คปท.บุกทำเนียบฯ ยื่นนายกฯ-ครม.ค้านชื่อ “กิตติรัตน์” นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ เหตุพ้น ขรก.การเมืองไม่ถึง 1 ปี จ่อร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.ต่อ สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3% ตามการส่งออก-นำเข้า ด้านปี 68 ประเมินจีดีพีโต 2.3-3.3% อานิสงส์ใช้จ่ายภาครัฐ ลงทุนเอกชน ส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เพื่อคัดค้านการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติ ที่จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.
โดยนายพิชิตกล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลคือ นายกิตติรัตน์ยังพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ครบ 1 ปี เพราะนายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ตามคำสั่งนายกฯ ที่ 234/2566 การหลุดออกจากตำแหน่งอ้างอิงถึงระเบียบข้าราชการการเมือง ดังนั้นเมื่อมาด้วยคำสั่งนายกฯ และไปด้วยการเทียบเคียงคำสั่งของข้าราชการการเมือง ซึ่งกฤษฎีกาเคยตีความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อธิบายกว้างกว่าข้าราชการการเมือง หาก ครม.รับรองอาจทำให้มีข้อขัดแย้งทางกฎหมาย จึงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ และหลังจากนี้อาจจะไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ขณะที่นายสมคิดกล่าวว่า การแสดงความไม่เห็นด้วยถือเป็นเรื่องปกติ เราจะส่งเรื่องนี้ไปยังนายกฯ ครม.และคณะกรรมการคัดเลือกบอร์ดแบงก์ชาติเพื่อให้ตรวจสอบ โดยจะส่งเรื่องนี้ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) วันนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟังอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนมายื่น
วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ขยายตัวได้ 3% ขณะที่ 9 เดือนขยายตัวได้ 2.3% โดยเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ด้านการส่งออกขยายตัวได้ 8.9% ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออก ส่วนการนำเข้าขยายตัวได้ 11.3% ตามการขยายตัวของการนำเข้าในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวของภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ด้านการลงทุนรวมในไตรมาส 3/67 ขยายตัวได้ 5.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนยังติดลบที่ 2.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ถึง 25.9% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.4% และการอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 6.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 0.6%
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% และการนำเข้าขยายตัวได้ 4.4% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ส่วนในปี 68 คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% โดยประเมินว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 2.6% ตามแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการค้าโลก และการนำเข้าที่ 3.3% สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนและการส่งออกสินค้า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 68 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.3-1.3% โดยมีค่ากลางประมาณการที่ 0.8%
ด้านสมมติฐานค่าเงินบาทในปี 68 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 35.4 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทในปีหน้ายังมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายยอกประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยเสี่ยงทางบวกที่ทำให้ราคาน้ำมันบวกเพิ่มขึ้น คือผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การลดลงอย่างต่อเนื่องของปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เป็นต้น
ด้านการท่องเที่ยวปี 68 คาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ 1.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านล้านบาทในปี 67 ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาทั้งสิ้น 38 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาด 36 ล้านคน รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย
โดยเศรษฐกิจไทยในปี 68 จะมีปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาคชำระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ รวมถึงแนวโน้มความผันผวนในภาคเกษตรทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร
นายดนุชากล่าวว่า ส่วนประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 68 ประกอบด้วย 5 เรื่องดังนี้ 1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น 2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในภาคการผลิตภาคเกษตร 5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง
นายดนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 คาดว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10,000 บาทตามกระแสข่าวนั้นยังต้องติดตาม โดยเฉพาะจำนวนของผู้สูงอายุว่ามีจำนวนเท่าไหร่ สามารถใช้จ่ายในสินค้าประเภทใดได้บ้าง และจะเพิ่มเศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าไหร่ เป็นต้น ขณะที่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ขอให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
จี้ 'พิชัย' พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ความผิดสำเร็จ เสนอชื่อ 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัติเป็นปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ระบุว่า ไม่รอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ เพราะนั่งที่ปรึกษาของนายกฯ