ทักษิณ-พท.โคม่า! ธีรยุทธเมินอสส.ตัดตอน เทียบคดีก.ก.ศาลรับร้อง

อสส.ไม่รับดำเนินคดี "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง ส่งความเห็นไปยังศาล รธน.แล้วพร้อมผลการสอบถ้อยคำคู่ความ นายกฯ อิ๊งค์ระบุเป็นไปตามกระบวนการ โยนสื่อถามพ่อหลังถูกร้องถือ 2  สัญชาติ ยัน “อาปู” ไม่เคยประสานรัฐบาลขอกลับไทย "ทวี" ทำขึงขังกลับไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ปัดทักษิณโมเดล "ทนายธีรยุทธ" ชี้ยิ่งตอกย้ำยื่นตรงศาลทำถูกต้อง เชื่อไม่มีผลลงมติ 9 ตุลาการฯ กางราชกิจจาฯ คดีพรรคก้าวไกล กำหนดบรรทัดฐานไว้แล้ว ฟันธง 22 พ.ย.รับคำร้องชัวร์

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า "นายทักษิณ ชินวัตร" (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถููกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

ซึ่งเดิมนั้นมีรายงานว่า ที่อัยการสูงสุดส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีข้อมูลในการสอบถ้อยคำ ทั้งทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง โดยในส่วนผู้ถูกร้องทราบว่าไม่ได้มีการสอบถ้อยคำนายทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมพบว่า ในวันดังกล่าว (8 พ.ย.) นอกจากอัยการสูงสุดจะส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องเเละผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้ว ยังมีความเห็นเเจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้

สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้    การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง เท่ากับว่าเเม้อัยการสูงสุดจะมีมติไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ เเต่ศาลรัฐธรรมนูญจะยังมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้

ตอกย้ำยื่นตรงศาลถูกต้อง

ทางด้าน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในคดีดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องนี้โดยชี้ไว้ 4 ประเด็นดังนี้ว่า เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมถึงเพิ่งมีข่าวออกมาในช่วงนี้ที่ใกล้วันที่จะมีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อลงมติว่าจะรับหรือไม่คำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัยในการประชุมนัดพิเศษวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. ทั้งที่สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า อสส.ได้ส่งเอกสารข้อมูลต่างๆ ในคดีดังกล่าวไปที่สำนักงานศาล รธน.หมดแล้ว แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า ได้ทำความเห็นในฐานะอัยการสูงสุดประกอบส่งถึงศาล รธน.หรือไม่       

ประเด็นที่สอง ส่วนความเห็นของ อสส.ที่เห็นว่า ผู้ถูกร้อง (นายทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย) ไม่ได้มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง จะมีผลต่อการพิจารณาของตุลาการศาล รธน.หรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องไปดูมาตรา 49 ของ รธน.ที่บัญญัติว่า หาก อสส.ไม่รับดำเนินการ หากมีผู้ไปยื่นคำร้องว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือครบกำหนด 15 วันไปแล้ว หลังยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการใดๆ ก็ให้สิทธิผู้ร้องไปร้องตรงต่อศาล รธน.ได้ ดังนั้นการที่ อสส.มีความเห็นไม่ดำเนินการใดกับผู้ถูกร้อง จึงเข้าองค์ประกอบของมาตรา 49 ในส่วนแรกที่ว่า หาก อสส.ไม่ดำเนินการก็ให้สิทธิ์กับผู้ร้องไปร้องตรงต่อศาล รธน.ได้

ประเด็นที่สาม แล้วคำร้องของผู้ร้องมีหลักฐานเพียงพอที่ศาล รธน.จะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากว่าในวันที่ 22 พ.ย. ตามข่าวที่ออกมา จะเป็นการประชุมตุลาการศาล รธน.แค่เพียงว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง เรื่องนี้ตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาล รธน. ภาษากฎหมายเรียกว่า ชั้นตรวจรับคำร้อง ซึ่งมีกรณีที่ศาล รธน.ตรวจแค่เพียงว่า ผู้ร้องเป็นประชาชน และมีสิทธิ์ร้องต่อศาล รธน.หรือไม่ และเนื้อหาในคำร้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือและมีพยานหลักฐาน มีพยานเอกสาร เพียงพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ในชั้นนี้ศาลจะตรวจเพียงเท่านี้

"ข้อสังเกตคือว่า เดิมเราได้ยินข่าวว่า คณะทำงานของอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า คำร้องของผมที่ยื่นต่ออัยการสูงสุดไม่มีมูลเพียงพอ จึงเห็นควรยุติ และเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุด แต่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นให้ย้อนสำนวนลงมาที่คณะทำงานอัยการให้เรียกผู้ร้องคือตัวผมกับผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำเสียก่อน อันหมายถึงว่าในความเห็นเบื้องต้นของอัยการสูงสุดก็คือ คำร้องของผมมีมูล ท่านจึงย้อนสำนวนกลับมายังคณะทำงาน ให้เรียกผู้ร้องกับผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำเพื่อสอบข้อเท็จจริง" นายธีรยุทธระบุ

ในประเด็นเดียวกันนี้ ที่มีการโจมตีว่าคำร้องของตนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่กำลังสูญเสียผลประโยชน์หรือว่ากำลังต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย จึงเป็นคำร้องที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทย จึงต้องไปดูว่าการที่ อสส.มีความเห็นย้อนสำนวนกลับไปที่คณะทำงาน เรียกผู้ร้องกับผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำเพื่อทำการสอบสวน ความเห็นของ อสส.ในจังหวะนี้ คำร้องของตนไม่มีเหตุอันเป็นการกลั่นแกล้งพรรคผู้ถูกร้อง (เพื่อไทย) และตัวผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 49 ในการไปร้องต่อศาล รธน. จึงเชื่อว่าศาล รธน.น่าจะเห็นว่าคำร้องคดีดังกล่าวมีมูล

 “หากศาล รธน.เห็นว่าคำร้องของผมไม่มีมูลเพียงพอ ท่านจะไม่มีมติให้สอบถามไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ชี้แจงว่าหลังจากผมไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนยื่นศาล ทางอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว การที่ศาล รธน.สอบถามไปยังอัยการสูงสุด เป็นการบ่งชัดมาในระดับต้นว่า ศาลได้ตรวจคำร้องเบื้องต้นมาในระดับหนึ่งแล้วว่ามีเหตุอันควรรับในความเข้าใจผม และเมื่อดูจากที่อัยการสูงสุดมีความเห็นย้อนสำนวนไปที่คณะทำงานอัยการ สองเรื่องนี้เมื่อมาพิจารณาประกอบกัน ยืนยันได้ชัดเจนว่าคำร้องที่ยื่นไปมีมูลเพียงพอที่จะรับไว้ตรวจสอบ” นายธีรยุทธระบุ

ประเด็นที่ 4 ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 3/2567 ในกรณีคำร้องขอให้ศาล รธน.ตรวจสอบการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล (คดีล้มล้างการปกครอง) ในคำวินิจฉัยดังกล่าวที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา หน้าที่ 22 ศาล รธน.มีคำวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า รธน.มาตรา 49 บัญญัติกำหนดหน้าที่และอำนาจ ให้ศาล รธน.ทำการตรวจสอบการกระทำของบุคคลที่ได้กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครอง โดย รธน.ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะที่ศาลไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ คำวินิจฉัยหน้าที่ 22 ดังกล่าวหมายถึงว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่ให้กับศาล รธน.ต้องทำการตรวจสอบการกระทำของบุคคลที่มีผู้ร้องว่า มีบุคคลได้กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครอง เมื่อ รธน.ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดหน้าที่ให้กับศาลแล้ว ศาล รธน.จึงมีหน้าที่ต้องรับคำร้องนั้นไว้เพื่อการตรวจสอบ รธน.ไม่ได้กำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่จะไม่รับคำร้องกรณีที่มีประชาชนไปร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำของบุคคลที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 “คำวินิจฉัยในจุดนี้จึงยืนยันชัดว่า มาตรา 49 กำหนดหน้าที่ให้ศาล รธน.ต้องทำการตรวจสอบ ไม่ได้กำหนดให้มีดุลยพินิจว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง แต่กำหนดหน้าที่ไว้เลย และคำวินิจฉัยดังกล่าวยังระบุอีกว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่และอำนาจ ที่ก็คือนอกจากกำหนดไว้เป็นหน้าที่แล้ว ยังให้อำนาจศาล รธน.ในการตรวจสอบอีกว่าให้ทำการใดบ้าง ศาลจึงบอกอีกว่า ไม่ได้มีการบัญญัติยกเว้นว่าการกระทำใดที่ศาลไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ ก็หมายถึงว่าศาล รธน.ถูกกำหนดให้ต้องทำหน้าที่และถูกกำหนดให้มีอำนาจ และถูกกำหนดว่าทุกการกระทำ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการกระทำใด ศาล รธน.ตรวจสอบได้ทั้งหมด ผมจึงเชื่อมั่นว่า ศาล รธน.จะมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย” นายธีรยุทธระบุ 

'อิ๊งค์' ปัดจุ้น อสส.คดีพ่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินคดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับพรรคเพื่อไทย ว่า ถ้าเรื่องแบบนี้ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายทั้งหมด ฉะนั้นเราไม่ได้เข้าไปตรงนี้แล้ว

เมื่อถามว่าจะเป็นสัญญาณบวกสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่มีอะไรก็ให้ผ่านไปทีละเรื่อง เพราะบางทีเราไม่อยากตีเรื่องนี้ไปกระทบเรื่องนั้น ก็อย่าให้มันเป็นแบบนั้นเลย

ส่วนกรณีขณะนี้มีผู้ไปร้องว่านายทักษิณถือ 2 สัญชาติ หลังจากนายทักษิณขึ้นเวทีหาเสียงอาจผิดกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น ตรงนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายกฯ นิ่งก่อนกล่าวว่า “นั่นสิ ท่านทักษิณกลับมาแล้วเชิญสื่อมวลชนถามที่ท่านทักษิณได้เลยนะคะ”

เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยช่วงสงกรานต์ปีหน้า ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลได้รับรายงานเรื่องนี้หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า “อย่างที่บอกท่านทักษิณกลับมาแล้วเชิญสัมภาษณ์ท่านทักษิณได้เลย” เมื่อถามอีกว่า หมายถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ประสานมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ เห็นบอกว่านายทักษิณเป็นคนให้สัมภาษณ์ใช่ไหม

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ประสานมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการประสานรัฐบาลมาเลย ถ้ามีคือโทร.หาหลานค่ะ พร้อมชี้นิ้วที่ตัวเอง

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเดินทางกลับไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะคนที่จะเข้าสู่กระบวนการของกรมราชทัณฑ์ต้องเริ่มต้นที่กระบวนการศาลก่อน คือมีหมายขังที่ออกโดยศาล เมื่อรับหมายแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตาม และตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีการยกระดับมากขึ้น หากเป็นผู้หญิงก็ต้องอยู่ในทัณฑสถานกลาง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมา จะเข้าสู่กระบวนการแบบเดียวกับนายทักษิณ จนไปถึงขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า สมัยที่นายทักษิณกลับมา ตนยังไม่ได้เป็น รมว.ยุติธรรม แต่สำหรับการกลับมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ 

เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นโมเดลเดียวกับนายทักษิณหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ไม่ได้เป็นโมเดลอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า วันที่ 22 พ.ย.นี้จะเป็นปฐมบทของคนรักชาติได้หยุดทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพื่อป้องกันภัยสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคนหลายรุ่นถัดไปในอนาคต เชื่อว่าศาล รธน.จะรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งจะทำให้อำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยนโดยฉับพลัน แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และ รมต.รวม 3 คนด้วยหรือไม่ เพราะจะทำให้การเมืองเกิดแรงเหวี่ยงขึ้นมากมาย โรคแทรกจะเกิดขึ้นทันที โดยจะมีการร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีทักษิณไม่ได้ติดคุกเลย ซึ่งไม่เป็นไปตามคำพิพากษาและไม่เป็นไปตามพระบรมราชโองการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เข้าทาง! ผู้ร้องคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง ฟันธงศาลรธน. รับคำร้องแน่นอน

จากกรณีที่มีข่าวว่านายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ได้ส่งหนังสือความเห็นถึงศาลรธน.ในคำร้องคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องว่า นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่หนึ่งและพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่สอง