พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ

"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค. "จิรายุ" ติวเข้มโฆษกกระทรวงลุย จี้ทุกหน่วยป้อนข่าวดีส่ง รบ.แถลงทุกสัปดาห์ "ชูศักดิ์" ฟุ้งรู้แต่แรกคำร้อง "ธีรยุทธ" ไปไม่ได้ หลัง อสส.ชี้ "ทักษิณ-เพื่อไทย" ไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง ขอรอฟังดุลยพินิจศาล รธน.อีกครั้ง แย้มหากยกคำร้องคนใน พท.อยากให้ฟ้องกลับหยุดขบวนการนี้ ดาหน้าปัดตอบข่าว "ยิ่งลักษณ์" กลับไทยสงกรานต์ "ผบ.ทร."  พร้อมส่ง "จนท.อุทกศาสตร์-พระธรรมนูญ" ร่วมวงเจทีซีเจรจากัมพูชา เตรียมเปิดเสวนาปมร้อน MOU  44 สร้างความเข้าใจสังคม 3 ธ.ค.นี้ "สส." แพ้โหวต กมธ.ร่วม พ.ร.บ.ประชามติ "สว." 13 เสียงผนึกหนุนหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่งกลับวงประชุมใหญ่พิจารณาต่อ ส่อแตกหักยื้ออีก 180 วัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 100 วันว่า น่าจะอยู่ช่วงประมาณเดือน ธ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้วางกำหนดการแถลงผลงานของรัฐบาลรอบ 100 วัน ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยอยู่ระหว่างการวางรูปแบบการแถลง ซึ่งอาจแตกต่างจากรัฐบาลเดิม

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายคารม พลพรกลาง,  น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์, นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   ประชุมคณะกรรมการโฆษกกระทรวง ครั้งที่  1/2567 ร่วมกับโฆษกกระทรวง ผู้แทนโฆษกกระทรวง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรับฟังแนวทางการประชาสัมพันธ์ของแต่ละกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายจิรายุกล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยเฉพาะการเสนอข่าวผลการทำงานของแต่ละกระทรวงที่เป็นข่าวดีประเทศไทย นอกจากกระทรวงทำการประชาสัมพันธ์กันเองโดยตรงแล้ว ขอให้ส่งมายังคณะโฆษกรัฐบาล เพื่อนำมาขยายเป็นภาพใหญ่อันเป็นผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้วย

 “ใน 1 สัปดาห์ทุกกระทรวงจะต้องส่งข่าวดีของกระทรวงอย่างน้อย 1 เรื่องมายังคณะโฆษกรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำมาประชาสัมพันธ์ในภาพใหญ่ต่อไป พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปรวบรวมผลการดำเนินงานประจำปี และนโยบายที่จะสนับสนุนให้ประชาชนกินดีอยู่ดีหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ส่งมายังทำเนียบรัฐบาลภายในวันที่ 4 ธ.ค. เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการแถลงผลการงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน" นายจิรายุกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขอให้เครือข่ายโฆษกกระทรวงทำงานเชิงรุกอย่างบูรณาการ และอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน โดยนายกฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกกระทรวงทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรค พท. ยุติการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ว่า เป็นดุลยพินิจของศาลว่าจะเห็นอย่างไร แต่เราสู้ไปว่ามันไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง

คึกชนะคดีล้มล้างจ่อฟ้องกลับ

"คนไปคุยกัน ไปดูรายละเอียดกัน ไปทำนู่นทำนี่ แสดงความเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันจะเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้อย่างไร พวกเราทราบดีว่าการล้มล้างการปกครองต้องเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  แต่นี่มันตรงกันข้าม เช่นคุยกันว่าจะตั้งรัฐบาล มันจะไปล้มล้างการปกครองตรงไหน ผมคิดว่าไม่เข้าเกณฑ์ เราก็สู้ไปว่าไม่เข้าเกณฑ์ และทราบจากข่าวว่าทางอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้หรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาล ผมไม่ก้าวล่วง" นายชูศักดิ์กล่าว

 ถามว่า การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแบบนี้ ทำให้พรรค พท.ใจชื้นหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ รู้อยู่แล้วว่าข้อกฎหมายมันไปไม่ได้ เรารู้ตั้งแต่ต้นแล้วหลังจากเห็นคำร้องว่ามันไปไม่ได้

ซักว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจะมีการฟ้องกลับนายธีรยุทธหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า   อันนั้นต้องว่ากันอีกทีว่าศาลไม่รับคำร้องเพราะอะไร เมื่อถามย้ำว่ามีโอกาสฟ้องกลับหรือไม่ เพื่อเป็นการห้ามปราบการฟ้องร้องอะไรที่ไม่มีมูลอีก  นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากมีอะไรที่เรียกว่านิติสงคราม ฟ้องกันไปฟ้องกันมา ใจจริงอยากให้ประเทศเดินหน้า ไม่อยากเอาเรื่องที่ไม่มีสาระอะไร แต่หลายคนในพรรคก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะหยุดขบวนการนี้อย่างไร ซึ่งก็ว่ากันไป

เมื่อถามถึงเรื่องร้องเรียนการถือสองสัญชาติ  ไทยและมอนเตเนโกรของนายทักษิณ รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ที่รู้แน่ๆ นายทักษิณมีสัญชาติไทยแน่นอน โดยหลักสืบสายโลหิตบิดามารดา โดยหลักดินแดน เพราะฉะนั้นเป็นคนไทย มีสัญชาติไทยแน่นอน

"จะมีสัญชาติอื่นอย่างไรผมไม่ทราบรายละเอียด แต่ว่าไม่ได้มีข้อห้ามอะไร ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ไม่มีข้อห้ามเรื่องพวกนี้ แต่ขณะนี้ก็ชัดเจนที่สุดว่าท่านเป็นคนไทย เป็นคนที่ถือสัญชาติไทย เกิดในประเทศไทย บิดามารดาเป็นคนไทย แล้วจะเอาสัญชาติอะไรอีกล่ะ และตามข้อกฎหมายคิดว่าไม่มีปัญหา ก็ลองไปเปิดดูกฎหมายไทยมีข้อห้ามอะไรหรือไม่ คำตอบอยู่ในกลุ่มร้อยกว่าประเทศที่ไม่มีข้อห้ามอะไรเลย" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว

ถามถึงกรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ปีหน้า มีความชัดเจนตรงนี้หรือไม่  นายชูศักดิ์กล่าวว่า เรียนตามตรง ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เป็นกระบวนการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะท่านคงไม่มาระบุบอกเราหรือบอกใคร แต่รับรู้ รับทราบ ส่วนจะจริงหรือไม่นั้น ไม่รู้รายละเอียดเลย พูดไปก็เป็นการเดามากกว่า เลยไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร 

 พอถามถึงแนวโน้มร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเสร็จก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับมาหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เมื่อไหร่ จริงๆ เปิดสมัยประชุมมากฎหมายนี้ก็อยู่ในวาระที่จะถึง แต่ความเห็นของตนคิดว่ากฎหมายเหล่านี้คงไม่ได้เสร็จง่ายๆ

"เท่าที่เห็นและเท่าที่ศึกษาก็เถียงกันมากมายก่ายกอง กว่าจะลงเอยอย่างนู้นอย่างนี้ กฎหมายเหล่านี้คงไม่เสร็จง่ายๆ ฉะนั้นตอบไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะก่อนหรือหลัง ที่สำคัญผมไม่ทราบรายละเอียดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาอย่างไร เพราะไม่ได้คุยอะไรกัน พูดกับสื่อตรงไปตรงมาว่าไม่รู้จริงๆ" นายชูศักดิ์กล่าว

 ซักว่าหากกลับมาต้องมารับโทษตามปกติหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ก็นี่ไง ท้ายสุดก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะกระบวนการก็มีอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเราไม่รู้ว่าท่านคิดอย่างไร จะกลับอย่างไร เมื่อถามย้ำว่าถ้าดูในเชิงกฎหมายดูเหมือนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยากกว่าของนายทักษิณ  นายชูศักดิ์ยืนยันว่า ตอบไม่ได้ว่าท้ายสุดจะทำอย่างไร จะมีกระบวนการอย่างไร ถ้าสื่อจะถามว่ามันยากหรือง่าย ตอบไม่ได้จริงๆ ต้องรู้เสียก่อนว่ากระบวนการทำอย่างไร  

ดาหน้าปัดยิ่งลักษณ์กลับไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ในฐานะแกนนำพรรค พท. ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณีนายทักษิณระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับไทยช่วงสงกรานต์ โดยระบุว่า ไม่ทราบ

ถามถึงกรณีมีการร้องนายทักษิณที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ถือสองสัญชาติ อาจจะผิดกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น นายสุริยะกล่าวว่า ทราบจากทีมกฎหมายว่าไม่มีประเด็นน่าเป็นห่วง

ส่วนนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยช่วงสงกรานต์ว่า ไม่มี นายกฯ ก็ไม่ได้ปรารภถึงเรื่องดังกล่าว เมื่อถามถึงการร้องเรียนนายทักษิณถือสองสัญชาติ นายมาริษปฏิเสธทันทีว่า ไม่ทราบ

รมว.การต่างประเทศกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย (เจทีซี) เพื่อเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิระหว่างไทยและกัมพูชาว่า ขณะนี้กำลังรอการพิจารณาที่อาจจะมีการเพิ่มในระดับบุคคล แต่ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย โดยจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่มีผู้เข้าชื่อกันเพื่อขอให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544 หรือ MOU 44 ซึ่งเป็นกรอบและกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชาว่า MOU 44 ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีระเบียบหรือกฎหมายภายในใดที่ระบุให้สามารถเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ยกเลิกได้ ดังนั้น หากผู้ใดต้องการให้ยกเลิก MOU 44 จะต้องสนับสนุนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายยกเลิก MOU 44 ให้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตามผลการเลือกตั้งทั่วไป และตามวิถีทางประชาธิปไตย

นายรัศม์กล่าวว่า การยกเลิก MOU 44 อาจทำได้ด้วยการบอกเลิกโดยรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ ก็ยังถือว่ามีผลอยู่ และคู่ภาคียังคงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้อง   หากไม่ปฏิบัติตามจะเป็นการละเมิด ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อประชาคมโลกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศที่บอกเลิกตามลำพังเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาใดๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตกับประเทศต่างๆ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ฯลฯ ที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย

"การยกเลิก MOU 44 ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่หายไปแต่อย่างใด และเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชาก็ยังคงอยู่ดังเดิม ที่นับวันจะยิ่งสุ่มเสี่ยงสร้างปัญหาในเรื่องอธิปไตยยิ่งขึ้นด้วยหากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลใต้ผืนน้ำมาใช้ได้ หากไม่มีการเจรจาตกลงกันก่อน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น การยกเลิก MOU 44 จึงย่อมนำซึ่งผลเสียมากกว่า" นายรัศม์กล่าว

ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เห็นพ้องตามหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ในการดำเนินการตาม MOU 44 ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทั้งในเรื่องอธิปไตย และการยกระดับสร้างความกินดีอยู่ดี เจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง ซึ่งแม้จะมีบางรัฐบาลมีแนวคิดให้ศึกษาการยกเลิก MOU ในหลักการ แต่เมื่อการศึกษาพบว่า MOU 44 มีข้อดีมากกว่า ต่อมาในคณะรัฐมนตรีชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติให้คง MOU 44 ไว้

"ท้ายที่สุดผลการเจรจาตาม MOU 44 จะต้องได้การยอมรับจากประชาชนผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของใครเพียงบางคน แต่เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ ผ่านทางตัวแทนตามระบอบประชาธิปไตย" ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

'ทร.' จัดเสวนาปม MOU 44

ที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือครบรอบ 118 ปี ถึงกรณีอดีต ผบ.ทร.ฝากเรื่อง MOU 44 อย่างไรว่า เคารพความคิดของทุกท่าน เพราะทุกคนล้วนมีความเป็นห่วงกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเกษียณไปนานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือก็อยากให้กองทัพเรือเดินหน้าไปได้ และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาในทุกด้าน ซึ่งกองทัพเรือมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ และปัจจุบันก็ดูแลเส้นเขตแดนทางทะเลที่ประเทศไทยประกาศ ซึ่งเราดูแลได้อย่างเรียบร้อยและไม่มีความขัดแย้งเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ร.อ.จิรพลกล่าวว่า เมื่อมีกระแสสังคมถึง MOU 44 กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานทางเทคนิคที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเลคือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เตรียมจัดงานเสวนาในเรื่องนี้ ในเรื่องเส้นเขตแดนในทะเลและข้อตกลง-ข้อขัดแย้งต่างๆ วันที่ 3 ธ.ค.นี้ เพื่อเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้ อีกทั้งแบ่งวงเสวนาให้ความรู้เรื่องการเจรจาข้อตกลงต่างๆ อีกด้วย เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่าการเจรจาตกลงมีรูปแบบใดบ้าง รวมถึงกระบวนการเข้าสู่ศาลโลกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางทะเล  เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ

ถามถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ระบุจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุม ที่มีกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือร่วมด้วยนั้น ผบ.ทร.กล่าวว่า ถ้านายภูมิธรรมร้องขอมาก็ยินดีสนับสนุน เพราะเรื่องเขตแดนทางทะเล กองทัพเรือก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้เช่นเดียว ตามที่จะมีการจัดเสวนาดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์จะมีความรู้ในเรื่องทางเทคนิค แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย ก็จะเป็นสำนักพระธรรมนูญ กองทัพเรือ อยู่ที่จะมีการเลือกเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคแบบใดเข้าไปร่วมเจทีซี

ซักว่าเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระของคณะกรรมการเจทีซีที่จะไม่ถูกครอบงำจากบุคคลใดหรือไม่ ผบ.ทร.กล่าวว่า อยู่ที่การอธิบายหรือความต้องการในกระบวนการทำงาน ในเรื่องทางกฎหมายและเทคนิค เพราะในบางส่วนอาจไม่เชี่ยวชาญเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็จะมีช่องให้เดิน ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาตราใดมาใช้ เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ กรณีที่มีการเจรจาเกิดขึ้นจะต้องใช้กฎข้อใด หรือต้องอ้างอนุสัญญาใด

ที่รัฐสภา เวลา 13.00 น. นายนิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวก่อนการประชุม กมธ.ว่า ขณะนี้เกิดความเห็นต่างกันเป็นอย่างมากกันระหว่าง กมธ.ฝั่ง สส.และ สว. ในขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ที่จะต้องมีการลงมติกัน ซึ่งตนเห็นปัญหา

"ผมยืนยันว่า 180 วันเป็นปัญหา เพราะแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลนี้ไม่มีทางทำได้ ถึงแม้กฎหมายนี้จะผ่านออกมาภายในปี 68 แต่ผมเชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่ให้เสียงเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพราะเหมือนกับแตกหักกันแล้ว ทำให้ต้องรอสภาสมัยหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อีกครั้ง ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน ดังนั้นแม้แต่ ส.ส.ร.ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทัน

ต่อมา นายกฤช เอื้อวงศ์ สว. พร้อมด้วยนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  แถลงผลการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อหาข้อยุติในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นแย้งกัน  โดยวุฒิสภาเสนอให้แก้ไขเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น นำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อหาข้อยุติดังกล่าว

นายกฤชระบุว่า วันนี้น่าจะเป็นการประชุมก่อนครั้งสุดท้าย โดยผลลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข 13 เสียง และ 9 เสียงลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ และงดออกเสียง 3 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 25 คน หลังจากนี้จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภาเพื่อพิจารณาความเห็น หากสภาใดไม่เห็นชอบสามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายและเสนอกลับเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่า สส.คงไม่เห็นด้วยการแก้ไขของ สว. โดยต้องพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน แล้วจึงจะเสนอเข้ามาใหม่ได้

"การประชุม กมธ.ครั้งต่อไป คือวันพุธที่ 4 ธ.ค. เพื่อรับรองรายงานการประชุม จากนั้นวันที่ 6 ธ.ค.จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่แต่ละสภา โดยหลังจากเปิดสมัยประชุมแล้ว คาดว่าวันที่ 16 ธ.ค.จะเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และวันที่ 18 ธ.ค.จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร" นายกฤชระบุ 

สำหรับกรรมาธิการที่งดออกเสียง 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ และกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยทั้ง 2 คนคือ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน