จ่อสรุปชั้น14ชงปปช.ชุดใหญ่

ระทึก! ชั้น 14 "โรม" ลั่นถามแค่ชื่อหมอ-คนที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องเชิญ "ทักษิณ" มาเอง ถ้าป่วยจริงก็จบ จะมีพิรุธทำไม ขณะที่ “คปท.” พอใจคำตอบ ป.ป.ช. หลังผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ช.แจ้งความคืบหน้าคดี "ทักษิณ" นอนห้องวีไอพี รพ.ตำรวจ สรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในเดือนนี้

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย  ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุการที่กรรมาธิการการมั่นคงฯ ตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการหาเศษหาเลย

โดยนายรังสิมันต์เผยว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องหาเศษหาเลย มันไม่ใช่เรื่องเล็กที่เราจะมองข้ามได้ ตนคิดว่าตัวชี้วัดสำคัญไม่ใช่กรรมาธิการอย่างเดียว แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือภาพรวมของสังคมที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้มาโดยตลอด ถ้าเรามองด้วยใจเป็นธรรม เรื่องของนายทักษิณผ่านมาพอสมควร แต่ทำไมสังคมยังติดใจ ยังสงสัย ยังมีคำถาม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ ดังนั้น การที่กรรมาธิการได้แสวงหาข้อเท็จจริงนี้ ทั้งในแง่มุมกฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจเรา ในแง่ของการเมือง กรรมาธิการก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องถามและตรวจสอบรัฐบาล ถ้าฝั่งรัฐบาลทำให้ถูกต้อง รัฐบาลไม่มีอะไรที่ปกปิด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลในเรื่องนี้ คิดว่ารัฐบาลทำได้ง่ายๆ  คือการให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการ คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้

 “สุดท้ายผลพิสูจน์ออกมาคุณทักษิณป่วยจริง มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจจริง มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวชั้น 14 นานขนาดนี้ แล้วต้องอยู่ที่ชั้น 14 เท่านั้น มีความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าสุดท้ายมันก็จะเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ ถ้าสามารถตรวจสอบได้ มันก็จะเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ คนที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อได้รับคำตอบมันก็จบ แต่ปัญหาก็คือว่าทำไมต้องทำให้เรื่องนี้ดูมีพิรุธ ทำไมต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ ทำไมถึงต้องพยายามอ้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย PDPA ต่างๆ ซึ่งเป็นการอ้างที่ผิด เพราะกฎหมาย PDPA เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าไม่รวมถึงการทำหน้าที่ของสภาและกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร”

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการหาเศษหาเลย ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่เป็นเรื่องที่กรรมาธิการเรามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา เราในฐานะตัวแทนประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าตกลงแล้วภายใต้รัฐบาลนี้ กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างไร เลือกปฏิบัติให้สิทธิพิเศษกับใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า นัดต่อไปจะมีเนื้อหาสาระอะไร และทำไมต้องถึงขนาดเชิญนายทักษิณ  นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าสัปดาห์ที่แล้วเราได้ข้อมูลที่เพียงพอมันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อหรือเชิญนายทักษิณ แต่ต้องยอมรับว่าเราได้รับความร่วมมือน้อยมาก รวมไปถึงข้อมูลที่มีการพูดกันในกรรมาธิการต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าข้อมูลที่ให้เราก็ให้น้อย

 “กระทั่งก็ถามชื่อหมอ ชื่อคุณพยาบาลต่างๆ  เรายังไม่ได้รับคำตอบเลย ข้อมูลหลายส่วนเป็นข้อมูลที่เป็นการพูดภาพรวม เป็นการพูดกว้างๆ  เป็นการพูดหลักการทั่วไป แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ทำให้ข้อมูลให้กรรมาธิการเข้าใจ ผมก็เลยคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อในครั้งนี้ ซึ่งการพิจารณาต่อในครั้งนี้ เราก็พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานชี้แจง ทำไมถึงต้องเชิญคุณทักษิณ ในเมื่อถามหมอ ถามคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับคำตอบ ก็คงต้องถามคนป่วย คนที่เขาบอกว่าเขาป่วยดู ซึ่งถ้าเราได้คำตอบที่ชัดเจน ผมคิดว่ามันก็จบ แค่นั้นเอง” นายรังสิมันต์กล่าว

ด้านนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) พร้อมด้วยตัวแทน เดินทางยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเอื้อให้นายทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงระหว่างการรับโทษจำคุก 1 ปี ว่ามีการเจ็บป่วยวิกฤตจนถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์จริงหรือไม่ ซึ่งผู้ถูกร้องประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์, อธิบดีกรมราชทัณฑ์และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์, รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

นายพิชิตกล่าวว่า เรื่องนี้ทาง คปท.มีการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566 และที่ผ่านมาก็มีการทวงถามหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป วันนี้จึงเป็นการมาทวงถามเป็นครั้งที่ 4 และเป็นการทวงถามครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าหารือกับผู้ช่วยซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนโดยตรง หลังจากที่ผ่านมาได้พบเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือแล้ว นายพิชิตพร้อมด้วยตัวแทนได้เข้าหารือกับนายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในคดีนี้ ซึ่งมารับหนังสือทวงความคืบหน้าด้วยตัวเอง โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 15 นาที

นายพิชิตให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ช.ว่า หลังหารือกับผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ช. ทราบว่าคณะกรรมการสืบสวนคดีได้สรุปสำนวนเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้รับเอกสารเวชระเบียนที่ขอจากโรงพยาบาลตำรวจ ได้เพียงค่ารักษาพยาบาล ขั้นตอนจากนี้ ทางอนุกรรมการฯ จะมีการสรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้เกิดสภาพบังคับ ภายในเดือน พ.ย.2567 ส่วนจะมีมติตั้งกรรมการไต่สวนจนไปสู่การชี้มูลกับใครบ้าง หรือจะตีตกสำนวนไปนั้น  ผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ช.ระบุว่าจะสรุปภายในเดือน ก.พ.2568 ซึ่งทาง คปท.จะมาติดตามอีกครั้ง

เขากล่าวว่า จากการเข้าหารือกัน เบื้องต้นถือว่าพอใจหลังจากการเดินทางมาติดตามหลายครั้ง เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดสืบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการอย่างเร่งด่วน และมีการส่งสำนวนภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ ในปีหน้าจะมาติดตามอีกครั้ง

"ป.ป.ช.ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนเพื่อชี้แจงต่อสังคม เพราะวันนี้ไม่ใช่แค่ คปท.เท่านั้นที่ร้องเรียนเข้ามา แต่สังคม ประชาชนทั่วไป ได้มีการติดตามเรื่องนี้ เพราะกรณีที่นายทักษิณเข้ารับการรักษาที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เกิดคำถามเกิดขึ้นมากมาย ป.ป.ช.ก็เหมือนพนักงานสอบสวน ที่ต้องชี้แจง หากมีการชี้มูลออกมาสังคมก็คงไม่มีการตั้งคำถามอีก เพราะขั้นตอนต่อไปจะมีการสืบข้อเท็จจริงต่อไป แต่หากไม่ชี้มูลใครเลย ป.ป.ช.ก็จะต้องให้คำตอบกับสังคม ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.จะเป็นจำเลยของสังคมเสียเอง" นายพิชิตกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน