ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า  7,500 ล้านบาท ตร.เผยล่าสุดเผ่นไปจีน ขณะที่  "เมีย-ลูก" หมอบุญเข้ามอบตัวคดีร่วมกันฉ้อโกง  อ้างถูกปลอมลายเซ็น ยันเอาผิดสามีและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้านทนายซัดฝีมือ "หมอบุญ" ล้วนๆ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ร่วมกันแถลงข่าวการออกหมายจับนายเเพทย์บุญ วนาสิน พร้อมกับผู้ร่วมขบวนการ รวม 9 คน ตามความผิดตาม  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  พ.ศ.2537 หลอกลวงเงินผู้อื่นให้มาร่วมลงทุน ธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาล บริการทางการเเพทย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า ตั้งเดือนธันวาคม 2566 มีผู้เสียหายมาเเจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง 1 ราย จากนั้นปี 2567 ตลอดทั้งปี จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน รวม 247 ราย ตาม พ.ร.บ.เช็ค จากนั้น สน.ห้วยขวางจึงส่งเรื่องมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่ามีความสลับซับซ้อน จึงได้เเต่งตั้งคณะ บก.น.1  เป็นพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน  พบพฤติกรรมของนายเเพทย์บุญเเละพวกมีการระดมทุน ชักชวนจากตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่าตนเป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุนให้นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ และครอบครัว

โดยมีการแจ้งว่า นำไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ 16,000 ล้านบาท ใน 5 โครงการ ประกอบไปด้วย โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า 4,000 ล้านบาท, โครงการเวลเนเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมเเม่น้ำเจ้าพระยา 4,000-5,000 ล้านบาท, สร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 เเห่ง รวม 2,000 ล้านบาท, เข้าร่วมลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 4,000-5,000  ล้านบาท เเละเมดิคอร์ อินเทเลเจนท์ บางละมุง ชลบุรี งบลงทุน 100 ล้าน โดย 5 โครงการดังกล่าว หลังระดมทุนเรียบร้อยเเล้วก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญ บริษัท ไทยเมดิคิลกรุ๊ป จำกัด หรือ TMG ดูเเลโครงการทั้งหมด เนื่องจากมีการเชี่ยวชาญด้านการเเพทย์เข้ามาบริหารต่อ   ยังมีเเผนการนำเข้าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567

เเต่พฤติกรรมในการหาเเหล่งเงินทุนของหมอบุญเเละพวก กลับมีลักษณะการไปกู้ยืมเงินกับเเหล่งเงินกู้ โดยมีภรรยาเเละลูกสาวผู้ค้ำประกัน เซ็นสลักหลังในเช็คทุกฉบับมอบให้ผู้เสียหาย ในช่วงแรกมีการชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงให้กับบางส่วนบางคน ต่อมาไม่มีการจ่ายเลย ทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบว่า หลังจากได้เงินทุน 7,500 ล้าน พบว่าให้โบรกเกอร์ทยอยไปถอนเงินครั้งละเป็นร้อยล้าน โดยโบรกเกอร์จะได้ดอกเบี้ยเเละเปอร์เซ็นต์เป็นค่าตอบเเทน ซึ่งการกระทำทั้งหมอบุญเเเละโบรกเกอร์จะไปชักชวนผู้ร่วมลงทุนที่เป็นนักเล่นหุ้นกระเป๋าหนัก

หมายจับ 9 ราย

ต่อมากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จึงได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้น โดย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. เร่งดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก  มูลค่าความเสียหายสูง ผู้ที่เสียหายมากที่สุดที่ร่วมลงทุนมากถึง 600-700 ล้าน เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางการเเพทย์ รวมทั้งหมด 247 คน ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งเเต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนตุลาคม 2567

ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการนำไปใช้จ่ายในธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่จริง 4-5 โรงพยาบาล จะต้องไปตรวจสอบ รวมถึงต้องไปตรวจสอบในช่วงที่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า นายเเพทย์บุญมีรถยนต์ 19 คัน พบว่าหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโฉนดที่ดิน พบมี 21 เเปลง มีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่     

สำหรับผู้ร่วมขบวนการ ศาลอาญาได้ออกหมายจับมี 9 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 คือ นายแพทย์บุญ วนาสิน นางจารุวรรณ อายุ 79 ปี ภรรยาของนายแพทย์บุญ น.ส.นลิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของนายแพทย์บุญ, กลุ่มที่ 2 คือ น.ส.ศิวิมล อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสาร สัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน และกลุ่มที่ 3 โบรกเกอร์คือ นางอัจจิมา อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน,  นายภาคย์ อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน, นางภัทรานิษฐ์ อายุ 55 ปี เป็นนายหน้าและผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และนายธนภูมิ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ซึ่งขณะนี้ตำรวจจับได้เเล้ว 6 ราย และได้มีการนำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อยเเล้ว

'เมียหมอบุญ' มอบตัว

ส่วนหมอบุญได้ประสาน ตม. พบว่าเดินทางออกจากไทยตั้งเเต่วันที่ 29 กันยายน เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ล่าสุดพบว่านายเเพทย์บุญเดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนเเล้ว อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล ส่วนลูกเมียอยู่ระหว่างติดตามตัว คาดว่าอยู่ในประเทศไทย

สำหรับพฤติการณ์หมอบุญ ชุดสืบสวนพบว่าพยายามจ่ายเช็คให้กับเจ้าหนี้ โดยใช้เช็คที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการขึ้นเงินได้ เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องความผิดการฟอกเงินที่มีอัตราโทษสูงเเละจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์ อีกทั้งพฤติกรรมกลุ่มผู้ต้องหายังทำการตลาด ซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์สำนักพิมพ์หลายเเห่ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม จะพยายามให้ถึงที่สุดในการตามล่าตัว ตามหาทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหายให้ได้ ฝากถึงผู้ที่จะลงทุน ก่อนร่วมลงทุนให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ต่อมา นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี  ภรรยาของนายแพทย์บุญ ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ พร้อมด้วย น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของนายแพทย์บุญ ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ โดยทั้ง 2 เป็นผู้ต้องหาในหมายจับข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมทนายความเดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นางจารุวรรณ ซึ่งสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพูอ่อน สวมแว่นตาดำ  ถือกระเป๋าสีน้ำตาล และ น.ส.นลิน ที่สวมเสื้อยืดสีเขียว สวมหมวกแก๊ปสีน้ำเงิน เดินมามีทนายและลูกช่วยกันพยุงนางจารุวรรณขึ้นมาพบตำรวจนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่นางจารุวรรณและ น.ส.นลินไม่ยอมตอบคำถามใดๆ

ลายเซ็นปลอม

โดยนายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ทางลูกความตน ทั้งนางจารุวรรณและ น.ส.นลินบอกว่าถูกปลอมแปลงลายเซ็น โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนทำ แต่มีการปลอมแล้วนำเอกสารพวกนี้ไปใช้กู้ยืมเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว ยืนยันว่าไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร แต่มาทราบตอนที่มีหมายศาลฟ้องมาเป็นระยะที่ตัวนางจารุวรรณ เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่ากรณีที่มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันต่างๆ เป็นลายเซ็นปลอมทั้งหมด โดยตัวนางจารุวรรณไม่เคยไปกู้ยืมเงินแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้เซ็นค้ำประกัน

"ต้องเรียนสื่อมวลชนว่า ในช่วงที่มีการกู้ยืมเงินค้ำประกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว ตัวนางจารุวรรณเองส่วนใหญ่เดินทางอยู่ที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ในคำฟ้องนั้นจะเซ็นแบบเป็นสำเนาไม่ใช่ลายเซ็นจริง โดยต้นฉบับอยู่กับฝั่งผู้ให้กู้ และความต่างของลายเซ็นค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรื่องการปลอมลายเซ็นนั้นไม่ใช่จะเพิ่งมาพูด แต่มีการต่อสู้คดีทางแพ่งเรื่องนี้มานานแล้ว รวมถึงมีการแจ้งความไว้ที่ บก.ปอศ.ไว้เมื่อช่วงประมาณเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ในทางคดีแพ่งได้ต่อสู้คดีว่าเป็นลายเซ็นปลอม และขอให้ศาลตรวจพิสูจน์ รวมถึงคดีอาญา ศาลมีการนัดพร้อมเพื่อให้นางจารุวรรณไปเซ็นเปรียบเทียบต้นฉบับที่อ้างว่ามีการค้ำประกันและเซ็นเช็ค โดยให้คู่ความส่งต้นฉบับ และให้นางจารุวรรณเซ็นใหม่ พร้อมกับมีการนำตัวสัญญาในช่วงที่อ้างว่ามีการเซ็นกู้หรือค้ำ อยู่ระหว่างรอศาลนัด" 

เมื่อถามว่า อาจจะเป็นลายเซ็นหมอบุญหรือไม่ ทนายความตอบว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะผู้ที่กู้ที่มีชื่ออยู่ในสัญญาก็เป็นหมอบุญ รวมถึงนางจารุวรรณและหมอบุญก็มีการจดทะเบียนหย่ากันไปแล้ว โดยไม่ทราบว่าตั้งแต่ปีไหน

ถามถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องมีการปลอมแปลงลายเซ็นคนในครอบครัว ทนายความตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ส่วนในช่วงที่มีการปลอมแปลงลายเซ็นเป็นช่วงที่หย่าร้างกันไปแล้ว

ส่วนกรณีที่นางจารุวรรณเดินทางไปต่างประเทศ เป็นช่วงๆ ระหว่างปี 61-67 มีการเดินอยู่ตลอด และเกิดอ้างว่ามีการกู้และค้ำจนถูกฟ้อง และตรวจสอบว่ามีสัญญาฉบับไหนบ้าง มองเห็นชัดเจนเลยว่าเป็นลายเซ็นปลอม ก่อนตรวจสอบในเรื่องเวลาที่อ้างว่ามีการเซ็น และทั้งกว่า 200 ฉบับนั้นถูกปลอมทั้งหมด

ทนายความยังกล่าวอีกว่า ทางนางจารุวรรณจะมีการเอาผิดทั้งหมอบุญและทุกคนที่เกี่ยวข้อง  ส่วนเรื่องการประกันตัว ต้องอยู่ที่ทางพนักงานสอบสวนจะอนุญาตหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง