‘แม้ว’โทษม.112 ชงแก้การบังคับใช้

"ทักษิณ" เผยธาตุแท้ อ้างพรรคร่วมรัฐบาลลงสัตยาบันไม่แตะ ม.112 แต่ ม.112 มีปัญหาที่การบังคับใช้ นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ง่าย การแก้ต้องใช้เวลา โวยตัวเองตกเป็นเหยื่้อเพราะถูกหมั่นไส้ ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ถวายงานที่สุด ด้าน "เรืองไกร" ฟื้นคดีฟุตซอล ร้อง กกต.ฟัน "อุ๊งอิ๊ง" พ่วง 3 รัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่จังหวัดอุดรธานี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้พูดบนเวทีปราศรัยในเรื่องความเท่าเทียมและโอกาสนั้น จะเป็นการทวงคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ได้อย่างไร ว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนหลายอย่าง ที่จริงแล้วเรื่องการเมือง หลังจากการปฏิวัติ ที่ตนโดนปฏิวัติ ก็ไล่ห้ำหั่นกันในทางการเมือง และต่อมาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดนปฏิวัติก็เหมือนกัน หลังจากนั้นก็ผสมโรงด้วยคนต่างๆ ซึ่งวันนี้ตนก็พูดบนเวทีและมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมที่ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย ในประเด็นมาตรา 110 และ 112 นายทักษิณระบุว่า คดี 112 เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัตยาบันไว้ว่าเราจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะไม่แตะเรื่อง 112 แต่จริงๆ  แล้วปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ตนก็เป็นเหยื่อรายหนึ่ง ในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 คนที่รับคดีครั้งแรกบอกว่าเดี๋ยวจะหาว่าไม่จงรักภักดี ฟ้องไปก่อน ทั้งที่หลักฐานไม่มี คนที่สองไม่ฟ้องเดี๋ยวโดนอีก ก็ฟ้อง โดยที่ไม่ได้ดูความถูกต้องของพยานหลักฐาน จึงทำให้การจงรักภักดีและรักสถาบันไม่ถูกต้อง การจงรักภักดีที่ถูกต้องคือการรักษากฎหมายที่เป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ง่ายในการแก้ซึ่งต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสมัยหน้าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะผลักดันหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า ไม่อยากไปให้ความเห็นในเรื่องนี้ ตนไม่อยากมีบทบาท เดี๋ยวจะหาว่าเพราะคนนั้นคนนี้ ถ้าเราอยู่บนหลักการทุกอย่างมีทฤษฎี มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เนื่องจากว่าเราไปมองว่าเป็นเรื่องของพวกใครพวกมันมากกว่า มันถึงได้เป็นปัญหา ถ้าเมื่อไหร่เราจิตใจนิ่งสงบ คิดถึงหลักการเป็นหลัก ไม่คิดถึงพวกใครพวกมัน ก็จะดีขึ้น

ถามว่า มองว่าอะไรที่ทำให้ข้อหาไม่จงรักภักดีใช้ได้ผลเสมอในทางการเมือง นายทักษิณตอบว่า “ก็การเมืองไง ดูสิผมนี่โดนหนักที่สุด ทั้งๆ  ที่เป็นคนที่ถวายงานที่สุด แต่ด้วยความหมั่นไส้  เป็นเรื่องธรรมดา

ซักว่าในแต่ละเหตุการณ์มีบริบทเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ทั้งเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549,  2557 จนถึงพรรคการเมืองโดนยุบเพราะมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นายทักษิณกล่าวว่า จริงๆ  แล้วตนเคยคุยกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ว่าตนก็โดน 3 พรรค ต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี ดังนั้นขอให้เราช่วยทำงานให้บ้านเมือง อย่าพยายามไปรื้อโครงสร้างให้มากเกินไป ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยหลักการ และเอาบ้านเมืองให้อยู่ได้มันจะดีที่สุด อย่าไปคิดถึงสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่คนไทยเคารพนับถือ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของสถาบัน เราต้องจรรโลงอย่างเดียว ตนไม่ได้บอกว่านายธนาธรหรือพรรคก้าวไกลไม่จงรักภักดี แต่ต้องยึดหลักให้ถูกต้อง อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดที่โฆษณามันอันตรายกว่าความตั้งใจที่จะทำ

เมื่อถามว่า หากจะแก้ปัญหาโดยไม่แตะโครงสร้างจะมีวิธีการอย่างไร นายทักษิณกล่าวว่า ก็ต้องทำตามหลักการของกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ต้องแก้ไขกฎหมาย ไปทีละขั้นตอน ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายไม่ดีต้องไม่ทำเลย เพราะกฎหมายมันมีอยู่

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์​ กรุงเทพ​มหานคร​  นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และคำร้องให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการ เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมก็มีขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลา โดยให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องสอบให้ครบจนสิ้นกระแสความ ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจง ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลาตรวจสอบ 30 วันหรือ 60 วัน เพราะตั้งแต่ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาก็ยังไม่ได้รายงานขอขยายระยะเวลาเข้ามายังนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็จะต้องดูว่ามีการขอขยายระยะเวลาหรือไม่

ส่วนคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นให้มีการตรวจสอบความเหมาะสมกรณีนายกรัฐมนตรีทำท่าชูมือมินิฮาร์ตในระหว่างการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า เมื่อมีการร้องเข้ามา กกต.ก็จะต้องนำมาพิจารณาดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นคำร้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาร้องความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง  กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีการยื่นคำร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยอมรับว่า กกต.อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่หากจะยื่นเรื่องร้องเรียน ขอให้มีข้อมูลให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นการมาตั้งคำถาม ซึ่งส่วนมากทุกเรื่องจะยื่นมาในลักษณะตั้งคำถามในลักษณะผิดหรือไม่ อาจจะเป็นการหลบในเรื่องของการถูกฟ้องร้องหรือไม่ แต่สำนักงาน กกต.ก็ไม่เคยทิ้ง แต่ต้องใช้ความเข้มงวดมากขึ้น ในอดีตให้โอกาสเพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. การจะรับคำร้องก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริง ส่วนรูปแบบการร้องหรือสาระสำคัญในการยื่นคำร้อง ขอให้ผู้ร้องได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง และผิดกฎหมายมาตราใด ไม่ใช่มาถามว่าผิดหรือไม่

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ใช้เวลาศึกษาคดีฟุตซอลมานานพอควร จนศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดอาญาไปแล้ว 1 คดี ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าคดีนี้เป็นการใช้งบแปรญัตติปี 2555 ของ สพฐ.โดยไม่ชอบ และมีวงเงินสูงถึง 4,459.42 ล้านบาท โดยเป็นพรรคเพื่อไทย 2,568.42 ล้านบาท และพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นเงิน 1,891.00 ล้านบาท โดยตนมีรายชื่อที่ได้มาจากเอกสารในสำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกือบทุกราย

นายเรืองไกรกล่าวว่า คดีฟุตซอลมีความล่าช้ามาก ซึ่งต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงต่อสาธารณชนเอง แต่สำหรับเรื่องที่ตนร้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทางไปรษณีย์ EMS วันนี้ เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปแต่งตั้งรัฐมนตรี 3 ราย ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารสำนวนคดีที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทั้ง 3 ราย นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ดังนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เขากล่าวว่า เมื่อทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ปรับรัฐมนตรีทั้ง 3 รายออกจากตำแหน่ง แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ กรณีดังกล่าวจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 3 ราย เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กรณีจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง