‘ทอน’ดีดปาก‘แม้ว’ ซัดพูดคลุมเครือไม่มีปม112ตั้งรบ./พิธารับคำท้าพ่อนายกฯ

“ธนาธร” ซัด “ทักษิณ” พูดคลุมเครือ บอกปมตั้งรัฐบาลไม่ได้ไม่เกี่ยวกับ 112 เลย “ทั่นเต้น” รีบแก้ต่างแทนนายใหญ่ บอก พท.อาบน้ำร้อนมาก่อน “ประเสริฐ” รีบแก้ต่างบอกตั้ง รบ. “พ่อนายกฯ-พ่อฟ้า” ไม่เกี่ยว “พิธา” รับคำท้าพี่โทนี่ ลั่นหมดเวลาพูดทำเลยยกเลิกกฎหมายเฮงซวย

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ย.2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ที่พรรค พท.ไม่สามารถจับมือกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขเรื่องมาตรา 112 ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีวิวาทะกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าใช่หรือไม่  ว่าไม่เคยทราบว่าทั้งคู่มีวิวาทะกัน และสองท่านนี้ไม่เคยมายุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลห้วงเวลานั้นในฐานะเลขาธิการพรรค พท.และหัวหน้าพรรคก็ได้ไปเจรจากับหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรค ก.ก.ในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่นายธนาธร แต่ยอมรับว่ามีเรื่องมาตรา 112 อยู่ด้วย

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการปราศรัยของนายทักษิณในเรื่องดังกล่าวว่า สื่อถามว่าในแต่ละเหตุการณ์มีบริบทเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ระหว่างการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง มาจนถึงพรรคการเมืองถูกยุบ เพราะมีนโยบายแก้ 112 คุณทักษิณจึงตอบว่าเคยคุยกับคุณธนาธร โดยเล่าชะตากรรมของตัวเองให้ความเห็นเรื่องโครงสร้าง และยังอธิบายด้วยว่า ไม่ได้บอกว่าคุณธนาธรหรือพรรคไม่จงรักภักดี ไม่มีการพาดพิงเรื่อง 112 กับพรรค ก.ก.ในการตั้งรัฐบาลเลย หากคุณทักษิณพูดเรื่องที่คุยกันคลุมเครือหลายครั้ง คุณธนาธรก็มีสิทธิ์จะเล่าโดยละเอียดครบถ้วนว่าตอนบินไปเจอได้คุยอะไรกัน

นายณัฐวุฒิระบุว่า การทำงานความคิดกับผู้คนในสังคมย่อมมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ หากต้องเป็นไปตามแนวทางของพรรคใดพรรคหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็ยากที่จะเรียกว่าวิถีทางประชาธิปไตย สิ่งที่พรรคประชาชนพบไม่มีอะไรที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยเจอ ในระหว่างที่สังคมยังไม่สุกงอมพร้อมพอที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องโครงสร้าง สิ่งที่เพื่อไทยพยายามทำคือขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าทีละก้าว เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม เราได้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ครม.เพิ่งเห็นชอบการเร่งรัดหลักเกณฑ์การให้สัญชาติชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในประเทศไทยมายาวนาน แม้อาจเป็นก้าวไม่ใหญ่นัก แต่ก็เป็นก้าวสำคัญและเป็นฐานยืนสำหรับก้าวต่อๆ ไป

 “ผมเข้าใจและเห็นใจชะตากรรมของพรรคประชาชน เอาใจช่วยอย่าให้พบความโหดร้ายแบบที่ผมเคยผ่าน ไม่ประสงค์สร้างพื้นที่วิวาทะ เพียงแต่เป็นผู้ช่วยหาเสียงไปกับคุณทักษิณ 2 คน อยู่ในเหตุการณ์จึงเล่าสู่กันฟัง” นายณัฐวุฒิระบุ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) กล่าวถึงกรณีวิวาทะระหว่างนายทักษิณและนายธนาธรร่วมรัฐบาลกันไม่ได้เกี่ยวโยงกับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ ว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ภายหลังเลือกตั้ง ที่พรรค ก.ก.ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นไม่มีพรรค ภท. จึงไม่ทราบว่าเงื่อนไขอะไรที่เขาตกลงกัน ย้ำว่าไม่ทราบจริงๆ

ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 ไม่เคยอยู่ในเงื่อนไขตั้งแต่แรก ไม่มีอยู่ในเอ็มโอยูร่วมรัฐบาลที่เซ็นร่วมกัน และเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ นายทักษิณรู้ดีที่สุดว่าเหตุผลที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ร่วมรัฐบาลกันไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เลย สิ่งที่นายทักษิณกล่าวอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าตนเองเคยคุยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หรือมีความคิดรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้

 “ในความเป็นจริงเราไม่ได้พูดคุยตกลงอะไรกันเรื่องนี้เลย การพูดคลุมเครือแบบที่นายทักษิณกล่าวในวันนี้ยังเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งต่อพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่า เหตุที่ดีลร่วมรัฐบาลล่มเป็นเพราะพรรคก้าวไกลไม่ยอมลดราวาศอกเรื่อง 112 ไม่ใช่แกนนำก้าวไกลมุทะลุ ไม่มีวุฒิภาวะ แต่มีเหตุผลอื่นที่จะไม่ร่วมกัน แล้วใช้ 112 เป็นข้ออ้างต่างหาก ในทางกลับกันคุณทักษิณเองน่าจะเป็นคนที่เข้าใจปัญหาโครงสร้างดีที่สุด แทนที่จะร่วมแก้ปัญหากลับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

นายธนาธรยืนยันด้วยว่า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ไม่เคยโฆษณาหรือใช้เรื่อง 112 เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์เพื่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง เพราะทราบดีว่าการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่สั่งสมมาหลายสิบปีของประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ลัดขั้นตอนได้ แต่ต้องทำงานด้วยความคิดอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมเห็นชอบร่วมกัน และแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่แก้ปัญหาโครงสร้างก็ปะผุประเทศไทยกันต่อไป ประเทศจะเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน มีแต่การให้คนในสังคมมีวุฒิภาวะพอ กล้ายอมรับปัญหา เผชิญหน้ากับมัน และค่อยๆ พูดคุยหาทางออกร่วมกัน

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีนายทักษิณปราศรัยพาดพิงพรรคประชาชนว่า ก่อนคิดออกกฎหมายใหม่ขอให้แก้กฎหมายเก่าเฮงซวยก่อนว่า ข้อเท็จจริงน่าจะผิด เพราะตอนที่เป็นอดีตพรรค ก.ก. เราก็ทำเรื่องกิโยตีนกฎหมาย ตอนที่เราขึ้นเวทีดีเบตกัน ก็จำได้ว่าพรรคเพื่อไทยก็พูดเรื่องกิโยตีนกฎหมาย ซึ่งมีกว่า 7,000 ฉบับ ส่วนที่พรรค ปชน.เสนอกฎหมาย 83 ฉบับนั้น ก็เป็นการร่างกฎหมายใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่า

“รับคำท้าคุณทักษิณ เอาอย่างนี้ดีกว่า มีกฎหมายอะไรที่อยากจะยกเลิก ที่คิดว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัยแล้ว ยกเลิกได้เลย ก็ขอให้ทำด้วยกัน”

นายพิธายังกล่าวถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นายทักษิณปราศรัยว่า ในมุมมองของเรา ยังยึดว่าการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้ฟังนายทักษิณสัมภาษณ์หรือปราศรัยชัดๆ เต็มๆ แต่เข้าใจว่าที่พูดว่ามาตรา 112 เป็นสิ่งที่เขาเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน และคิดว่าปัญหาของ 112 คือคณะกรรมการ และกระบวนการใช้ ดังนั้น หากมีคณะกรรมการเข้ามากลั่นกรองว่าจะฟ้องหรือไม่ให้ฟ้องนั้น จะเป็นประโยชน์ เพราะกฎหมายอยู่ที่การปฏิบัติก็ตั้งเลย นี่ก็ผ่านมาปีกว่าแล้ว ถ้าเห็นแบบนั้นก็ตั้งก่อนก็ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็คิดว่าอย่างน้อยอาจไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของเรา 100% แต่อาจได้ 50% ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

 “ขอให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการฟ้องประชาชน จะได้ไม่มีการฟ้องแกล้งกัน ขณะเดียวกันหากทำแค่นี้แล้วยังมีปัญหาอยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขตามกรอบที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เพื่อจะทำให้การเมืองของเรา ไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีกัน”

นายพิธากล่าวอีกว่า กรณีที่นายธนาธรกังวลถึงการที่นายทักษิณพูดถึงโครงสร้างคนจะเข้าใจผิดอดีตพรรคก้าวไกลเรื่องรื้อโครงสร้างสถาบันนั้น ก็ยังเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่น่าจะแยกแยะออกได้ว่า อะไรดีหรืออะไรไม่ดี เพราะคำว่าการเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทหารให้ทันสมัยมากขึ้น ให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือทหาร หรือการทลายทุนผูกขาด ก็ไม่ได้เห็นต่างกับนายทักษิณแต่อย่างใด เพียงแต่หมดเวลาพูดแล้ว ถึงเวลาทำ บางเรื่องฝ่ายค้านริเริ่มได้รัฐบาลทำตาม บางเรื่องรัฐบาลก็ริเริ่ม ถ้าฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน ก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางโอกาส หรือการมีคณะกรรมการป้องกันการฟ้องการแกล้งด้วยมาตรา 112 ทำได้เลย เห็นด้วย หรือการยกเลิกกิโยตีนกฎหมายก็ทำได้เลยเหมือนกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง