว

ด้านนายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงแนวคิดของนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ จะให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาทุกคณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อาจเข้าข่ายเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน  ว่าต้องหารือกับประธานรัฐสภาและประธาน กมธ.ทุกคณะก่อนว่าเข้าข่ายลักษณะเช่นนั้นหรือไม่  เพราะมีข้อบังคับที่เขียนไว้ ซึ่งหากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ก็ย่นเวลาลงมา แต่หากผลการหารือออกมาว่าไม่เป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 คือต้องค้างไว้อีก 180 วัน จากวันที่สภาใดสภาหนึ่งมีการยับยั้ง

เมื่อถามอีกว่า หากต้องมีการรออีก 180 วัน จะกระทบกับไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ว่าอยากให้แก้รัฐธรรมนูญเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายกฤชกล่าวว่า หากต้องรอ 180 วัน และการทำประชามติต้องทำ 3 ครั้ง ก็ต้องใช้เวลาจากเท่าที่เคยคำนวณไว้ โดยขั้นต่ำจะใช้เวลาประมาณ 1,080 วัน หรือ 2 ปีกับ 11 เดือน หากเป็นเช่นนั้น ก็เลยเวลาของอายุสภาและรัฐบาลชุดนี้ แต่ในขั้นตอนระหว่างนั้นอาจตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว และ ส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่ แต่เราต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่กรอบกฎหมายจะกำหนดให้ทำได้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาก่อน เราต้องไปดูตรงนี้ด้วยว่าผ่านความเห็นชอบหรือไม่

เมื่อถามต่อว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยังเป็นการใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้นในการทำประชามติใช่หรือไม่ นายกฤชกล่าวว่า ใช่ ไปตามร่างที่เคยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนั้นมติเป็นเอกฉันท์ที่ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าเป็นเสียงข้างมากธรรมดา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง