อสส.ชงศาลรธน.คดีล้มล้างฯ

อัยการสูงสุดส่งเอกสารปม “ธีรยุทธ” ร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ครอบงำ-ล้มล้างให้ศาลแล้ว เผยสอบข้อมูลผู้ร้องและผู้ถูกร้องเพิ่มแล้ว ยกเว้น “พ่อนายกฯ” จับตาศุกร์ 22 พ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมจะรับคดีหรือไม่ “อนุทิน” บอกไม่ชอบกินมาม่ากินแต่ไวไว เผยวันที่ 14 ส.ค.กลับไปก่อน “สนธิญา” ชี้คำตอบ “พี่โทนี่”  เป็นใบเสร็จมัดชัด “จตุพร” ฟันธงศาลรับคดีแน่ ลั่นข้ามเรื่องชั้น 14 ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องขัดพระบรมราชโองการ

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งถือเป็นวันครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งเอกสารการดำเนินการ ในกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่ามีการดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด

รายงานข่าวจาก อสส.แจ้งว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อสส. ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นรายละเอียดในการสอบถ้อยคำทั้งทางฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นแต่ประการใด เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญถามในเรื่องขั้นตอนว่า ได้ยื่นเรื่องมาที่ อสส.แล้วหรือไม่ และดำเนินการอะไรไปบ้าง

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานพิจารณาดังกล่าวได้มีหนังสือเชิญนายธีรยุทธ นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เพื่อทราบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาของ อสส. โดยนายธีรยุทธได้เดินทางไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ส่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปเป็นตัวแทนพรรคให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 แต่ไม่ปรากฏรายงานข่าวว่านายทักษิณไปให้ถ้อยคำต่อ อสส.แต่อย่างใด

ด้านนายธีรยุทธกล่าวทางเนชั่นทีวีว่า เพิ่งทราบจากข่าวเช่นกันว่า อสส.ได้ส่งบันทึกชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องชี้แจงมายังตนเอง

แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ภายหลัง อสส.ได้ทำหนังสือส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เดิมจะหยิบยกคำร้องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 13 พ.ย.นี้ ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง แต่เนื่องจากตุลาการติดภารกิจราชการต่างประเทศ รวมถึงในวันพุธที่ 20 พ.ย.ด้วย ดังนั้นการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.

ในขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ 6 พรรคร่วมรัฐบาลไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 ส.ค. ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้ถูกร้องปมนายทักษิณครอบงำ ซึ่งนายทักษิณระบุว่าไม่ได้ครอบงำ  แต่เพียงไปกินมาม่ากัน ว่าวันที่ 14 ส.ค.กินไวไว ทุกวันชอบรสหมูมะนาว

นายอนุทินระบุว่า เวลาไปเยี่ยมนายกฯ ทักษิณ บางทีท่านก็เอามาม่ามาเลี้ยง เพราะบางทีไปตอนบ่ายๆ พอหิวก็เอามาม่ามาเลี้ยง แต่วันที่ 14 ส.ค.ไม่ได้กินออกมาก่อน เพราะมีนัด และวันดังกล่าวก็ไปคุยกับหัวหน้าพรรคทั้งหลายเพื่อติดตามสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร

กินมาม่าเป็นใบเสร็จ

นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีของนายธีรยุทธ เพราะการที่นายทักษิณกล่าวว่าไปกินมาม่า เท่ากับเป็นการยอมรับว่าแกนนำพรรคร่วมไปจริงๆ เมื่อนักการเมือง แกนนำพรรคการเมือง รัฐมนตรีที่ไปร่วม เท่ากับเป็นการยอมให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าไปครอบงำ ชี้นำ และนายทักษิณซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ และไม่แปลกใจกับคำพูดของนายทักษิณ เพราะเขาเป็นคนพูดเช่นนี้มาตลอด และเห็นว่ามันไม่ได้เป็นประโยชน์กับการที่ท่านบอกว่าไปกินมาม่า เพราะมันไม่เป็นเหตุผลใดๆ แต่มันจะยิ่งไปเข้าข้อกฎหมายว่าเป็นการครอบงำ ชี้นำ

เมื่อถามว่า จะเป็นปัญหาสะท้อนมาที่รัฐบาลหรือไม่ นายสนธิญากล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่เห็นว่าปัญหาประดังเข้ามาที่รัฐบาล ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ก็ไม่ค่อยมีสมาธิในหลายเรื่อง บางเรื่องท่านก็โชคร้าย เช่นกรณีความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เหตุการณ์เกิดในสมัยที่พ่อบริหาร แต่ต้องมาจบในรุ่นลูก และมีอีกหลายเรื่องที่ขมึงทึง (เขม็งเกลียว) เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็เห็นใจรัฐบาลก็ให้กำลังใจ

ถามว่า การที่นายทักษิณอ้างว่าไปกินมาม่า เป็นการสอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยระบุว่ามีการเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่สุดท้ายกลับมีการเลือก น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ ทำให้ไม่ใช่การครอบงำ  นายสนธิญากล่าวว่า เนื้อในของการหารือไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องการให้รัฐบาลเป็นชุดเดิม  และไปขอแกนนำพรรคการเมืองแต่ละพรรค เท่ากับเป็นการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เข้าข่ายครอบงำ ชี้นำ ถ้าไม่เช่นนั้นใครจะเข้าไปได้ ไปกินมาม่าทำไมตอนตีหนึ่งตีสอง ร้านข้าวต้มข้างทางก็มี สามารถกินได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า กรณีนี้เข้าทางฝ่ายค้านหรือไม่ นายสนธิญากล่าวว่า เข้าทางผู้ร้องเรียนมากกว่า นอกจากนี้บางครั้งคำพูดของอดีตนายกฯ ก็มัดตัวท่านเอง ทำให้รู้สึกเห็นใจนายกฯ คนปัจจุบันและรัฐบาลชุดนี้ เพราะบางครั้งหากไม่มีประเด็นหรือคำพูด หรือหากอดีตนายกฯ หยุดพูดเสียบ้าง  รัฐบาลเองก็พูดน้อยๆ แล้วทำงานไปก็จะดีกว่า

เมื่อถามย้ำว่า การยอมรับว่าไปกินมาม่านั้นจะเป็นหมัดน็อกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายสนธิญากล่าวว่า ไม่หรอก แต่เป็นการยอมรับว่าเท่ากับไปจริงๆ เพราะหากนายทักษิณนั่งกินคนเดียวมันก็ไม่เป็นประเด็น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า เชื่อว่าศาล รธน.จะรับพิจารณาคำร้อง 6 ข้อของนายธีรยุทธไว้พิจารณา เพราะคำร้องข้อที่ 1 กรณีนายทักษิณไม่ยอมรับโทษ 1 ปี โดยไปนอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ซึ่งเป็นการขัดพระบรมราชโองการลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ที่นายทักษิณยอมรับว่าได้กระทำผิดในข้อหาจริง แต่ได้สำนึกแล้ว ซึ่งแม้องค์กรตรวจสอบอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญกับคำร้องข้อที่ 1 แต่ข้อนี้เห็นว่าคงเข้าข่ายหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงที่สุดก็เป็นดุลพินิจของศาล รธน.

มองข้ามชั้น 14 ไม่ได้

นายจตุพรกล่าวว่า การพยายามให้ข้ามปัญหาชั้น 14 นั้น มันควรข้ามกันได้ด้วยหรือไม่ เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมและเป็นพระบรมราชโองการ จะก้าวข้ามได้ด้วยหรือ ไม่ใช่อะไรสู้ไม่ได้ก็ข้ามไปเอาเรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์ ขณะนี้คนไทยยอมให้นายทักษิณดูแคลน ด้วยการพูดถึงแกนนำพรรคร่วมถูกเรียกตัวเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าว่าไปกินมาม่า ตอบแบบนี้แสดงถึงความไม่ยี่หระ ไม่ให้เกียรติประชาชนและองค์กรตรวจสอบต่างๆ ทั้งศาล รธน.ยังไม่รู้สึกรู้สากับการสัมภาษณ์เช่นนี้เลยหรืออย่างไร

“วันนี้ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกันได้ แต่พรรคเหล่านั้นอยู่ในบริบทที่ไม่สบายใจต่อกัน เพราะทุกคนเห็นกระดานการเมืองข้างหน้า หากล่มหัวจมท้ายก็อาจเป็นเหมือนพรรคชาติไทยกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้อาจถูกกันเป็นพยานว่าไปกินมาม่ากันจริงหรือไม่” นายจตุพรกล่าว

ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บริวารของนายทักษิณออกมาโจมตีคนที่เห็นต่างทางการเมือง และทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในระบอบทักษิณอย่างเข้มแข็ง ว่าเป็นพวกหน้าเดิม เกิดจากความเห็นเมื่อแพ้เลือกตั้งแล้วไม่ยอมรับ และเหลือเชื่อเวลาผ่านมา 16 ปีแล้ว คนโจมตีรัฐบาลยังเป็นคนกลุ่มเดิมนั้น ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ และทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน และวันนี้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ชนะเป็นที่ 1 ได้รับเลือกตั้งเป็นที่ 2 ทำเอ็มโอยูกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่กลับฉีกเอ็มโอยูทิ้ง ตระบัดสัตย์กับประชาชน กระโดดข้ามขั้วจับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยม ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้นายใหญ่อย่างนายทักษิณได้มีโอกาสกลับประเทศ เข้าสู่อำนาจและฮั้วประโยชน์ทางการเมืองกับฝ่ายอนุรักษนิยม และยังมีทัศนคติดูถูกประชาชนเหมือนเดิม โดยผลักดัน น.ส.แพทองธาร เด็กเมื่อวานซืนที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ขาดวุฒิภาวะขึ้นเป็นนายกฯ เหมือนกับประเทศนี้จะทำอะไรก็ได้ เป็นการตบหน้าหรือดูถูกคนไทยทั้งประเทศ

 “สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จำเป็นอยู่ดีที่คนที่ออกมาคัดค้านจะเป็นคนหน้าเดิมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อคนพวกเดิมในระบอบทักษิณเข้ามาบริหารประเทศ และกำลังบริหารประเทศด้วยรูปแบบเดิมๆ คนหน้าเดิมก็ต้องออกมาตรวจสอบ คัดค้านตามปกติ อยากให้ลูกน้อง ลิ่วล้อ บริวารของนายทักษิณได้สงบปากสงบคำ และเข้าใจบทบาทการเมืองของคนเห็นต่างเสียใหม่ ถ้าทำดีคงไม่มีใครออกมาคัดค้านหรอก” นายเทพไทระบุ

มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พ.ย. พรรคมีกำหนดจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรคตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างพรรค โดยการประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นที่อาคารวอยซ์ทีวีเดิม ซึ่งมีการปรับปรุงเป็นที่ทำการพรรคแห่งใหม่เป็นครั้งแรก โดย น.ส.แพทองธารในฐานะหัวหน้าพรรคจะมาร่วมประชุมด้วยหลังปฏิบัติภารกิจนายกฯ เสร็จสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กดดันรางวัลเยอะ ‘แพทองธาร’ ดีใจนึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียลมา 3 เดือน!

"อิ๊งค์" กดดันหนัก! บริหารประเทศ 3 เดือนได้รางวัลเพียบ ดีใจโพลสำรวจ ปชช.ให้เบอร์ 1 “นักการเมืองแห่งปี” นึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียล "หมอวรงค์" เฉ่งยับ!