"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้ พิจารณารับ-ไม่รับคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง เตรียมนำหนังสือ-ความเห็น อสส.กางบนโต๊ะประชุม "จตุพร" มั่นใจงานนี้มีหนาว จี้ "อสส." รีบแจงความเห็นไม่รับดำเนินการคดี "ชูศักดิ์" แก้เกมยื้อแก้ประชามติ งัด รธน.มาตรา 137 อ้าง กม.ประชามติเข้าข่าย กม.การเงิน ไม่ต้องรอ 180 วัน จ่อถกวิปรัฐบาล เชื่อฝ่ายค้านเอาด้วย "อนุทิน" ย้ำ ภท.โหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้น
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานจากสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมตุลาการศาล รธน.ประจำสัปดาห์ ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. หลังจากที่ตุลาการศาล รธน.ไม่ได้ประชุมกันมา 2 ครั้ง คือเมื่อวันพุธที่ 13 พ.ย. และวันพุธที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะตุลาการศาล รธน.บางคนติดภารกิจต่างๆ จึงเลื่อนจากที่ต้องประชุมทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ มาเป็นวันศุกร์นี้ 22 พ.ย. โดยตอนนี้ตุลาการศาล รธน.บางคนที่เดินทางไปราชการที่ต่างประเทศ เช่นประเทศฟิลิปปินส์ ก็จะทยอยกลับมาบ้างแล้ว
“สำหรับวาระคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ถูกร้องที่ 2 คงต้องรอติดตามว่าจะมีการพิจารณาลงมติกันเลยหรือไม่ ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย แต่ตอนนี้อัยการสูงสุดได้ส่งหนังสือและข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญครบหมดแล้ว ก็ทำให้คาดว่าน่าจะมีการหารือกันวันศุกร์นี้” รายงานข่าวจากสำนักงานศาล รธน.ระบุ
อนึ่ง คำร้องของนายธีรยุทธดังกล่าวที่ร้องต่อศาล รธน. มีด้วยกันทั้งสิ้น 6 ประเด็น ดังนี้ กรณีที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
มั่นใจศาล รธน.รับร้องคดีทักษิณ
กรณีที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อศาล รธน.พิจารณารับคำร้อง 6 ประเด็นของนายธีรยุทธไว้วินิจฉัยในวันที่ 22 พ.ย.นี้ จะเป็นสถานการณ์ก่อความหนาวสั่นฉับพลันให้กับผู้ถูกร้องคือนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย
นายจตุพรกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงเป็นทางการ ก่อนศาล รธน.จะวินิจฉัยในวันที่ 22 พ.ย.นี้ กรณีสื่อรายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวถึง 2 ครั้งติดต่อกัน โดยครั้งแรกระบุให้ยุติคำร้อง และครั้งที่สองมีความเห็นคำร้องไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ดังนั้น อสส.ไม่ควรเงียบ ต้องชี้แจงให้กระจ่าง
นอกจากนี้ อสส.ควรเน้นด้วยว่าการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น ปฏิบัติไปตามศาล รธน. ให้รายงานความเห็นการพิจารณาครั้งแรกที่อยู่ภายในอำนาจ 15 วัน ซึ่ง อสส.ไม่ดำเนินการ ดังนั้นการรายงานสอบสวนคำร้องภายหลังในเวลา 15 วัน จึงเป็นเพียงความเห็นของ อสส.ที่ส่งไปถึงศาล รธน.เท่านั้น ซึ่งรายงานความเห็นของ อสส.ยังขาดความสมบูรณ์ เพราะผู้ร้องกับผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยผู้ร้องนายธีรยุทธและผู้ถูกร้องในส่วนพรรคเพื่อไทยมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ทักษิณ ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญตามข้อกล่าวหา 6 ประเด็นไม่มาให้ข้อมูล ดังนั้น การอธิบายความจากสื่อที่อ้างแหล่งข่าว อสส. จึงทำให้เกิดความคลุมเครือและเป็นความเห็นลอยๆ
วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติวุฒิสภาว่า คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะยืนตามความเห็นเดิม แปลว่าไม่เห็นด้วยกับมติ กมธ.ร่วม ให้ใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร อันนี้ก็แปลทางรัฐธรรมนูญคือ กฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้ ต้องรอ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่
ถามว่า หากต้องรอ 180 วัน ท้ายที่สุดจะสามารถทำรัฐธรรมนูญใหม่ทันหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งไม่ทันแน่นอน ขณะนี้รัฐบาลเหลือเวลาอยู่ 2 ปีเศษๆ คงไม่ทัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่า หากมีการย่นย่อ การทำประชามติเหลือ 2 ครั้งก็อาจจะทัน ทั้งนี้ เรื่องการทำประชามติ 2 ครั้ง ความเห็นของสภาและพรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ลงตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของฝ่ายสภาที่เห็นว่าจะต้องมีการทำประชามติครั้งแรกโดยที่ยังไม่มีร่าง ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง ตนและทีมงานจึงขอพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายสภา พูดง่ายๆ ว่าถ้าทำ 2 ครั้งได้ก็อาจจะทัน
"หากใครได้ดูรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดจะพบว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งผมมองว่ากฎหมายประชามติก็เป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ ตรงนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิดกัน ซึ่งพวกเราจะนำเรื่องนี้มาคิดด้วย และนำเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่าไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน" นายชูศักดิ์กล่าว
พท.งัด ม.137 แก้ยื้อประชามติ
ซักว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าไปวิปรัฐบาล ซึ่งจะหารือโดยเร็ว โดยตนจะคุยกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ว่ามีประเด็นข้อกฎหมายตรงนี้ด้วย ใครที่เป็นนักกฎหมายลองไปเปิดรัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้ายดู ก็อาจจะทำประชามติทันก็ได้ แต่เท่าที่คิดกันมาในอดีต ว่าหากไม่ทันจริงๆ ความคิดของพวกเรามองว่าก็ต้องดันไป อย่างน้อยที่สุดขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะได้มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ถือว่าเราทำหน้าที่เพื่อที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะตรงนี้คือนโยบายของรัฐบาล
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะหารือกับฝ่ายค้านด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความตั้งใจที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นอะไรที่เป็นไปได้ ตนเชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ ได้ทำงานร่วมกันมา ตนก็ได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีความตั้งใจเช่นกัน ซึ่งได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลว่า จะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด
พอถามว่าประเด็นที่ออกมาเกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความเห็นต่างหรือไม่ นายชูศักดิ์หัวเราะก่อนตอบว่า ไม่เอา ไม่อยากทะเลาะกับใคร
อย่างไรก็ดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ระบุ พ.ร.บ.ประชามติอาจเข้าเกณฑ์กฎหมายการเงินที่ต้องพักไว้ 10 วัน และจะขอหารือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นนี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ในส่วนของพรรค ภท. ได้แสดงจุดยืนว่าควรจะเป็นการทำประชามติ 2 ชั้น หรือ Double majority ซึ่งจุดยืนตรงนี้เราก็เห็นความจำเป็นอยู่ เพราะพอมีประเด็นเรื่องเกาะกูดและการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการแก้ไขกฎหมายให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการลงมติไปแล้วจะได้ไม่มีใครพูดว่าผิดพลาดในภายหลัง หรือว่าเราทำไม่รอบคอบ
"นี่เป็นเจตนารมณ์ของพรรค ภท.อะไรที่จะทำประชามติต้องเป็นการทำประชามติจริงๆ และต้องมีส่วนร่วมจริงๆ เพื่อตัดสินใจ เรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศของเขา ไม่ใช่ประชามติของคนแค่มาออกเสียง" นายอนุทินกล่าว
ถามว่า หากนำผล กมธ.ร่วมประชามติมาโหวตในสภาล่าง ก็จะยืนยันกรณีเสียงข้างมาก 2 ชั้นใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ เราแสดงเจตนารมณ์ของเราแล้ว ใครเห็นด้วยกับเราก็โหวตตาม ใครไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เหมือนกัน ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเคารพ ขอยืนยันตรงนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันได้ ใช้หลักการประชาธิปไตยในการตัดสินใจ
ซักว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีขั้นตอน ถ้าแก้ได้ก็แก้ ถ้าแก้ไม่ทันก็ต้องรอสภาชุดหน้า
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาล รธน.เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ถ้าเราได้ความชัดเจนในวันนี้ เราก็มีกำหนดเข้าพบอีก 2 ฝ่าย คือวันที่ 27 พ.ย.นี้จะเข้าพบประธานรัฐสภา เพื่อชี้แจงว่าการทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว จะทำให้ประธานสภาฯ มีความสบายใจมากขึ้น และก็ทบทวนการออกแบบก่อนหน้านี้ และบรรจุร่างแก้ไขเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ที่อดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเคยยื่นไว้ก่อนหน้านี้ และเราจะเข้าพบนายกฯ แต่ยังไม่มีกำหนดวันเข้าพบ โดยการเข้าพบครั้งนี้ก็เพื่อที่จะหารือกับทางซีกกับรัฐบาลเพื่อให้มีความเห็นตรงกัน และทำให้โอกาสในแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภามากขึ้น
ถามว่า ถ้าศาลยืนยันการทำประชามติ 2 ครั้งแน่นอน การดำเนินการจะสามารถทันรัฐสภาได้มากน้อยแค่ไหน นายพริษฐ์กล่าวว่า เป็นไปได้มากถ้าเราได้รับความชัดเจนว่าสิ่งที่พรรคประชาชนตีความว่าทำ 2 ครั้ง เพราะเชื่อว่าถ้าเราได้รับความชัดเจน ประการแรก จะทำให้ประธานสภาฯ ทบทวนจากเดิมที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. อาจจะทบทวนให้มาบรรจุร่าง จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณา เมื่อผ่านก็จะมีการทำประชามติรอบแรกว่าจะมี ส.ส.ร.หรือไม่ และถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. และมีการยกร่างฉบับใหม่ ดังนั้นคิดว่าถ้าเราได้รับความชัดเจนในวันนี้ ก็จะมีความหวังมากขึ้นว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ทำการเลือกตั้งครั้งหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน