‘โต้ง’ระเบิดเวลารบ. นั่งปธ.บอร์ดธปท.คนใหม่ เมินเสียงต้านการเมืองจุ้น

ไม่แคร์เสียงต้าน "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ม็อบ คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม บุก ธปท.ยื่นอีก 5 หมื่นรายชื่อขวางการเมืองจุ้น "พิชิต" เตือนรัฐบาลจุดระเบิดเวลาเสียเองและจะล่มในที่สุด ลูกศิษย์หลวงตามหาบัวหวั่นเกิดมหันตภัยร้ายแรง ระบบการเงินมั่นคงของชาติวินาศ ขณะที่ม็อบเชียร์ยื่น 1.5 หมื่นชื่อชงรองเลขานายกฯ หน้าทำเนียบฯ หนุน "เสี่ยโต้ง" ก่อนหอบรายชื่อส่ง ธปท.ทันที 

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ เป็นประธานคัดเลือก โดยการประชุมใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง ก่อนจะเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14.45 น.  โดยไม่มีกรรมการคัดเลือกคนใดออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ขณะที่นายสถิตย์เอง ภายหลังการประชุมได้แจ้งเป็นเอกสารต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า กระบวนการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และเลขานุการจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป กล่าวคือกรณีประธานกรรมการฯ จะนำเสนอชื่อต่อ รมว.การคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วให้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะนำเสนอต่อ รมว.การคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

สำหรับตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.นั้น มีการเสนอชื่อจาก 2 ฝ่าย คือ กระทรวงการคลังที่เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.การคลัง ขณะที่ฝ่าย ธปท.ได้เสนอชื่อนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน  และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท.ครั้งนี้ มีเสียงคัดค้านจาก 4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. รวมทั้งกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ต่อบุคคลที่เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง อันเนื่องจากมีความกังวลว่าจะทำให้การเมืองครอบงำการทำงานของ ธปท.ได้

ทั้งนี้ มีรายงานว่าที่ประชุมมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ซึ่งหมดวาระเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

สำหรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นอดีตรองนายกฯ และ รมว.การคลัง ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน), อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้เสียงส่วนใหญ่ของกรรมการคัดเลือก 7 คน  เห็นว่านายกิตติรัตน์เหมาะสมที่สุดในบรรดาแคนดิเดตที่ส่งชื่อมา 3 คน แต่สังคมภายนอกยังมองว่ากรรมการเลือกตามใบสั่งจากฝ่ายการเมือง จนมีกระแสข่าวว่า ชื่อที่ฝ่ายการเมืองในกระทรวงการคลังจะส่งมาแทนคือ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลังมาก่อน แต่ในที่สุดกรรมการคัดเลือกก็มีมติเลือกนายกิตติรัตน์เช่นเดิม โดยไม่สนเสียงต้านแต่อย่างใด

ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. 7 คน ประกอบด้วย 1.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก 2.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 3.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 4.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 5.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 6.นายปกรณ์ มาลากุล  ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 7.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ระเบิดเวลาล่มรัฐบาล

ด้านนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อระเบิดเวลา  ระบุว่า "ก็เดินหน้ากันไปหากมั่นใจว่ารับผลกระทบได้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็เหมือนระเบิดเวลาที่ถูกจุดชนวนทิ้งไว้ รัฐแทนที่จะเข้าใจความเป็นองค์กรที่ต้องปลอดการแทรกแซง แต่กลับเป็นคนจุดระเบิดเวลาเสียเอง ระเบิดมันมาพร้อมๆกัน ทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เทวดาชั้น 14 บ่อนกาสิโน บอร์ดแบงก์ชาติ จากระเบิดเล็กๆ เมื่อรวมๆ กันมันจะล่มรัฐบาลได้ในที่สุด"

ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าเวลา 09.30 น. ที่บริเวณหน้าประตู ธปท. ฝั่งใต้สะพานพระราม 8 มีกลุ่มมวลชนซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย  (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมกันอีกครั้งเหมือนเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.ผ่านการเลือกประธานบอร์ด ธปท. พร้อมยื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้านอีก 51,980 รายชื่อ จากที่สัปดาห์ก่อนมายื่นไว้แล้ว 20,999 รายชื่อ โดยมี นายศรัณยกร อังคณากร ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท.เป็นผู้รับมอบหนังสือ

โดย คปท., ศปปส.และกองทัพธรรมได้ออกแถลงการณ์ว่า มีความห่วงใยบ้านเมืองและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ได้รวมพลังลงชื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเมืองแทรกแซง ธปท. เนื่องจากถ้ายอมให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอ จนไม่เหลือหน่วยงานที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายการเมืองที่ไม่ถูกต้องได้

 “บุคคลที่จะไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และคณะกรรมการ ธปท.จึงต้องมือสะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย และไม่ควรมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มธุรกิจและฝ่ายการเมือง มิฉะนั้นจะเกิดกรณีแสวงหาประโยชน์มหาศาลจากนโยบายที่เป็นความลับของ ธปท.บนหายนะของประเทศ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะสมของกรรมการคัดเลือก และปฏิบัติหน้าที่คัดเลือก ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับต่อแรงกดดันทางการเมือง” เนื้อหาที่ระบุไว้ในแถลงการณ์

นอกจากนี้ แกนนำมวลชนได้ขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ

มหันตภัยร้ายแรงระบบการเงิน

ขณะที่ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อคัดค้านการคัดเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งเป็นประธาน ธปท. มีใจความว่า "คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในฐานะประชาชนไทยที่เทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหนือศิรเกล้า ประการสำคัญ ได้เสียสละเงินทองและร่วมปกป้องทุนสำรองปราการด่านสุดท้ายของชาติตามคำเตือนขององค์หลวงตาจนสำเร็จ พวกเราเห็นว่า ธปท.ต้องไม่ถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง มิฉะนั้น จักบังเกิดมหันตภัยร้ายแรงต่อระบบการเงินมั่นคงของชาติให้วินาศไปได้อย่างง่ายดาย เฉกเช่นหลายประเทศที่เคยมั่งคั่งมาก่อน แม้ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า แต่เงินของชาติกลับเสื่อมค่านำพาประเทศให้ตกหล่มลึกแห่งวังวนวิกฤตเศรษฐกิจ"

"คณะศิษย์ฯ ได้ติดตามได้พิจารณาโดยธรรมอย่างปราศจากอคติ จนเห็นพ้องต้องกันไม่ยอมรับ 'นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง' เข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าประธานหรือแม้แต่กรรมการก็ไม่สมควร เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และแสดงตนชัดเจนถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการเมือง เคยให้สัมภาษณ์ แสดงพฤติกรรม และมีเจตคติชัดแจ้งต่อสายตาสาธารณชน ถึงการครอบงำและแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการทำร้าย 'หลักธรรมาภิบาลที่ดี' เป็นการทำลายความเป็นอิสระซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดของ 'ระบบธนาคารกลาง' "

"ในขณะที่คณะศิษย์ฯ ต่างคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โดยสถานภาพแห่งการดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการ ธปท.' และ/หรือ 'กรรมการ ธปท.' นั้น ทุกท่านผู้เสนอตัวต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องดำรงตนเข้มงวดกวดขันเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามกว่าบุคลากรในตำแหน่งอื่นใด ทั้งการณ์กลับเป็นตรงข้าม 'นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง' มีความด่างพร้อยทางด้านจริยธรรม มีพฤติการณ์ 'โกหกสีขาว' (white lies) ซ้ำซาก เพียงเพื่อมุ่งรับใช้การเมือง มิหนำซ้ำ ยังเคยอวดศักดาประกาศว่าจะถอดผู้ว่าฯ ธปท.ให้พ้นไปจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ว่าฯ ธปท.คัดค้านรัฐบาลมิให้เข้ามาล้วง 'ทุนสำรองของชาติ' ไปใช้แบบอีลุ่ยฉุยแฉก เพียงเพื่อสนองนโยบายประชานิยม"

"คณะศิษย์ฯ ขอน้อมนำคำสอนโดยย่อขององค์หลวงตาที่สอดคล้องกับกรณีว่า ความอยากความทะเยอทะยานด้วยอำนาจบาตรหลวงที่เอากฎหมายมาบังหน้า มาบีบบี้สีไฟประชาชนอยู่เบื้องหลัง อย่าเอามาใช้ในเมืองไทยของเรา  เมืองไทยจะล่มจม ให้เอาอรรถเอาธรรมเข้ามาสู้กัน มันถึงผสมกันเป็นความแน่นหนามั่นคงเจริญรุ่งเรืองของชาติ ชาติไทยเรานี้จะสงบร่มเย็นด้วยธรรมนะ… ความเห็นแก่พวกพ้องของตัว… นี่ละมันจะทำลายชาติบ้านเมือง ปัดออกให้หมด… ให้เห็นแก่คนไทยล้วนๆ อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ต่างคนต่างปรึกษาหารือกัน จึงเรียกว่า เราเป็นชาติไทย”

ม็อบเชียร์บุกทำเนียบฯ

ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิฑูรย์ ลี้ธีระนานนท์ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม เข้ายื่นรายชื่อประชาชน 15,000 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการธปท. เพื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

โดยนายวิฑูรย์กล่าวว่า ตนสนับสนุนนายกิตติรัตน์ให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องของการกู้เงินและการธนาคารที่เป็นธรรมแก่ประชาชน และด้วยประสบการณ์ของนายกิตติรัตน์ในยุคสมัยที่ผ่านมา เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาพอสมควร โดยเฉพาะยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมองว่านายกิตติรัตน์มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะพาเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ส่วนที่มีการคัดค้านโดยระบุว่าเป็นคนการเมือง และไม่อยากให้เข้าไปครอบงำองค์กรนั้น มองว่านายกิตติรัตน์ไม่ได้เป็นคนการเมือง ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ  มาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว

 ขณะที่นายสมคิดกล่าวว่า ความจริงวันนี้จะมีผู้มายื่น 2 คณะ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ตนทราบข่าวภายหลังว่า คณะที่คัดค้านจะไปยื่นโดยตรงที่ ธปท. ส่วนที่นายวิฑูรย์ยื่นมาครั้งนี้ ตนจะนำเรื่องไปส่งที่ ธปท.เช่นกัน  ซึ่งการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนแล้ว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากมีการเลื่อนประชุมมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างความไม่เชื่อมั่นได้ นายสมคิดกล่าวว่า รายละเอียดนั้นตนไม่ทราบ แต่เราต้องรับเรื่องทั้งสองฝั่ง และวันนี้เท่าที่ตนคุยกับคนที่เขารู้เรื่อง จะมีการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้เสร็จในวันนี้ จะไม่เลื่อนอีก

เมื่อถามว่า รัฐบาลเตรียมรับมือม็อบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีนี้หรือยัง นายสมคิดกล่าวว่า ไม่ต้องเตรียม เกิดมันเกิดอยู่แล้ว มาก็มาเป็นธรรมชาติ ก็คุยกันปกติธรรมดา รับฟังทุกเสียงอยู่แล้ว ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน ถ้าชื่อ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' ผ่าน ครม.จะมีการฟ้องกันระนาวแน่

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ ว่า กรณีแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น