รฟท.จี้กรมที่ดินทบทวนมติ มท.โบ้ยต้องไปยื่นศาลแพ่ง

"อนุทิน" ลั่นปัญหาเขากระโดงจบในกรม อย่าโยง รมว.มหาดไทย ปัดเอื้อประโยชน์ใครทั้งสิ้น รฟท.ร่อนหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน  ค้านคำสั่งไม่เพิกถอนที่ทับซ้อน มท.โต้ร้องผิดที่ ชี้ต้องยื่นศาลแพ่งพร้อมหลักฐานใหม่ กังขาแผนที่อ้างอิงใช่ พรฎ.เวนคืนที่ดินสร้างทางรถไฟหรือไม่  ฝ่ายค้านซัดมหากาพย์ร่วมมือทำลายหลักนิติธรรม

ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14     พฤศจิกายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย     กล่าวถึงกรณีที่เลขาธิการกฤษฎีกาแนะนำให้กรมที่ดินและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ว่ามีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา และตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ส่วนที่บอกว่าคณะกรรมการตามมาตรา 61 ไม่มี รฟท. เพราะต่างคนต่างเป็นคู่กรณี แต่เขามีกรรมการแยกต่างหากแล้วค่อยไปตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ฉะนั้นขออย่านำเรื่องนี้มาโยงกับ รมว.มหาดไทย เพราะเรื่องพวกนี้จบในกรม และ รมว.มหาดไทยได้มอบนโยบายและสั่งการกรมที่ดินให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบทุกอย่าง ไม่มีการเอื้อหรืออำนวยความสะดวกให้กับใคร ส่วนจะจบอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น ไม่ต้องมารายงานรัฐมนตรี เพราะหากไม่เป็นไปตามกฎหมาย ต้องมีคนร้องคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหาก รฟท.ยังไม่พอใจไปฟ้องศาลต่อ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว

 "หลายเรื่องที่มีการนำเสนอข่าวออกไปผิดหมดเลย พร้อมยกตัวอย่างการลาออกของอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีการอ้างว่าถูกแรงกดดันจึงลาออกเพราะไม่อยากเข้าคุก ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง  เนื่องจากต้องการไปดูแลภรรยาที่ป่วย และเมื่อเขามีความจำเป็น ต้องเคารพการตัดสินใจ ซึ่งการเสนอข่าวต้องมีความแม่นยำข้อมูลให้มากกว่านี้ และแหล่งข่าวไม่ต้องไปหาที่ไหน  เพราะผมรายวัน (ให้สัมภาษณ์) อยู่แล้ว เจอผู้สื่อข่าวก็วิ่งเข้าหาทุกที​ ไม่เคยให้ต้องมาตาม เราต้องมาคุยกันแบบนี้ อย่าไปฟังตรงโน้นทีตรงนี้ที และเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งคุณไม่ได้เดือดร้อน ผมไม่ได้เดือดร้อน  แต่คนเดือดร้อนคือประชาชน" นายอนุทินระบุ

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท.เร่งยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ และตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน จึงเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายสุริยะทันที โดยได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนตามมาตราที่ 61 มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนเขากระโดง

ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว รฟท.ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้เบื้องต้น โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกขั้นตอนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดงนั้น รฟท.ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม

ขณะที่มีรายงานข่าวจากกรมที่ดินว่า การยื่นหนังสือดังกล่าวมาที่กรมที่ดิน ไม่มีประโยชน์   เพราะตามหนังสือที่กรมที่ดินเคยแจ้งไปยัง รฟท. ว่าแนวทางที่ถูกต้องคือต้องไปอุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง พร้อมหลักฐานใหม่ประกอบ หากจะดำเนินการเพิกถอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน รฟท.ต้องฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินเป็นรายแปลง จำนวนกว่า 900 แปลง

 “ประเด็นคือแผนที่ของ รฟท.เป็นแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินสร้างทางรถไฟหรือไม่ กรมที่ดินเห็นว่าเป็นแผนที่ที่ทำขึ้นปี 2539 เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา รฟท.ต้องพิสูจน์แผนที่ที่ทำไปอ้างในศาลเป็นแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ หรือเป็นแผนที่ที่มาจากที่ใด”  แหล่งข่าวจากกรมที่ดินระบุ

นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)  เรื่องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการที่ให้ยุติการเพิกถอนเอกสารสิทธิพื้นที่เขากระโดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างถึง 1.พระราชบัญญัติการจัดวางรางแลทางหลวง พ.ศ.2464 2.ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลว. 17 นาคม 2541 3.มติชี้ขาดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องพื้นที่เขากระโดง 4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลว. 16 ก.พ.2560 5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลว. 22 พ.ย.2561

6.คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112-2563 ลว. 22 เม.ย.2563 7.คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลว. 30 มี.ค.2566 8.หนังสือ มท. 0516.2(2)/221612 ลว. 21 ต.ค. 2567

"เนื่องจากพื้นที่เขากระโดงได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิชัดเจนแล้วว่าเป็นของ รฟท. ดังจะดูรายละเอียดได้จากหลักฐานการพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุธรณ์ คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. และความเห็นของกฤษฎีกา การที่คณะกรรมการตามมาตรา 61 มีมติดังกล่าวนั้น จึงเป็นการละเมิดคำตัดสินของศาลฎีกาและขัดต่อพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกรมที่ดินอยู่ภายใต้การบริหารงานของ รมว.มหาดไทย ขอให้ท่านมีบัญชาให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษา ให้เป็นไปตามกฎหมาย โปรดสั่งการให้ทบทวนมติคณะกรรมการดังกล่าวด้วย" นายสุวิชระบุ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า โดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 61 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งหนังสือกรมที่ดินฉบับดังกล่าว สรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือรับรองสิทธิในที่ดิน จนกว่า รฟท.จะมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท.  ซึ่งหนังสือกรมที่ดินฉบับนี้ สร้างความฉงนแก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ปัญหาคือทำไมคณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีตั้งขึ้นชุดล่าสุด จึงมีมติดังกล่าวโดยยังไม่เชื่อว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้  

นายจุลพงศ์กล่าวว่า กรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่า กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองในคดีแดงที่ 582/2566 ที่ให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว และกรมที่ดินยังได้อ้างว่าคำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าวมิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิที่ดินแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางฉบับเดียวกันได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ที่พิพากษาเหมือนกันหมดว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.

"คนทั่วไปฟังเรื่องนี้แล้วจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมมติของคณะกรรมการที่กรมที่ดินแต่งตั้งจึงขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา และสงสัยว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง เกิดจากการอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค และช่องว่างทางกฎหมายของกฎหมายที่ดิน  กฎหมายปกครอง และระเบียบกรมที่ดินที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก จึงเป็นมหากาพย์ของความร่วมมือกันทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทย ยิ่งเมื่อไปดูรายชื่อคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งชุดล่าสุดนี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับนักการเมืองระดับชาติในจังหวัด เรื่องนี้จึงมีอะไรที่ซ่อนอยู่อีกเยอะ" นายจุลพงศ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เสี่ยหนู' ลั่น 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' ไม่เคยขัดแย้งปมที่ดินเขากระโดง!

'เสี่ยหนู' ยัน พท.-ภท. ไม่เคยขัดแย้งปมเขากระโดง ขอคนไม่อยู่ในวงอย่าคาดคะเน ชี้ไม่มีเหตุผลต้องปกป้องผลประโยชน์ใคร โอดกว่าจะนั่งคุม มท.แทบตาย ไม่ให้ใครมาด่าสาดเสียเทเสีย