ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน

“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ  รมต.ประจำสำนักฯ ยังดันทุรัง เตรียมชง กมธ.สามัญทุกคณะตีความ อ้างแม้ไม่มีการเขียนชัดๆ  แต่ใครก็รู้ว่าประชามติต้องใช้เงิน

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ โดย น.ส.แพทองธารหันมาย้อนถามว่า แล้วคิดว่าอย่างไร สื่อมวลชนจึงบอกว่า อยากให้เสร็จ นายกฯ จึงกล่าวว่า ก็ให้กำลังใจกันหน่อย

เมื่อถามว่า จะให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เร่งไปดูเพราะกฎหมายประชามติเข้าข่ายกฎหมายการเงินหรือไม่   นายกฯ กล่าวว่า นายชูศักดิ์ช่วยดูทุกเรื่อง ทุกกฎหมาย เพราะไม่ได้จบกฎหมายมา นายชูศักดิ์ต้องช่วยเยอะหน่อย

ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวถึงการตีความร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ว่าการพิจารณาว่าเป็นกฎหมายการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 วรรคท้าย จะลดเวลาการพักกฎหมายจาก 180 วันเป็น 10 วัน ทั้งนี้ จากที่เช็กดูประธานรัฐสภาเคยวินิจฉัยก่อนการพิจารณากฎหมายแล้วว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน แต่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าหากมีการสงสัยว่าเป็นเรื่องกฎหมายการเงินหรือไม่  ให้ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งต้องมีผู้ยื่นเรื่องเข้าไป จะเป็นใครก็สุดแล้วแต่

 “ผมจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) หากเรื่องนี้เข้าเงื่อนไขเป็นกฎหมายการเงิน ก็ไม่ต้องรอถึง 180 วัน ถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย ยืนยันว่าแม้กฎหมายจะไม่มีถ้อยคำเกี่ยวกับการเงิน แต่ใครก็รู้ว่าการทำประชามติต้องใช้เงิน” นายชูศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า สามารถวินิจฉัยได้เลย ไม่ต้องรอให้กฎหมายถูกพักก่อนใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ทําได้เลย ไม่จําเป็นต้องตีความ เป็นอำนาจของประธาน กมธ.วินิจฉัย สุดแต่ว่าจะมีความเห็นกันอย่างไร แต่ต้องประชุมกันก่อน ถามต่อว่าจะให้ประธาน กมธ.ของพรรค พท.เป็นคนเสนอเข้าที่ประชุมหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า  เดี๋ยวต้องพูดคุยกัน

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่ พล.ท.ศานิต สร้างสมวงษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (11) ซึ่งเป็นการเลือกผู้สมัคร สว.ระดับอำเภอที่กำหนดวิธีการเลือกไขว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27, 34, 50 และมาตรา 107 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่าการยื่นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการยื่นคำร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณาคำร้องของศาลจังหวัดวิเชียรบุรี ที่ส่งคำโต้แย้งของนายหนูเต็ม แสงวัน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.120/2567 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 50 (25) ซึ่งเป็นกรณีของผู้ที่เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุการปฏิบัติหน้าที่ และยังไม่พ้น 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยที่ 5/2566 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' มอบคำขวัญวันเด็ก ปี 68 'ทุกโอกาสคือการเรียนรู้'

'นายกฯอิ๊งค์' มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 68 ‘ทุกโอกาสคือการเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง‘ ยันรัฐบาลเห็นคุณค่าเด็กทุกคน มีสิทธิ์ทำให้ประเทศนี้น่าอยู่