เลขาฯ กฤษฎีกาชี้ชัดยกเลิก "เอ็มโอยู" ฝ่ายเดียวได้แต่ไม่ควร หวั่นกระทบความสัมพันธ์ ต้องเจรจากัน วอนอย่าใช้คำว่า “พื้นที่ทับซ้อน" จะเสียประโยชน์ แนะให้ใช้ “พื้นที่อ้างสิทธิ” ตาม “รัฐบาลบิ๊กตู่” รมว.กต.ยืนยันเอ็มโอยู 44 เป็นกรอบเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ไม่มีผลกระทบต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่ายจนกว่าจะตกลงกันได้ “บิ๊กป้อม” รูดซิปปาก แต่สั่ง พปชร.ทำหนังสือเปิดผนึกจี้นายกฯ- ครม.ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ชี้สุ่มเสี่ยงเสียดินแดน เตือนผ่านรัฐสภาใช้บังคับไม่ได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 พฤศจิกายน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 สามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้หรือไม่ว่า ตามหลักการทำเอ็มโอยูมีจุดเริ่มต้นมาจากสองประเทศว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราเป็นคนริเริ่มทำและทำฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำ ถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ควรหรือไม่คือ ไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เราเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงการอ้างพื้นที่ทับซ้อน นายปกรณ์อธิบายว่า เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใคร จะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้นเอ็มโอยูที่ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่าอันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ
ถามอีกว่า การใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายปกรณ์ยอมรับว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล ตนแนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีของใคร เป็นของใครแน่ จะแบ่งกันอย่างไร การใช้คำว่าทับซ้อนคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้
"แต่หากเราคุยกันเป็นพื้นที่ต่างคนต่างอ้างสิทธิ มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ผมพูดในแง่ทางวิชาการ ไม่มีการเมือง ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิมาตลอด ไม่เคยใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน" นายปกรณ์กล่าว
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 44 ว่า MOU 44 มีที่มาจากการที่ไทยและกัมพูชาต่างไม่ยอมรับการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทางทะเลที่แต่ละฝ่ายประกาศ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศระบุให้ในกรณีเช่นนี้ ประเทศที่อ้างสิทธิจะต้องเจรจาทำความตกลงเพื่อหาทางออกด้วยกัน โดยสาระสำคัญของ MOU 44 นั้น คือการกำหนดกรอบและกลไกการเจรจา โดยให้ทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต้องตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC ขึ้น เพื่อทำการเจรจาพร้อมกันไปใน 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยไม่สามารถแยกการเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศวางไว้ ทั้งนี้ การยกเลิก MOU 44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด
MOU ไม่มีผลต่อเขตอธิปไตย
รมว.การต่างประเทศอธิบายว่า MOU 44 มีลักษณะเป็นข้อตกลงชั่วคราว หรือ Provisional Arrangement ซึ่งเป็นเพียงการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะวางกรอบและกลไกการเจรจากันเท่านั้น การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะไม่เกี่ยวกับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด เพราะเกาะกูดเป็นของไทยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น MOU 44 มีมาตรการป้องกันที่รัดกุม หรือ Safeguard Clause ในข้อ 5 ที่ระบุเป็นเงื่อนไขบังคับว่า “จนกว่าจะได้มีการตกลงการแบ่งเขตทางทะเลให้แล้วเสร็จ MOU และการดำเนินการต่างๆ ตาม MOU นี้ จะไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย”
"เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเจรจาตามกรอบ MOU 44 นี้ จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่าย จนกว่าจะสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทำความตกลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกัน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อนด้วย ซึ่งหมายถึงว่า ความตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย จึงแปลกใจต่อผู้ที่พยายามโยงเรื่องเกาะกูดเข้ากับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนี้" นายมาริษกล่าว
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ปฏิเสธการตอบคำถามถึงกรณีการตั้งคณะกรรมร่วมเทคนิค (เจทีซี) ของฝ่ายไทย เพื่อเจรจาการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ต้องมีต้องมีบุคลากรของกระทรวงพลังงานเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ โดยตอบเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ ต้องถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามหลักการแล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการหรือไม่ นายพีระพันธุ์ย้ำคำเดิมว่า ไม่ทราบ ตนไม่เคยเกี่ยวข้อง เมื่อถามย้ำว่า การแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล รมว.พลังงานจะต้องเข้าไปร่วมพูดคุยหรือไม่ นายพีระพันธุ์ยังคงย้ำอีกครั้งว่า ไม่ทราบ
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เดินทางกลับจากพรรค ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารและ สส.พรรคประจำสัปดาห์ โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีเอ็มโอยู 44 ซึ่ง พล.อ.ประวิตรเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 แต่ พล.อ.ประวิตรเม้มปากเงียบ ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน
จากนั้น พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. แถลงว่า พล.อ.ประวิตรมีนโยบายชัดเจนว่าจะทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการยกเลิก MOU 2544 และรักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดินไทย ที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ด้านนายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า ได้หนังสือเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้ เนื้อหาระบุว่า ตามที่นายกฯ ได้มีดำริให้เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชาตาม MOU 2544 เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียม พปชร.ได้ศึกษาผลกระทบแล้ว พบว่ากรณีไทย-มาเลเซีย และไทย-เวียดนาม ทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามกฎหมายสากล ต่างกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เนื่องจากแผนที่แนบ MOU 2544 ได้ปรากฏเส้นเขตแดนของประเทศกัมพูชาที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และรวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทะเลอาณาเขตของเกาะกูดด้านทิศใต้ รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทย เข้าเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชานำมาใช้เป็นกรอบการเจรจา ทั้งที่เมื่อปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยได้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยไว้แล้ว
ไม่ผ่านรัฐสภาบังคับใช้ไม่ได้
"การยอมรับเส้นเขตแดนของฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวอ้างโดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด นอกจากนี้ MOU 2544 อาจเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 178 ถึงแม้จะใช้ชื่อว่า "MOU" โดยมิได้ใช้คำว่าหนังสือสัญญาก็ตาม ดังนั้นการที่ MOU 2544 จัดทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ จะทำให้นายกฯ และ ครม.ต้องรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้"
นายชัยมงคลกล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตรและ สส.พปชร. จึงขอเรียกร้อง 3 ข้อประกอบด้วย 1.ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยกเลิก MOU 2544 อย่างเร่งด่วน รวมไปถึงให้ดำเนินการแก้ปัญหาเขตอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด ต้องยึดตามกฎหมายทะเลที่เป็นสากล และดำเนินการเจรจาเฉพาะเรื่องเขตแดนทางทะเลให้เสร็จสิ้นก่อน โดยต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องเขตแดนทางทะเลและอำนาจอธิปไตยของชาติยิ่งไปกว่าผลประโยชน์อื่นใด โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไป 2.ให้นายกฯ สั่งการให้บุคคลและหน่วยงานรัฐ หยุดกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดข้อผูกพันตามกฎหมายอันจะนำมาซึ่งการเสียดินแดนอธิปไตยทางทะเลและผลประโยชน์ในทรัพยากรฯ ของชาติและของประชาชน 3.ให้ระลึกถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่ได้ถวายสัตย์ฯ ไว้ว่า "จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและของประชาชน และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายปาณวัฒน์ มุสิกะพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พรรคเพื่อราม พร้อมเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ ครม.พิจารณาและปฏิบัติกรณีเกี่ยวกับผลประโยชน์ในน่านน้ำเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา (เกาะกูด)
โดยระบุว่า ให้รัฐบาลคำนึงถึงและยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 มาตรา 121 วรรคสองอย่างเคร่งครัด ด้วยความรอบคอบและโปร่งใสทุกขั้นตอน ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มธุรกิจและผู้ได้รับประโยชน์จากสัมปทานใดๆ ในพื้นที่เจรจาร่วมเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ให้รัฐบาลนำประเด็นเจรจานี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา ตามมาตรา 178 วรรค 2 และ 3 เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางด้านนโยบายสาธารณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยที่การตัดสินใจใดๆ จะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภาอย่างเคร่งครัด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
ผบ.ทร.ดันฟริเกต2ลำ ลุ้นไฟเขียว‘เรือดำน้ำ’
ผบ.ทร.ดันฟริเกต 2 ลำ งบปี 69 เล็งใช้อู่ในประเทศต่อเรือ
พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ
"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.