รบ.โต้ขัดแย้งเขากระโดง คลอดพรฎ.แก้พิพาทที่ดิน

แกนนำรัฐบาลประสานเสียงปมที่ดินเขากระโดง ​ไม่สร้างขัดแย้ง "เพื่อไทย-ภูมิใจ​ไทย" "อนุทิน" ปัดถูกเอาคืน-ไม่มีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขออย่านำการเมืองมายุ่ง เดี๋ยวจะวุ่นวาย  “ทวี” ปิดปากหวั่นราดน้ำมันเพิ่ม เลขาฯ  กฤษฎีกาแนะ รฟท.-กรมที่ดิน จับเข่าคุยหาทางออก ชี้ชนวนเหตุมาจากเรื่องสื่อสาร ด้าน ครม.อนุมัติ พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดินในเขตอนุรักษ์ ยันไม่เอาผิดคดีอาญาระหว่างชาวบ้านรอพิสูจน์สิทธิ

  ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 พฤศจิกายน นายภูมิธรรม​ เวชยชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ กล่าวถึงกรณีนายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม​ สั่งการให้ทำ​หนังสือคัดค้าน "กรมที่ดิน"   ไม่ให้เพิกถอนสิทธิพื้นที่เขากระโดง​ จะเป็นชนวนความระหองระแหงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทยหรือไม่ว่า​ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทุกเรื่องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องดูรายละเอียด เนื่องจากยังไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าความเป็นจริงหรือทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร​ ก็ต้องว่าไปตามนั้น​ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรนอกเหนือจากนั้นได้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง เรื่องเขากระโดงขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เป็นคดีความระหว่างกรมที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงผู้ครอบครองที่ดิน ไม่ใช่ประเด็นการเมือง ถ้าเอาการเมืองมายุ่งแบบนี้จะยุ่งแล้ว จึงเห็นว่าฝ่ายการเมืองต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว และไม่มีข้อสั่งการ  และไม่มีความจำเป็นที่ฝ่ายราชการต้องมารายงานรัฐมนตรีเป็นประจำ เพราะทุกอย่างมีขั้นตอน มีคำพิพากษา มีวิธีการ

เมื่อถามว่า สาเหตุมาจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่หรือไม่ ที่ทำให้การเพิกถอนนั้นยาก นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีหรอก เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นสิบปีแล้ว ส่วนที่มีการบอกว่ายุคนี้จะมีการช่วยเหลือกัน คำพิพากษาศาลฎีกาก็ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐบาล คสช. ยังไม่มีการเลือกตั้ง และจากนั้นมีคณะกรรมการกรมที่ดินตามมาตรา 61 ที่ตั้งเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ดำเนินการเรื่องนี้ ก็ตั้งโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยขณะนั้น ส่วนตนเป็น รมว.สาธารณสุข ตนจะไปมีอิทธิพลอะไรเหนือ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากเอาการเมืองเข้ามายุ่งก็จะวุ่นวายแบบนี้ ทั้งนี้ ถามว่าจะไปสั่งอธิบดีกรมที่ดินให้ทำสิ่งที่ผิดใครจะไปทำ เพราะท่านเหลืออายุราชการ 1-2 ปี ท่านไม่ทำหรอกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งไม่สมเหตุสมผล ตนเคยพูดแก่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยตลอดว่าไม่ต้องทำตาม

เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเอาคืนทางการเมือง หลังก่อนหน้านี้ ภท.ท้วงติงในหลายโครงการของพรรคเพื่อไทย นายอนุทินกล่าวว่า "อุ้ย วุฒิภาวะระดับนี้เอาคืนแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำตรงนี้ ขอยืนยันว่าเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมือง ทุกคนทำตามหน้าที่ เพราะถ้าเกี่ยวข้องการเมืองผมต้องรู้เรื่อง ต้องลงไปสั่ง ต้องขอให้เขาทำนู่นทำนี่ แต่ไปเช็กดูได้ว่าไม่มี"

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาที่ดินเขากระโดง ที่มีปัญหาระหว่างกรมที่ดินกับการรถไฟฯ ว่า เรื่องนี้เคยอภิปรายในสภาไปแล้ว ขณะนี้อยากรักษาบรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทราบว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งที่ดินดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของนายสุริยะ จึงอยากให้สอบถามนายสุริยะ เพราะห่วงว่าหากพูดไปเกรงว่าจะหยิบบางประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็ทราบว่าประชาชนห่วงใยเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ประเด็นข้อกฎหมาย กระบวนการ ยังไม่จบ เชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงคำพิพากษาศาลปกครองให้เพิกถอนที่ดินเขากระโดง อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ แต่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนว่า โดยหลักแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกรมที่ดินในเรื่องนี้นั้น มองว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร หากลำดับเรื่องดีๆ หน่วยงานมาร่วมกันชี้แจง ตนคิดว่าจะตรงกันได้ และไม่ใช่เรื่องว่าคิดพิพากษาของศาลหรือคำสั่งอธิบดีใครใหญ่กว่าใคร ตนเห็นว่าไม่ควรพูดกันคนละที น่าจะตั้งโต๊ะร่วมกัน และพูดกันเสียทีเดียว จะได้เข้าใจว่าเดิมที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร

 “โดยหลักการต้องยึดตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แต่กระบวนการและขั้นตอนยังไม่ตกลงกันให้ชัดเจน ไม่ได้มานั่งจับเข่าคุยกัน ผมคิดว่าถ้ามาจับเข่าคุยกันคงไม่เป็นปัญหามากนัก ย้ำว่าหากมีการพูดคุยกัน คงไม่จบลงที่การฟ้องร้อง เพราะที่หลวงก็คือที่หลวง ที่เอกชนก็คือที่เอกชน แค่นั้นเอง แก้ปัญหาสมมุติว่าเป็นที่หลวงแล้วให้เอกชนไปอยู่ เราจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ให้เขาเช่าในราคาถูก อย่างนี้เราก็ทำกันเป็นปกติในกรณีที่ราชพัสดุ อย่างกรณีที่อยู่มานานจนคิดว่าเป็นที่ของตัวเอง พอพิสูจน์สิทธิกันได้ว่าเป็นของใครก็ทำตามกติกา ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอก แค่คุยกันคนละทีสองที” นายปกรณ์กล่าว

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.พรรคประชาชน   ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลไปแล้วว่า ให้ยึดคืนเขากระโดงจากการรถไฟฯ แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่าอธิบดีกรมที่ดินก็มีหนังสือออกมาว่า ไม่จำเป็นต้องทำตามคำพิพากษาของศาล โดยในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ มาพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน ว่าเรื่องดังกล่าวได้ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมายหรือไม่ และอาจจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงต่อไป

วันเดียวกัน นายภูมิธรรมแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อพิจารณาผลกระทบ และมีประชาชนมายื่นเรื่องเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลแก้ไข โดยร่างทั้งสองฉบับได้มีการบังคับใช้มานาน จึงต้องมีการทบทวน

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินให้ชัดเจน ไม่ให้ขยายพื้นที่อีก และกำหนดให้โครงการดำเนินการในพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีแนวเขตโครงการที่กำหนด ไว้ในแผนที่ท้าย จำนวน 6 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่วันที่มีข้อยุติแล้ว ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ มีจำนวน 4 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว, อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น จังหวัดจันทบุรี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรี

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงเหตุผลในการตราพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับนี้ หลักการสำคัญคือเพื่อให้คนที่ขณะนี้อยู่ในป่าสามารถทำมาหากิน และอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ระหว่างที่ตรวจสอบหรือพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ว่าตกลงพวกเขาอยู่มาก่อนหรืออยู่หลังประกาศเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า ซึ่งตามกฎหมายเดิมระบุว่า ใครก็ตามอยู่ในพื้นที่ป่าจะต้องมีความผิดทางอาญาสถานเดียว ทำให้เกิดปัญหาระหว่างพี่น้องประชาชนกับหน่วยงานราชการเสมอมา จึงมีการแก้ไขกฎหมายสองฉบับนี้ในปี 2562 โดยมีการกำหนดกฎบทเฉพาะกาลว่า ประชาชนที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ สามารถอยู่อาศัยทำมาหากินระหว่างมีการพิสูจน์สิทธิได้โดยไม่เป็นความผิดอาญา นี่คือหัวใจสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ไม่ได้ตัดสิทธิ์พี่น้องประชาชนเพื่อพิสูจน์สิทธิ และไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการบรรเทาความผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายเก่า ดังนั้น พี่น้องประชาชนสามารถอยู่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป แต่ระหว่างนั้นจะมีการพิสูจน์สิทธิ โดย ครม.จะมีแนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

“หลักการจริงๆ คือการที่คนอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข ถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่ได้คิดเหมือนระบบดั้งเดิมว่าใครก็ตามที่อยู่ในป่าแล้วจะมีความผิดตลอดเวลา เป็นการอยู่เพื่อพิสูจน์สิทธิ หากเขาอยู่ในที่ดินนั้นมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า หากพิสูจน์ได้ทางราชการก็ต้องเพิกถอนพื้นที่ที่เขาอยู่ออกจากการเป็นเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการะบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' กลับสู่สนามการเมือง 100 % ถ้าเป็นฟุตบอลก็ในฐานะเจ้าของทีม ชอบเอาเปรียบคู่ต่อสู้

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า