ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง ปม "ร่วมมือ ก.ก.แก้ รธน.-พักชั้น 14-เจรจาตั้งรัฐบาล" ส่วน "MOU 44" มีมติเสียงข้างมาก 7-2 ไม่รับคำร้อง "นายกฯ อิ๊งค์" ดีใจยิ้มรับข่าวดี ลั่นรัฐบาลเดินหน้าทำงานเต็มที่ "พท." ดี๊ด๊าเช็กบิลคืนนักร้อง "ชูศักดิ์" แย้มฝ่าย กม.กำลังหารือฟ้องกลับ "สรวงศ์" เปรียบพวกนี้เหมือนกรวดในรองเท้า "พร้อมพงศ์" หยันพรรคตรงข้ามรัฐบาลคิดดีๆ ก่อนมาเขย่า "พิธา" บอกตีตกถูกต้องแล้ว อย่างหล่อบอกไม่ควรมีพรรคไหนถูกองค์กรใดยุบง่ายๆ "เค สามถุยส์" ยื่นร้อง "ธนพร" ละเมิดอำนาจศาล
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวอ้าง นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใน 6 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 นายทักษิณสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่นายทักษิณ ให้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยทางวิกฤต
ประเด็นที่ 2 นายทักษิณสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา, ประเด็นที่ 3 นายทักษิณสั่งการให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเด็นที่ 4 นายทักษิณสั่งการแทนพรรคเพื่อไทย โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ, ประเด็นที่ 5 นายทักษิณสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และประเด็นที่ 6 นายทักษิณสั่งการให้พรรคเพื่อไทยนำนโยบายของตัวเองที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาล รธน.เพื่อขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณเลิกกระทำการดังกล่าว และให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้นายทักษิณใช้เป็นเครื่องมือกระทำการดังกล่าว
โดยเมื่อวันอังคารที่ 22 ต.ค.2567 ศาล รธน.มีมติให้มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาล รธน.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งอัยการสูงสุดได้รับหนังสือเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.2567 ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พ.ย.2567 และวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.2567 สำนักงานศาล รธน.ได้รับหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส 0033.3/18980 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2567 และหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส 0033.3/19100 ลงวันที่ 11 พ.ย.2567 ส่งเอกสารตามหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ
ศาล รธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-พท."
ศาล รธน.พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้ว และอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ อันทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาล รธน.ได้ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอ ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6
สำหรับประเด็นที่ 2 ศาล รธน.มีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 7 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาล รธน.จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 09.30 น. ด้วยรถเบนซ์ส่วนตัวทะเบียน 4 ขท 2566 กรุงเทพมหานคร และได้พา ด.ญ.ธิธาร สุขสวัสดิ์ บุตรสาว และ ด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ บุตรชาย มาทำเนียบฯ ด้วย เพราะวันเดียวกันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา อายุครบ 68 ปี
น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจที่สื่อทราบวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิงพจมาน พร้อมระบุว่า ช่วงเช้าไม่ได้ไปทำบุญกับคุณแม่ เพราะติดเรื่องเวลาทำงาน เลยแบ่งหน้าที่ให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาวพาคุณแม่ไปทำบุญ เดี๋ยวเย็นนี้กลับไปทานข้าวด้วยกัน
นายกฯ อิ๊งค์ดีใจยิ้มรับข่าวดี
จากนั้นเวลา 12.10 น. น.ส.แพทองธารปฏิบัติภารกิจ มี น.ส.สุชาตา ช่วงศรี รองมิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบ โดยเมื่อเสร็จสิ้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามกรณีศาล รธน.ยกคำร้องที่นายธีรยุทธร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยกระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครอง โดย น.ส.แพทองธารได้หันไปสอบถามข้อมูลกับทีมงาน ซึ่งทีมงานได้ยื่นคำวินิจฉัยให้นายกฯ อ่าน โดยนายกฯ ใช้เวลาอ่านข้อมูล 2-3 นาทีด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า "ดีค่ะ เพราะก่อนหน้านี้มันไม่ได้เป็นข่าวดีตลอดเวลา ข่าวที่ได้รับวันนี้ถือว่าเป็นข่าวดี รู้สึกดีใจ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าทำงานตามนโยบายต่อไปใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ก็ต้องทำงานต่อไปข้างหน้าอยู่แล้ว เพราะเราต้องแบ่ง เรื่องของประเทศชาติต้องรับผิดชอบ เรื่องของนายทักษิณก็ต้องให้กำลังใจ
ถามว่า คำสั่งศาลออกมาเช่นนี้จะลดแรงกระเพื่อมทางการเมืองหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การเมืองต้องเดินหน้าต่อไป รัฐบาลก็ต้องทำงานต่อไป และกรณีของนายทักษิณ สิ่งที่ท่านทำก็ไม่ใช่สิ่งถูกฟ้องร้อง ทำให้คิดว่าทุกคนที่ให้กำลังใจนายทักษิณอยู่จะรู้สึกโอเคขึ้น รู้สึกนิ่งขึ้น
ซักว่าเรื่องนี้จะสะท้อนเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อให้ต่างชาติมั่นใจมากขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สิ่งนี้คือสิ่งจำเป็น แต่เข้าใจเรื่องประเด็นการเมือง คนจะมาวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ทุกอย่าง เราเป็นบุคคลสาธารณะอยู่แล้ว แต่เราต้องพยายามทำให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาทำงานให้จบ 4 ปี เพื่อนโยบายจะได้เสร็จสมบูรณ์ และต่างชาติจะได้ไม่ต้องไปคิดว่าการที่รัฐบาลไทยจะอยู่ครบ 4 ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
"อยากให้คิดว่าเมื่อเลือกตั้งแล้ว เลือกคนนี้มา พรรคนี้ตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว มีอายุทำงาน 4 ปี ในระบบควรเป็นอย่างนั้น ให้ทั่วโลกเข้าใจตรงกันแบบนี้ เพราะการเข้ามาลงทุนเขาต้องคิดแล้วว่า 2 ปีข้างหน้าชัวร์ และอีก 2 ปีเป็น 4 ปีข้างหน้าชัวร์ แล้วเขาจะได้คิดว่าจะลงทุนอะไร เหมือนเราจะลงทุนที่ไหน จะเช่าร้านปีต่อปี เราจะต่อสัญญาหรือไม่ เราต้องรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า ดังนั้นความมั่นคงของรัฐบาลเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก" นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯ มีภูมิคุ้มกันทางการเมืองมากกว่านายกฯ คนอื่นๆ ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ภูมิคุ้มกันนั้นทุกคนก็คงมี แต่ภูมิคุ้มกันแบบนี้ต้องใช้พลังใจเยอะหน่อย คือเราพยายามมีสติ ยึดหลักธรรมะ เวลาดีใจต้องดีใจอย่างมีสติ เวลาเสียใจก็เสียใจอย่างมีสติ ที่เห็นตอนนี้ก็พยายามมีสติ ตนกำลังย่อยข้อมูลว่าเป็นอย่างไร
ถามถึงกรณีนายทักษิณไปพูดที่งาน Forbes ระบุเคยอยู่มาทั้งสวรรค์และนรกแล้ว นายกฯ กล่าวว่า คำนี้พูดประจำ นายทักษิณบอกว่าอายุ 70 กว่าแล้ว ชีวิตนี้เห็นมาหมดแล้วทั้งนรกทั้งสวรรค์ โดยนายทักษิณมักพูดว่าทุกวันนี้เขามีความสุข เพราะได้กลับบ้านได้เจอลูกเจอหลาน ถ้าไม่สบายพวกเราก็ดูแลได้ เพราะตอนที่อยู่เมืองนอกยังไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไหร่
"ท่านก็พยายามที่จะไม่ป่วย พยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพราะเวลาไม่สบาย อย่างตอนที่เป็นโควิดมีอาการหนักมาก และช่วงนั้นตนท้องลูกคนแรกอยู่ด้วยก็ไม่ได้เจอ ช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงเวลาที่แย่" น.ส.แพทองธารกล่าว
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงเรื่องศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องทักษิณและพรรค พท.ล้มล้างการปกครอง จะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียวกันนี้ไปนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาหรือไม่ ว่าผูกพันหรือไม่ขึ้นอยู่กับประเด็น ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยวันนี้ไม่รับ ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ตามรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หากจะถามว่าผูกพันถึง กกต.หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นเหล่านั้น เป็นประเด็นที่ตรงกันและกำลังพิจารณาอยู่หรือไม่
ถามว่า ผลออกมาเป็นแบบนี้จะเป็นผลดีกับพรรค พท.หรือไม่ในชั้น กกต. นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราก็คิดว่าได้รับความยุติธรรม เพราะตนก็เคยบอกแล้วว่าอ่านดูแล้วไม่รู้กี่รอบก็เห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะล้มล้างการปกครองอะไรเลย ดังนั้นที่รู้สึกในวันนี้ก็คือเราได้รับความเป็นธรรม ไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง และหากไปดูตามลายลักษณ์อักษรทั้งหมดมันก็ไม่เข้าจริงๆ
พท.ดี๊ด๊าเล็งเอาคืนนักร้อง
เมื่อถามว่า ผลออกมาเช่นนี้จะมีการฟ้องร้องบรรดานักร้องต่างๆ ที่ออกมาร้องเรื่องนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรค พท.กำลังประชุมอยู่ ส่วนแนวโน้มว่าจะฟ้องหรือไม่ให้ไปคาดเดากันเอง
นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า แม้คดีนี้จบไปแล้ว แต่ก็ยังกังวลตลอด เปรียบเทียบคำว่ากังวลตลอดเหมือนกับกรวดในรองเท้า ทำให้รู้สึกเหมือนไม่สมูท แต่หากถามว่ากังวลเรื่องจะโดนร้องเรียนหรือไม่ พรรค พท.มองว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาก็โดนมาตลอด แต่ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็อยู่บนพื้นฐานความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งนายกฯ และพรรค พท.ก็พร้อมที่จะสู้ทุกกรณี
ถามว่า จะสามารถขจัดกรวดในรองเท้าออกไปได้หรือไม่ นายสรวงศ์ยอมรับว่า ไม่ได้หรอกครับ เพราะทางการเมือง ต่างคนต่างความคิด การเมืองมีการเลือกข้าง (Take Side) แต่ก็ขอความกรุณาให้มองถึงภาพรวมของประเทศ และขณะนี้รัฐบาลก็เหลือเวลาทำงานไม่ถึง 3 ปี ก็วัดด้วยผลงาน
ส่วนนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ตั้งคำถามถึงการไปร้องของนายธีรยุทธว่าทำเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการร้องเรื่องดังกล่าว นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาพูดทำนองว่าเร็วๆ นี้จะเกิดนิติสงคราม รวมทั้งตนเห็นว่าเรื่องนี้สมควรดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่าง และคิดว่าผู้ถูกร้องไม่ว่าจะเป็นท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือพรรค พท.คงจะไม่ปล่อยไว้ คงต้องทำอะไรกับบุคคลเหล่านี้บ้างแล้ว ต้องให้เป็นคดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้เหล่าบรรดานักร้องได้พึงสำนึกในสิ่งที่ทำหรือคิดจะทำกันบ้าง
“อยากฝากเตือนไปถึงบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่คิดจะเอาประเด็นทางการเมืองมาเขย่ารัฐบาล อยากให้คิดก่อนทำ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า จะทำอะไรก็อยากให้คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองกันบ้าง" นายพร้อมพงศ์กล่าว
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องนายทักษิณและพรรค พท.ล้มล้างการปกครองว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ไม่ควรจะมีพรรคไหนถูกองค์กรใดยุบพรรคง่ายๆ หากเป็นการกระทำอื่น ที่ไม่ใช่การรัฐประหาร การแบ่งแยกดินแดน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐ ก็ไม่ควรมีโทษประหารทางการเมือง การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองเกิดขึ้น
ควรที่จะเสมอภาคกันทุกพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็แล้วแต่
"มีความหวังเหมือนที่พูดไว้เหมือนเดิมว่า พรรค ก.ก.จะเป็นพรรคสุดท้ายที่ถูกยุบด้วยองค์กรอิสระ หากจะให้พรรคการเมืองตาย ก็ต้องตายด้วยน้ำมือของประชาชนที่ไม่เลือกแล้ว" นายพิธากล่าว
วันเดียวกัน นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้องนายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ละเมิดอำนาจศาล รธน. กรณีให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า “ศาลต้องรับ ถ้าไม่รับจะเป็นเรื่องนายใหญ่ ใหญ่กว่าศาล”
นายนิยมกล่าวว่า บางช่วงในรายการ นายธนพรได้กล่าวว่า "ศาลต้องรับ ถ้าไม่รับ จะเป็นเรื่องนายใหญ่ ใหญ่กว่าศาล" และคำพูดที่ว่า "ถ้าศาลไม่รับภาพจะมองว่านายใหญ่จะใหญ่กว่าศาล และภาพจะมองอีกว่าศาลกลัวนายใหญ่" ซึ่งตนมองว่าเป็นการกล่าวหาทั้งศาลและนายทักษิณ
ส่วนนายทันกวินท์กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมศาล รธน. ไม่ใช่แค่การเมือง ซึ่งนายธนพรอ้างความเป็นนักวิชาการ แต่เวลาให้สัมภาษณ์ไม่มีความเป็นนักวิชาการเลย เพราะสิ่งที่พูดมาไม่มีข้อเท็จจริง ซึ่งนายธนพรต้องออกมาชี้แจงว่า "นายใหญ่" หมายถึงใคร และมีหลักฐานหรือไม่ โดยตนจะไม่จบแค่คดีละเมิดอำนาจศาล แต่จะเอาผิดจนถึงคดีอาญา และหากไม่มีหลักฐานจริงๆ จะดำเนินการยื่นถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการต่อไป
"ทุกวันนี้มักใช้คำว่านักวิชาการนำหน้าเพื่อวิจารณ์การเมือง แต่หากมีอาจารย์ลักษณะแบบนี้นำตำแหน่งทางวิชาการ แล้วอาศัยคำว่าเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อบั่นทอนความมั่นคงมากล่าวร้ายศาลต้องมีการดำเนินคดี" นายทันกวินท์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
‘แม้ว-หนู’จูบปากตีกอล์ฟ ‘แก้วสรร’ให้ลุ้นกลางปี68
ชื่นมื่น! “ทักษิณ” ควง "อนุทิน” ตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาล