นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท. ชี้ให้เป็นไปตามกระบวนการสรรหา "พิชัย" ระบุยังไม่ได้รับหนังสือรายงาน คกก.สรรหาฯ ตั้งใคร ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ "ธีระชัย" ส่ง จม.เปิดผนึกถึง "รมว.การคลัง" จี้ตรวจคุณสมบัติ "โต้ง" ถูกต้องตาม กม.และหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เหตุตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ขัดด้วยคุณสมบัติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีรายงานข่าวคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด ธปท.) ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจะผิดกฎหมาย เนื่องจากนายกิตติรัตน์พ้นจากการเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ยังไม่ครบปีว่า ก็ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ดีไหม
"ให้เป็นอย่างนั้นแล้วกัน เพราะยังไงกรรมการสรรหาก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการเลย" นายกฯ กล่าว
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ กรณีจะนำรายชื่อนายกิตติรัตน์เข้าที่ประชุม ครม. (19 พ.ย.) หลังคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ว่า "ผมยังไม่ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการสรรหาฯ"
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายพิชัย รมว.การคลัง เรื่องขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ตามที่มีข่าวระบุคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลือกนายกิตติรัตน์ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก
เนื้อหา จม.เปิดผนึกตอนหนึ่งระบุว่า ตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงขอให้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ เพื่อทำให้การทูลเกล้าฯ เป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด
"นายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ แต่งตั้งโดยนายเศรษฐา ตามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 234/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 และเพิ่งพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 พร้อมกับนายเศรษฐาฯ ถึงแม้ระยะเวลายังไม่ครบหนึ่งปี แต่ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่าคณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพราะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นข้าราชการการเมือง"
นายธีระชัยยังมีความเห็นถึงแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ จะไม่เป็นข้าราชการการเมือง แต่เข้าข่ายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำให้ขัดด้วยคุณสมบัติ ด้วยเหตุผล นายกฯ ออกคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งส่วนตัว แต่เป็นคำสั่งโดยอ้างอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และกำหนดให้นายกิตติรัตน์ในฐานะประธานฯ ให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกฯ มอบหมาย และยังเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจดังระบุไว้ในคำสั่งว่า ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกฯ ตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกฯ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ
นอกจากนี้ นายเศรษฐายังแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยอีกด้วย เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และเป็นธรรม
"การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น มิใช่นายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทั่วไปอย่างส่วนตัว แต่ในฐานะตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี"
จม.เปิดผนึกดังกล่าว นายธีระชัยยังยกคำวินัจฉัยคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ที่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี เรื่องเสร็จที่ 139/2547 ไว้ โดยอ้างถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) เรื่องเสร็จที่ 481/2535
ช่วงท้าย นายธีระชัยระบุว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกฯ เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกัน จึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐาน และขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
วันเดียวกัน นายกิตติรัตน์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong" ระบุว่า ส่วนหนึ่งของ พระบรมราชโองการ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2475" โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า การให้กู้ยืมโดยอัตราดอกเบี้ยสูงเกินควรนั้น ย่อมเป็นทางเสื่อมประโยชน์ของบ้านเมือง สมควรจะป้องกันราษฎรไม่ให้เสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้"
ด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์เข้า ครม.ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ตอนหนึ่งระบุว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ สมควรจะมีวาระการเสนอแต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ด ธปท.บรรจุอยู่ด้วย แต่หากยังไม่นำเข้าที่ประชุมในวันนี้ ก็อนุมานได้ว่ารัฐบาลยังไม่กล้า เพราะหากผิดกฎหมายจริง นายกฯ และ ครม.ทั้งคณะหากไม่มีใครแสดงการคัดค้านจะต้องรับผิดชอบ
"พรรคร่วมรัฐบาคงจะไม่เอาด้วย ซึ่งการที่พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เอาด้วยมีเพียงเหตุผลเดียวคือ กลัวผิดกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกลัวปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน เพราะการแทรกแซงจากการเมืองอย่างแน่นอน ขอฟันธงไว้เลยว่า การเสนอแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จะยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ และมีแนวโน้มสูงว่า จะไม่ได้รับการบรรจุอีกเลยตลอดกาล" รศ.หริรักษ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
'นายกฯอิ๊งค์' มอบคำขวัญวันเด็ก ปี 68 'ทุกโอกาสคือการเรียนรู้'
'นายกฯอิ๊งค์' มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 68 ‘ทุกโอกาสคือการเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง‘ ยันรัฐบาลเห็นคุณค่าเด็กทุกคน มีสิทธิ์ทำให้ประเทศนี้น่าอยู่