"ประธานสภาฯ" ได้ฤกษ์นัดประชุม คกก.จริยธรรมนัดแรก ก่อนเปิดสมัยประชุม จับตาเพื่อไทยขุดคำร้องไล่สับ "บิ๊กป้อม" วุ่นสอบเขากระโดงล่มไม่เป็นท่า สส.ฝั่งรัฐบาลวอล์กเอาต์ “พูนศักดิ์” เชื่อยังมีเวลาขอมติอีกครั้งสัปดาห์หน้า ขณะ กมธ.ทหารและความมั่นคงของรัฐยกโขยงพบ "บิ๊กอ้วน" ชี้แจงปม MOU 44
เมื่อวันพุธ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการพิจารณาคำร้องสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาว่า ขณะนี้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงได้สั่งการให้นัดประชุมได้แล้ว เนื่องจากองค์ประชุมครบแล้ว และมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมของสมาชิก ซึ่งจะแยกเป็น 2 ส่วนคือจริยธรรมของ สส.และจริยธรรมของ สว. ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรมีหลายเรื่อง ที่ประชุมก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพราะหลายเรื่องคณะกรรมการพิจารณาไม่ทัน จึงจำเป็นต้องแยก และดูว่าต้องมีอนุกรรมการกี่คณะ คาดว่าจะพิจารณาได้ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง บางเรื่องคนร้องก็ไม่รอแล้วจึงไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอิสระอื่นไปแล้ว โดยปกติหากไปร้องที่อื่นแล้วทางคณะกรรมการจริยธรรมจะรอให้การพิจารณาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะหากพิจารณาพร้อมกันอาจมีความขัดแย้งต่อการปฏิบัติได้
“ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร บางเรื่องที่เป็นเรื่องจริยธรรม ตอนนี้ ป.ป.ช.ก็เปิดกว้าง ร้องที่ ป.ป.ช.โดยตรงได้เลย ก็ไม่ต้องผ่านอนุกรรมการจริยธรรมของรัฐสภา ไม่ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ของสภา ถ้าร้ายแรงก็เข้าที่ประชุมใหญ่ของสภา แต่ ป.ป.ช.เขาใช้แค่อนุกรรมการ และกรรมการ ป.ป.ช. ถ้าเห็นเรื่องร้ายแรง เขาจะส่งไปที่ศาลฎีกาเลย แล้วแต่ว่าเป็นคดีการเมืองหรือคดีทุจริต อันนั้นเร็วกว่าคณะกรรมการจริยธรรม แล้วแต่สมาชิกและพี่น้องประชาชนต้องการ เพราะมันมีประตูหลายประตู แล้วแต่จะเข้าด้านไหน" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสภาเร่งสะสางปัญหาการประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะกรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยได้ยื่นให้ตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องของวันลามาขาด ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2567 รวม 3 สมัยประชุม มีการประชุมทั้งหมด 103 ครั้ง พบว่า พล.อ.ประวิตรลาประชุมถึง 89 ครั้ง โดยมาประชุมเพียง 14 ครั้ง ถือเป็นการกระทำที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า สส.จะขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สส.ที่ระบุว่า สส.ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย
รวมทั้งกรณีการเดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นไปในลักษณะบินหรู กินอยู่สบาย เข้าข่ายรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พันบาทหรือไม่ ถือว่า พล.อ.ประวิตรขาดคุณสมบัติความเป็น สส. และเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงแล้วหรือไม่
วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ., นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ., นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ในประเด็นข้อพิพาทเขากระโดง
โดยนายพูนศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากทางสมาชิกของทาง กมธ.ไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถขอมติที่จะนำเรื่องเขากระโดงเข้าสู่วาระการพิจารณากรรมาธิการได้ แต่เชื่อได้ว่าขณะนี้ยังมีเวลาที่จะขอมตินำเรื่องที่ดินเขากระโดงเข้าสู่กรรมาธิการอีกครั้ง
ขณะที่นายเลาฟั้งกล่าวว่า พรรคเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งแง่เรื่องกฎหมายและเรื่องการปฏิบัติ ซึ่งจะมีการแถลงในรายละเอียดอีกครั้งผ่านสื่อของพรรคในวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านอย่างละเอียด เพื่อการสื่อสารที่ชัดเจน และเรื่องนี้มีแผนที่จะนำมาพิจารณา เรื่องเขากระโดงเปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีความแหลมคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กมธ. เมื่อมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่อขอมติ พบว่ามี สส.ของฝั่งรัฐบาลทั้งที่อยู่ในที่ประชุมและประชุมออนไลน์ ต่างพากันออกจากห้องประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้ไม่สามารถขอมติได้
ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา เข้าหารือประเด็นความมั่นคงว่า กรรมาธิการได้สอบถามในประเด็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชา ว่าด้วยการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกัน ปี 2544 หรือเอ็มโอยู 44 และได้ชี้แจงไปว่า เรื่องเอ็มโอยู 44 ไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวข้องกับพื้นที่เกาะกูด ที่เป็นของไทยอยู่แล้ว และตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ยืนยันชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ผลประโยชน์ของชาติในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน
“โดยเอ็มโอยู 44 บอกชัดเจนว่า เรื่องเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์เป็นสองเรื่องที่ต้องคุยร่วมกัน โดยประชาชน 2 ประเทศต้องเห็นพ้อง และต้องนำเรื่องเข้าสภาของทั้งสองฝ่าย พร้อมอิงกฎหมายทางทะเลซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหลักการของเอ็มโอยู 44 คือวิธีจัดการเกี่ยวกับเขตแดนที่มีความซับซ้อนกันอย่างสันติวิธีที่สุด ซึ่งในหลายประเทศก็มีปัญหาเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน และจากการลงพื้นที่เกาะกูด ได้กำชับกับกำลังพลของกองทัพเรือว่าให้ดูแลอธิปไตยตามบทบาทหน้าที่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และไม่อยากให้ทุกฝ่ายกังวลใจเรื่องนี้จนเกินความจำเป็น เพราะจะเกิดผลเสียต่อประเทศได้” นายภูมิธรรมระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ