กังขาเก็บ‘MOU44’ไว้หาประโยชน์

"สนธิญา" บุกทำเนียบฯ จี้   "นายกฯ-ครม." ยกเลิก MOU 44 หวั่นอาจนำไปสู่การฟ้องศาลโลกทำให้ไทยเสียดินแดนซ้ำเขาพระวิหาร "วีระ" จี้รัฐบาลตอบคำถามตรงๆ ต่อประชาชนทำไมไม่กล้ายกเลิก ซัดพวกของรัฐบาลต่างหากที่จะเสียผลประโยชน์ ขณะที่ "สมชัย"  โพสต์ภาพจาก "Google Map" ลากเส้นแบ่งไทย-เขมรชัดเจน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายสนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใน 2 ประเด็นคือ ขอให้มีการยกเลิก MOU 44 และชะลอการทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนายสนธิญาระบุว่า  การทำ MOU 44 ที่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อาจซ้ำรอยกับข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร  ซึ่งการสูญเสียดินแดนครั้งดังกล่าวมาจาก MOU 43 โดยเกิดขึ้นในสมัยของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หากยังยึดมั่นใน MOU 44 และมีการขีดเส้นบนเกาะกูด ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ถ้ากัมพูชาคิดแตกต่างจากปัจจุบัน สุ่มเสี่ยงที่จะถูกดึงไปสู่การฟ้องศาลโลก ปัญหาจะเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยจะเสียดินแดนเกาะกูดหรือไม่ ตนจึงต้องสอบถามไปยังรัฐบาลและผู้รับผิดชอบ รวมถึงนายกรัฐมนตรี จะสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่าพื้นที่ทับซ้อนส่วนนี้จะไม่มีปัญหา และในอนาคตมีการฟ้องร้องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังทราบข่าวว่ามีการตกลงกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2544 ดังนั้นหากมีการตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา บริษัทที่ตกลงไว้จะเข้ามาทำการขุดเจาะน้ำมันจะถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการทำงานที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ในประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ ดังนั้นตนจึงขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี นำ MOU 44 เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทำการยกเลิก หากเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญ ตนจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยและจัดการให้มีการยกเลิกบันทึกข้อตกลงนี้

นายสนธิญายังระบุถึงการชะลอแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะติดใจว่านายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองหรือไม่ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ซึ่งตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช และ ปปง. ระบุไว้ว่า การได้รับงบประมาณในส่วนนี้จะเหมารวมว่าเป็นข้าราชการทางการเมือง ซึ่งวันนี้ตนไม่อยากเห็นคนใดคนหนึ่งเข้าไปชี้นำ แต่หากยังดื้อดึงไม่มีการตรวจสอบ ตนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากมีการทูลเกล้าฯ ถวาย   และในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยังไม่ครบ 1 ปี เรื่องนี้ใครจะรับผิดชอบ

นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คำถามที่ประชาชนไทยต้องการคำตอบอย่างตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ นายกฯ แพทองธารและรองนายกฯ ภูมิธรรม ต้องตอบมาตรงๆ ให้ได้ว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่กล้ายกเลิก MOU 44 หากยกเลิกไทยจะเสียหายอะไรบ้าง จะเสียหายอย่างมากจริงๆ หรือ และหากไม่ยกเลิกไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่สำคัญประโยชน์จะตกแก่ใคร ระหว่างผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือประชาชนกันแน่ รัฐบาลแพทองธารต้องตอบคำถามนี้ และต้องให้เหตุผลอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาที่สุดว่า ทำไมจึงไม่กล้ายกเลิก MOU 44 ประเทศไทยจะเสียหาย เสียผลประโยชน์ หรือว่าพรรคและพวกของรัฐบาลต่างหากที่จะเสียหายเสียผลประโยชน์

“สรุปก็คือ รัฐบาลต้องตอบมาให้ตรงประเด็น อย่าแถไปแถมา ซื้อเวลาให้กับตนเอง ต้องให้เหตุผลและอธิบายออกมาให้ชัดเจนว่า ทำไมจึงต้องเก็บ MOU 44 เอาไว้ เก็บเอาไว้เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในรัฐบาล หรือเก็บเอาไว้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไทย รัฐบาลต้องกล้าตอบประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อย่าปกปิดซ่อนเร้นเพื่อเอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้กับกลุ่มใดหรือผู้ใดบางคน การบอกว่าไทยไม่เคยยกเลิก MOU 44 จึงไม่ใช่คำตอบที่ชอบด้วยเหตุผล และไม่ได้แสดงความจริงใจ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้บอกประชาชนไทยว่า มีเหตุผลอะไรจึงจำเป็นต้องเก็บ MOU 44 เอาไว้”

นายวีระยังตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลแพทองธารจึงไม่กล้าบอกกับประชาชนไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกฯ แพทองธารในปัจจุบันนั้น เป็นฝ่ายที่ไปเจรจาตกลงกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ให้มี MOU 44 เกิดขึ้นมา โดยให้นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามใน MOU 44 กับนายสก อาน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา และที่สำคัญที่สุดก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ได้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม หรือ JC 44 กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาด้วย ในวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดย JC 44 คือตัวสำคัญ ที่อาจทำให้ไทยต้องเสียอธิปไตยทางทะเลในพื้นที่ไหล่ทวีปอ้างสิทธิทับซ้อน และอาจจะต้องเสียผลประโยชน์ทางทรัพยากรทางทะเลอย่างมหาศาลให้กับกลุ่มที่จ้องจะทุจริตหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง

“ที่พูดมาทั้งหมดนี้ มีตรงไหนหรือส่วนใดที่รัฐบาลแพทองธารกล้าปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง หากไม่เป็นความจริง ก็ให้รัฐบาลรีบตอบหรือชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาทันทีว่า ที่ประชาชนตั้งข้อสงสัย หรือกล่าวหามานั้น จริงส่วนใด และไม่จริงส่วนใด และหากรัฐบาลจะปฏิเสธว่าที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยหรือกล่าวหามานั้น ไม่เป็นความจริง ก็ให้นำข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานมาหักล้างให้ได้ หากรัฐบาลยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ถามวัวตอบควายอยู่เช่นนี้ต่อไป ทำให้ประชาชนไทยเข้าใจว่าหรือเชื่อว่ารัฐบาลแพทองธารกำลังปกปิดซ่อนเร้นความจริงเกี่ยวกับผลประโยชน์โดยมิชอบในพื่นที่ไหล่ทวีปอ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งอาจทำให้รัฐและประชาชนไทยได้รับความเสียหาย เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงจุดผิดพลาดที่ร้ายแรงของ MOU 44 ว่า ช่วงนี้เริ่มมีการพูดถึงจุดบกพร่องของ MOU 44 มากขึ้น ไม่เพียงแต่ในเนื้อหาสาระที่ฝ่ายไทยเราเองเสียเปรียบเขมรอย่างมาก จนเป็นที่สงสัย และหวาดระแวงว่าไทยเราไปยอมเขมรได้อย่างไร ตอนนี้ชาวโซเชียลฯ เริ่มชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดที่ไม่ควรพลาด  เพราะนี่คือการลงนามระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพิกัด ที่จะแบ่งพื้นที่เจรจาเขตแดนและพิกัดที่จะพัฒนาร่วม (แบ่งพลังงาน) โดยเอา ตำแหน่ง latitude 11 องศาเหนือเป็นตัวแบ่ง (11°N)

แต่ถ้าไปดูในแผนที่แนบท้าย แทนที่จะเขียนเป็น 11°N แต่ในแผนที่ไปเขียนเป็น 11°E ซึ่งสัญลักษณ์แบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้อภัย เพราะถ้าไปกำหนดพิกัด เป็นแบบนี้ ว่า 11°E พิกัดเส้นเมอริเดียน (line of longtitude) จะหมายถึง11°E คือ เส้นที่ลากจากขั้วโลกเหนือผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา มหาสมุทรแอตแลนติก และแอนตาร์กติกา เข้าสู่ขั้วโลกใต้ ซึ่งเส้น 11°E นี้ จะลากผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ประเทศนอร์เวย์ มหาสมุทรแอตแลนติก  ประเทศสวีเดน สกาเจอร์รัก ประเทศเดนมาร์ก  แคทีแกต เกรตเบลต์ สมาแลนดส์ฟารแวนเดท อ่าวคีล ประเทศเยอรมนี อ่าวลือเบค ประเทศออสเตรีย ประเทศอิตาลี ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศตูนิเซีย ประเทศลิเบีย ประเทศแอลจีเรีย  ประเทศไนเจอร์ ประเทศไนจีเรีย ประเทศแคเมอรูน ประเทศอิเควทอเรียลกินี ประเทศกาบอง และแอนตาร์กติกา ซึ่งนี่คือความผิดพลาดในแผนที่แนบท้าย MOU 44 ที่ไม่ควรผิดพลาด

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้โพสต์รูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเป็นภาพที่แคปมาจากแอปพลิเคชัน “Google map” เผยให้เห็นเส้นแบ่งเขตระหว่างไทยและเขมรแบ่งครึ่งทะเลระหว่าง เกาะกูดและเกาะกง โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า  “Google map ยังฉลาดกว่ารัฐบาลไทย ลากเส้นพรมแดนไทยเขมร โดยใช้เส้นมัธยฐาน median line แบ่งครึ่งทะเลระหว่างเกาะกูด ที่เป็นของไทย และเกาะกง ที่เป็นของกัมพูชา  MOU 44 ที่ไประบุเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา โดยเล็งจุดสูงสุดเกาะกูด จะผ่านหรือจะอ้อมเกาะก็ตาม มันยอมรับไม่ได้ ลุงอ้วน หลานอิ๊ง ใช้เป็นมั้ย  google map"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ