"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์วิสัยทัศน์ปิดฉากเอเปก 2024 ชู 3 แนวคิด "สร้างโอกาส-สร้างความร่วมมือ-ปฏิญญากรุงเทพฯ" เชื่อมั่นเอเปกนำสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ตีปี๊บหารือแลกเปลี่ยนผู้นำเวทีนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว ใบเบิกทางให้นานาชาติเห็นตัวตนไทย รับตื่นเต้นมาในฐานะผู้นำ หลังเคยมากับทักษิณ 20 ปีก่อน
ที่โรงแรมสวิสโซเทล ลิมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เวลา 08.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ย.ของประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมในการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่า สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ในส่วนของประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกปี 2565 ด้วยเช่นกัน ภายใต้แนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular-Green ecocomy (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ยังใช้แนวคิดเดิม โดยมีหัวข้อหลักๆ อาทิ การเสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน เพื่อให้สมาชิกเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วย สำหรับการประชุมนั้น น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก ได้คุยกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจและนักธุรกิจในด้านต่างๆ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหลายบริษัทได้สอบถามว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดไหน จึงตอบไปว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังรับเรื่องการลงทุน เพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี AI , Semiconductor และ Data center จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจด้วยกัน 3 บริษัท ประกอบด้วย Tiktok, Microsoft และ Google จึงเสมือนเป็นการต่อยอดให้มาลงทุนเพิ่มเติมกับประเทศไทย จะทำให้คนไทยเกิดอาชีพใหม่ๆ และเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ
ส่วนการพบหารือทวิภาคีกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรูนั้น ดีมากๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย-เปรู เนื่องจากเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใคได้ไม่นาน จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก สำหรับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์นั้น เปรูนำขนอัลปากามาทำเป็นเสื้อ ขณะที่ไทยมีผ้าไหม จึงต้องหาทางว่าจะทำร่วมกันอย่างไรดี เพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมา ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณากันต่อ
สำหรับการหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกฯ กล่าวว่า ได้กล่าวชื่นชมประเทศจีนเรื่องลดความยากจนในประเทศว่าทำได้สำเร็จดีมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้โมเดลของจีนต่อไป รวมทั้งขอให้ภาคเอกชนของจีนเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
"ตลอดทั้งสามวันจึงถือว่าได้ประสบการณ์เป็นอย่างมาก เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำในแต่ละเขตเศรษฐกิจ เราก็ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกด้วยว่า พร้อมแล้วสำหรับการลงทุน และความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของเราและเพื่อนสมาชิก จึงมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันแบบนี้จะทำให้เราสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น โดยในการเจรจาครั้งต่อไปเขาก็จะได้รู้ว่าเรามีตัวตนและมีศักยภาพ" นายกฯ ระบุ
น.ส.แพทองธารเปิดเผยด้วยว่า ครั้งนี้ถือเป็นการมาเอเปกครั้งที่ 2 ครั้งแรกเดินทางมากับบิดา (นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ในฐานะผู้ติดตามของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 และปีนี้ 2567 ครบ 20 ปีพอดี กลับมาในฐานะผู้นำ ซึ่งมาครั้งนี้ตื่นเต้นและแตกต่างจากตอนมากับนายทักษิณ เนื่องจากต้องเข้าใจรายละเอียดการประชุมและหัวข้อการประชุม ต้องพูดคุยให้ครบทุกประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เจอกับผู้นำมากมายขนาดนี้ ทั้งนี้ รู้สึกเสียดายที่สมัยมาประชุมเอเปกเมื่อปี 2547 กับนายทักษิณได้มีโอกาสจับมือกับผู้นำหลายคน แต่ไม่มีรูปถ่ายเลย เนื่องจากสมัยนั้นโทรศัพท์มือถือไม่เป็นแบบนี้ แต่ยังดีที่นักข่าวถ่ายภาพไว้ตอนที่ลงเครื่องกับนายทักษิณ
จากนั้นเวลา 09.00 น. ที่ห้อง Lima ชั้น 1 Lima Convention Center วันที่ 3 ของการประชุม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat) โดยมีนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรู เป็นประธาน
นายกฯ กล่าวว่า เอเปกเป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิกเอเปกด้วยกัน และมั่นใจว่าด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และมีปัจจัยใหม่ๆ ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
น.ส.แพทองธารกล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือและก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิกเอเปก ดังนี้ 1.เราจะสร้างโอกาสสำหรับทุกคน โดยสมาชิกเอเปกจะทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกต้องบริหารจัดการกับเศรษฐกิจในระบบที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าใจถึงความท้าทายของการบริหารการทำงานนอกระบบ เนื่องจากในประเทศไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงานนอกระบบ
โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานในระบบให้เติบโตในทุกมิติ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านระบบการเงินดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางของไทยให้มีโอกาสทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังพิจารณานำ “Negative Income Tax” หรือภาษีเงินได้ติดลบ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจะจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด
“สำหรับความร่วมมือของสมาชิกเอเปก ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม “Digital Nomad” หรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ เอเปกควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปก APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย” นายกฯ ระบุ
2.ประเทศไทยมีแนวคิดส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนัั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึง MSMEs และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย เชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆ และพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า “สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน” ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
และ 3.เอเปกต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ หรือ “BCG” ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ทั้งนี้ ขอให้เอเปกเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าเครดิตคาร์บอนร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าเอเปกสามารถเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันได้
“แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในเอเปก แต่เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้เอเปกใกล้บรรลุผลในการทำงานร่วมกันและใกล้ชิดประชาชนทุกประเทศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเปรู ในความสำเร็จในการจัดการประชุม และประเทศไทยจะเฝ้ารอความคืบหน้าต่างๆ ในการประชุมอีกครั้งในโอกาสที่ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพประชุมในครั้งต่อไป” น.ส.แพทองธารระบุ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (2) ถ้อยแถลงอิชมา ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และ (3) แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปก หลังจากนั้นเปรูในฐานะเจ้าภาพได้มอบผ้าพันคออัลปากาเป็นที่ระลึกให้กับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
หลังจากนั้น น.ส.แพทองธารพร้อมคณะเดินทางออกจากสาธารณรัฐเปรู ในเวลา 18.00 น. เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง โดยจะถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ วันที่ 18 พ.ย. เวลา 11.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จ่อคุมตัว‘เจ๊พัช’ ฝากขังผัดแรก! กรรโชก-สินบน
กองปราบฯ สอบเครียด “เจ๊พัช” กว่า 5 ชม. เจ้าตัวให้การปฏิเสธ
ลุ้นถก‘ก.ตร.’ตั้ง‘นายพล’ ชิงเก้าอี้‘ผบช.น.’ฝุ่นตลบ
จับตา! “นายกฯ อิ๊งค์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. 20 พ.ย. ประเดิมตั้ง “นายพลสีกากี”
โพลฉีกหน้ารบ.ยับ ไม่วางใจคุย‘เขมร’
งามหน้า! นิด้าโพลเผยชัดคนส่วนใหญ่ที่รู้เรื่อง MOU 2544
‘คลัง’ชงแพ็กเกจใหญ่!กระตุ้นศก.
“คลัง” ฟุ้งเตรียมขนแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ
‘พิธา’อ้อนให้รอ9ปี พร้อมเป็นนายกฯดีกว่าเดิม/‘พท.’มั่นใจ‘ทักษิณ’ยังขายได้
"แกนนำพรรคส้ม" เดินสายหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ต่อเนื่อง "ชัยธวัช" ลั่นนโยบายที่ท้องถิ่นในอดีตไม่พร้อมทำ "ปชน." พร้อมทำให้ดู
'สีกากี' ฝุ่นตลบ นายกฯนัดจัดทัพโผ 'บิ๊กตร.' พุธนี้
นายกฯนัดจัดทัพโผบิ๊กตร.พุธนี้ คาดสีกากีฝุ่นตลบ จับตาเก้าอี้ทองคำ-ตำแหน่งหลัก รอถือตั๋ว”จันทร์ส่องหล้า” สามผบช.”นครบาล-ตม.-สอท.”แคนดิเดตชิงเดือด