ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน อ้างต้องแยกขังเดี่ยวตากแอร์ในห้องวีไอพี เพราะถูกปองร้ายคาร์บอมบ์ งุบงิบชูใบรับรองแพทย์ แต่ไม่ให้ดูอ้างเป็นเอกสารลับ เผยผู้ป่วย 4 โรคจ่ายค่ารักษานับล้านเอง อาจจ่ายเกินด้วย ถ้าใครไม่พอใจไม่รู้จะว่าไง ฟุ้งอยากให้มีคนเข้าเยี่ยมเยอะๆ เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ขัดระเบียบราชทัณฑ์
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นประธาน กมธ. มีวาระสำคัญคือพิจารณาเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เข้าพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว
มีการเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจง โดยส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ และมีการลงรับในวันที่ 16 พ.ย. แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการแจงตอบรับเข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่ในส่วนที่ตอบรับมาคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ กลุ่มงานพักการลงโทษ ชี้แจงแทน
โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม กมธ.ซีกรัฐบาล อย่าง สส.พรรคเพื่อไทย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายสุธรรม แสงประทุม สส.บัญชีรายชื่อ และนายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ หารือว่าอยากให้มีการประชุมลับ เพื่อถกเถียงว่า กมธ.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ หลังกรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือท้วงติงว่า "กรรมาธิการ" ไม่มีอำนาจ ทำให้ กมธ.หลายคนกังวลว่าจะขัดจริยธรรม เพราะคำว่าจริยธรรมสุ่มเสี่ยงอาจจะถูกฟ้องเรื่องจริยธรรมได้ จึงอยากให้พิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ หากเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ควรจะมีการหารือกันเป็นการภายใน และหาก รมว.ยุติธรรมมารอ ก็คงต้องรอไปก่อน
ขณะที่ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. โต้ว่า พิจารณาได้ภายใต้ กมธ. และอยากให้การทำงานของ กมธ.มีความโปร่งใส จึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบข้อมูล จึงควรที่จะเดินหน้าพิจารณาต่อ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังคงโต้เถียงกันไปมา ทำให้นายรังสิมันต์ชี้แจงยืนยันว่า กมธ.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการประชุมสัปดาห์ถัดไป ทุกวันศุกร์ก็จะต้องทำหนังสือรายงานต่อประธานสภาฯ ว่า กมธ.จะประชุมเรื่องอะไร และเชิญใครบ้าง หากเรื่องใดที่ซ้ำซ้อนกับกรรมาธิการอื่น ประธานก็จะท้วงติง แต่ในเรื่องนี้ประธานไม่ได้มีการท้วงติงอะไร ดังนั้นตนจึงมองว่าให้ประชุมโดยเปิดเผยไปก่อนจนจบวาระนี้ ส่วนหลังจากนั้นก็ยินดีที่จะให้เป็นการประชุมลับ
แต่ กมธ.ฟากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติไม่ยินยอม พร้อมยกเรื่องของการแถลงข่าวตอบโต้ระหว่าง กมธ.กับกรมราชทัณฑ์ขึ้นมา ในที่สุดนายรังสิมันได้ตัดบทว่า เมื่อทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายประยุทธ์ ก็ขอให้มีการประชุมลับเป็นการภายในกรรมาธิการก่อน แล้วจะกลับเข้ามาประชุมตามวาระเรื่องของนายทักษิณในเวลา 11.00 น. ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องออกมารอภายนอก รวมถึง พ.ต.อ.ทวี ที่มารออยู่แล้วต้องไปพักรออีกห้องหนึ่ง
ต่อมาภายหลังการประชุมลับ คณะกรรมาธิการฯ กลับเข้ามาประชุมในวาระกรณีนายทักษิณเข้าพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว โดย พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า นายทักษิณได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนที่ตนจะเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อตนตรวจสอบเรื่องนี้ ในการเข้ากรมราชทัณฑ์ หากไม่มีหมายอาญาหรือหมายศาล จะไม่สามารถเข้าได้ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา โดยมีการด้อยค่าศักดิ์ศรีของกรมราชทัณฑ์ และไม่ให้มีโอกาสได้ชี้แจง รวมถึงมีการเลือกถ้อยคำบางประโยคบางประเด็นด้วย ตนยืนยันว่า ทำตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
โรงพยาบาลคือที่คุมขัง
พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงการแบ่งเกรดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า เราใช้ศักยภาพการรักษา ไม่ใช่ใช้ความตายของผู้ป่วยในการรักษา หากเห็นว่าโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจ หรือโรคกระดูก โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอ ก็จะต้องส่งตัวไปต่อ ซึ่งการอยู่ในโรงพยาบาลนั้น ถือว่าเป็นที่คุมขัง เพราะหากมีการหนีออกจากโรงพยาบาลหรือที่คุมขังก็จะมีโทษเช่นเดียวกัน
รมว.ยุติธรรมมองว่า การรักษาพยาบาลต้องทำโดยเร็ว พร้อมชูเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบ แต่ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจำกัดไว้อยู่ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอมให้เอกสาร ก่อนจะบอกนายรังสิมันต์ให้ระวังเอกสารลับ เรื่องของการรักษาตัว เนื่องจากมีสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพอยู่ และถามย้ำกับช่างภาพว่า ถ่ายภาพติดหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องสิทธิ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ สอบถามถึงการส่งตัวว่าได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ 2 คน ในการควบคุมตัวไปด้วยหรือไม่, ภายหลังการตรวจสอบสิทธิ์การรักษา ได้มีการจับผู้ร่วมขังรวมกับผู้ต้องขังอื่นในชั้น 14 หรือไม่ อย่างไร และเจ้าพนักงานเรือนจำได้มีการจดบันทึกผู้เข้าเยี่ยมและเวลาเข้าเยี่ยมหรือไม่
พ.ต.อ.ทวียืนยันว่า ตามเอกสารที่ได้รับมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่หลายคนผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรเพื่อควบคุมตัวไป โดยใช้ห้องควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนการเข้าเยี่ยมนั้น มีรายชื่อ และรายการการเข้าเยี่ยมทั้งหมด
ส่วนการปฏิบัติเหมือนกรณีทั่วไปหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่แค่กรณีของนายทักษิณคนเดียว แต่โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ ผู้ป่วยจะแยกห้องเฉพาะ ไม่ได้รวมกับคนอื่น
นายชุติพงศ์กล่าวถามว่า สามารถขอเอกสารหลักฐานการจัดเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ และการบันทึกผู้เข้าเยี่ยมนั้น สามารถเปิดเผยข้อมูลด้วยได้หรือไม่ เพราะหากมีเพียงญาติเข้าเยี่ยม สังคมจะได้สิ้นสงสัย และผู้ที่อ้างว่าได้เข้าพบเพื่อไปคุยเรื่องอื่นนั้น เราจะได้ทราบว่าเป็นการอ้างโดยลอย
พ.ต.อ.ทวีระบุว่า เอกสารในส่วนนี้ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ยืนยันว่าตนได้ดูเอกสารทั้งหมด ซึ่งการปฏิบัตินั้นเป็นเช่นเดียวกันกับกรมราชทัณฑ์ เท่าที่รู้คือมีคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินได้เข้าไปดูว่าป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งมีรายงานข้อยุติออกมาแล้ว ย้ำว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ
ห้องควบคุมพิเศษ
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร สอบถามถึงกฎกระทรวง ปี 63 ซึ่งระบุคำว่า ห้องพักพิเศษ และ ห้องควบคุมพิเศษ มีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และหอควบคุมผู้ป่วยพิเศษระดับสูงนั้น มีฐานะแบบใด หากเป็นห้องควบคุมพิเศษ เป็นห้องควบคุมพิเศษอะไร
พ.ต.อ.ทวีชี้แจงเรื่องการใช้ดุลพินิจว่า กฎกระทรวงระบุชัดเจนว่า สถานที่รักษา ยืนยันว่าคนที่เข้าเรือนจำต้องควบคุม และห้องที่นายทักษิณอยู่นั้นคือห้องควบคุมพิเศษและที่รักษาด้วย สำหรับป้ายที่ติดอยู่หน้าห้องนั้น ตนไม่ทราบ แต่เป็นที่รักษาคนทั่วไป ส่วนการควบคุมนั้น เนื่องจากนายทักษิณยังต้องราชทัณฑ์อยู่ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือไม่ให้เขาหลบหนี และไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย ส่วนคนที่เข้าเยี่ยมนั้น จริงๆ แล้วตนเคยตำหนิไปว่าทำไมให้เข้าเยี่ยมน้อย เนื่องจากเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กรมราชทัณฑ์ก็ได้กำหนดระเบียบไว้ ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมทั้งหมดที่มีคนอ้างว่าเข้าไป ก็ขอให้ไปตรวจสอบ เพราะกรมราชทัณฑ์ เรายืนยันว่าข้าราชการรักษาศักดิ์ศรี ที่จะไม่ทำอะไรให้ตัวเขาโดนเรื่องพวกนี้
นายรังสิมันต์จึงถามย้ำว่า พ.ต.อ.ทวีไม่เคยเข้าไปดูว่าเป็นไปตามที่กฎหมายหรือกฎระเบียบระบุไว้ใช่หรือไม่
พ.ต.อ.ทวีพยักหน้ารับพร้อมกล่าวว่า เชื่อรายงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ยืนยันว่าการยุติเรื่องนี้ เพราะกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะผิดหรือถูกคณะกรรมาธิการฯ ก็ต้องไปไล่บี้เอากับผู้ตรวจการแผ่นดิน
"ระเบียบกรมราชทัณฑ์ เรื่องการติดต่อญาติ จะให้ผู้ต้องราชทัณฑ์เขียนรายชื่ออย่างน้อย 10 ชื่อ หากมากเกินไปจะไปตัดสิทธิ์ในการเยี่ยมของคนอื่น ส่วนการที่จะให้ตนขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนั้น ตนไม่มีปัญหา ขนาดการมาในวันนี้ มีคนห้ามไม่ให้มาเพราะอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนก็ยังมา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ความจริงปรากฏ"
สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น เมื่อตนได้คุยกับนายแพทย์ใหญ่ ระบุว่าได้ส่งเอกสารให้กับ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งมีการระบุข้อมูลทั้งหมด เหลือเพียงเวชระเบียน เพราะเป็นสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ และก็เป็นสิทธิ์ของผู้ป่วยหากจะออกเอง
'ทักษิณ' จ่ายเอง
"การรักษาพยาบาลท่านทักษิณ ไม่ขอใช้สิทธิ์ แต่ขอจ่ายเงินเอง ถ้าใครไม่พอใจผมก็ไม่รู้แล้ว และราคาห้องอาจจะมากกว่าที่คำนวณด้วย เนื่องจากยังมีค่าหมอค่ายาอีก และการที่ท่านทักษิณอยู่ในห้องโรงพยาบาลตำรวจ ก็เหมือนอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ออกไปไหน ส่วนการที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็เพราะศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เพียงพอ" รมว.ยุติธรรมชี้แจง
นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากครั้งที่แล้วกรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่าพยาบาล 2 ท่านเป็นผู้วินิจฉัยในการส่งตัวนายทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ พ.ต.อ.ทวีเพิ่งบอกว่ามีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย
พ.ต.อ.ทวีจึงชี้แจงอีกว่า แพทย์มาตรวจเวลา 11.00 น. ถึงรู้ว่านายทักษิณเป็นโรคเยอะ ดังนั้น ในช่วงกลางคืนพยาบาลจึงส่งตัวตามคำแนะนำของแพทย์ในตอนเช้า และตามกฎหมายก็เขียนให้พยาบาลเป็นผู้ส่งตัว ไม่ได้ให้แพทย์เป็นผู้ส่งตัว ไม่มีอะไรที่จะผิดกฎหมาย
นายรังสิมันต์ถามต่อว่า เข้าใจว่า พ.ต.อ.ทวีไม่ใช่แพทย์ แต่ผลที่ออกมาเหมือนจะเป็นไปตามนั้น เพราะดูนายทักษิณสุขภาพดี ช่วยเหลือตัวเองได้ จึงขอถามอีกว่าได้มีการตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบด้วยหรือไม่
พ.ต.อ.ทวีชี้แจงอีกว่า ได้ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบ และทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ตรวจสอบกรณีนี้แล้ว ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และยุติเรื่องไปแล้ว ยืนยันว่าการพิจารณาการพักโทษของแต่ละคนจะพิจารณากันหนักมาก
ต่อมานายรังสิมันต์แถลงข่าวว่า ของอาการป่วยได้เห็นใบแสดงความเห็นของแพทย์ ก็มีอาการป่วยของนายทักษิณหลายอย่าง และท่านรัฐมนตรียืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่อยากให้เปิดเผยในรายละเอียด แต่เอาเป็นว่าการป่วยมีเยอะมาก หลากหลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะขัดกับความรู้ที่เราเห็นนายทักษิณลงจากสนามบิน แต่ไม่เป็นไร อันนี้ต้องไปดูในเวชระเบียน ว่าสุดท้ายแล้วเวชระเบียนจะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรีรับปาก และเราฟังตรงกันว่ารัฐมนตรีไม่ปฏิเสธเลยว่าจะไม่ส่งเอกสารให้กับเรา ดังนั้นเอกสารที่เราขอไปกว่า 10 รายการที่มีเวชระเบียนด้วย เราก็หวังว่าเราจะได้จากทางท่านรัฐมนตรี ซึ่งเราต้องจัดให้อยู่ในความเหมาะสม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"