‘บิ๊กอ้วน’ยืนยัน ผุดJTCเมื่อไหร่ ถกผลประโยชน์

“ภูมิธรรม” บอกพร้อมเรียกถกแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทันที หลัง ครม.ไฟเขียวนั่งหัวโต๊ะ JTC ทะแม่งแจงเหตุลงพื้นที่เกาะกูด เพราะเป็นโมเดลเดียวกับที่กัมพูชาขึ้นเขาพระวิหาร แสดงความเป็นเจ้าของ “วิลาศ” เปิดหน้าจวกกรมที่ดิน ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดต้องทำตาม

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ย.2567 นายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC)   ไทย-กัมพูชา ว่าใกล้เรียบร้อยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศเตรียมเสนอสนธิสัญญา และมีข้อเสนอไป โดยเตรียมเสนอให้กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือเข้าร่วมด้วย เนื่องจากมีหน้าที่รับผิดชอบทำแผนที่ทางทะเลโดยตรง และมีความเข้าใจดี  สามารถดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศได้  หรืออาจต้องมีคนกลางเข้าร่วมด้วย เช่น ผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งจะให้มีผู้ที่มีศักยภาพเข้ามาดูเรื่องนี้ให้ครอบคลุม แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เทคนิคระดับสูง

 “การจะพูดอะไรออกไปต้องระมัดระวัง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคนิค เพราะเราไม่ได้รู้จริง ซึ่งจะมีผลต่ออธิปไตยและประโยชน์ของประเทศ หากในอนาคตมีความขัดแย้งหรือนำไปสู่การขึ้นศาลโลก ก็ต้องนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาประกอบการพิจารณา เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร  ดังนั้นการลงพื้นที่เกาะกูด จังหวัดตราด นอกจากทำให้เห็นว่าเรามีกำลังทหารและข้าราชการอยู่ในพื้นที่แล้ว การที่ผู้บังคับบัญชาได้ลงพื้นที่ไปก็จะสามารถนำไปอ้างอิงได้ เช่นเดียวกับกรณีที่กัมพูชาอ้างผู้บังคับบัญชาลงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าเกาะกูดนั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตย เราเป็นเจ้าของที่นี่” นายภูมิธรรมกล่าว และยอมรับว่ายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของทรัพย์สินทางทะเล  สินทรัพย์ของเราซึ่งบางฝ่ายเห็นว่าเป็นสินทรัพย์ของเราไม่ควรหยิบมาใช้ หากมองอีกด้านถ้าสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งไทยมีท่อก๊าซอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ได้เลย ค่าเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลไปถึงค่าไฟลดลงด้วย

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวเป็นทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มาจากซากฟอสซิล ซึ่งโลกกำลังเปลี่ยนแปลง มีความท้าทายใหม่ แนวโน้มการใช้พลังงานลดลง จากมูลค่าหลายล้านบาทก็หายไป แต่การเจรจายอมรับว่าไม่ง่าย ส่วนจะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ สำหรับ MOU 2544 เป็นเพียงกรอบการเจรจาเท่านั้น แต่กรอบดังกล่าวจะทำให้ข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนจบโดยสันติวิธี หากไม่เดินตามกรอบนี้ ก็จะเกิดภาวะสงคราม เอาปืนอาวุธมากระทำต่อกัน ซึ่งเชื่อว่าคนไทยรักแผ่นดินไทย ข้าราชการกองทัพทุกคนก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครที่ไม่รักแผ่นดินไทย หรือจะเอาแผ่นดินไปให้คนอื่น เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์

 “การประชุมเจทีซีเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้นคงต้องรอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและผ่านคณะรัฐมนตรีให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้นั่งเก้าอี้ประธานหรือไม่ แม้นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ผมเป็นผู้รับผิดชอบก็ตาม แต่อยากให้รอดูคำสั่งที่ชัดเจนก่อน หากชัดเจนแล้วผมก็จะเริ่มดำเนินการทันที” นายภูมิธรรมกล่าว

วันเดียวกัน นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีกรมที่ดินทำหนังสือเลขที่ มท. 0516.2(2)/22062 ลงวันนี้ 21 ต.ค.2567 เรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่ายังไม่สมควรเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เนื่องจาก รฟท.ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดินของ รฟท.ว่า เท่าที่ติดตามเรื่องที่ดินเขากระโดง ทำไมฝ่ายการเมืองไม่มีการพูดถึง ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารออกมาแถลงข่าวถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นที่สุดไม่มีอะไรใหญ่กว่า ถึงขนาดรัฐมนตรีบางคนบอกว่าไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้แต่ตารางวาเดียว แต่กลับไม่มีการสั่งการอะไร จึงขอเตือนถึงข้าราชการที่รับผิดชอบว่า ให้ยึดถือตามกฎหมาย และคำพิพากษาของศาลฎีกา อย่าเกรงใจฝ่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งตัวท่านจะเดือดร้อน

นายวิลาศย้ำว่า เรื่องที่ดินเขากระโดง ศาลฎีกาเคยตัดสินไปแล้ว 2 คดี ว่าเป็นที่ดินของ รฟท. ส่วนอีกคดีเป็นคดีศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ยืนยันว่าเป็นที่ดินของ รฟท.ด้วยเช่นกัน จึงมีคำถามว่า แล้วทำไมกรมที่ดินจึงกล้าทำหนังสือไม่เพิกถอนที่ดินดังกล่าวถึง รฟท. เท่ากับเป็นการโต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องเขากระโดงเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เหตุการณ์เริ่มตั้งแต่มีพระราชกกฤษฎีกาวันที่ 8 พ.ย.2462 กว่า 100 ปีแล้วดึงกันไปมา จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงอะไรผิดอะไรถูก ใครจะต้องออกจากพื้นที่ หรือใครมีสิทธิ์ที่จะอยู่ยังพิสูจน์ไม่ได้ จึงขอตั้งข้อสังเกตถึงกรมที่ดินว่า การที่เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกาออกมายืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา และคนที่ไปให้การเป็นพยานต่อศาลจะถือเป็นการให้การเท็จหรือไม่

นายวิลาศยังกล่าวว่า การสร้างทางรถไฟสายโคราช-อุบลราชธานี กิโลเมตรที่ 375+650 มีการสร้างทางแยกไปอีก 8 กม. เพื่อทำทางไปขนหินจากบ้านเขากระโดงใน จ.บุรีรัมย์ เพื่อเอามาสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว มีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ปี 2562 การที่กรมที่ดินมีหนังสือแจ้ง รฟท.ว่าไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง ถือเป็นการโต้แย้งต่อพระบรมราชโองการหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดมีผู้ส่งหนังสือเป็นเอกสารการบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พ.ย.2513 ระหว่างนายชัย ชิดชอบ และเจ้าหน้าที่ รฟท. โดยมีการบันทึกว่า นายชัยขออาศัยในที่ดินดังกล่าวจากการรถไฟฯ ได้ และการรถไฟฯ ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป เท่ากับว่าหนังสือฉบับนี้นายชัยก็ยอมรับแล้วว่าไม่ใช่ที่ดินของท่าน แล้วทำไมกรมที่ดินอยู่ดีๆ ไปออกหนังสือรับรองเช่นนั้นมา

 “จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป และหากมีหลักฐานพยานที่เกี่ยวข้องจะมาแถลงต่อสื่อเพิ่มเติม และขอย้ำว่าเมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้ว ก็ต้องยึดไปตามนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องที่พยายามเบี่ยงเบน มีเจตนาเช่นไร สังคมมองออก” นายวิลาศระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กอ้วน' เรียกถก JTC ทันทีหลัง ครม.ไฟเขียวนั่งหัวโต๊ะ เตือนพูดด้านเทคนิคกระทบอธิปไตย

'ภูมิธรรม' เรียกถกแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทันทีหลัง ครม.ไฟเขียวนั่งหัวโต๊ะ JTC เตือนระวังพูดด้านเทคนิค หวั่น กระทบดินแดน หากอนาคตเรื่องถึงศาล เผยลงพื้นที่เกาะกูด โมเดลเดียว 'เขาพระวิหาร' แสดงความเจ้าของ