นพดลย้ำMOU44ข้อดีอื้อ หมอวรงค์ข้องใจบิ๊กอ้วน!

“นพดล” ยัน MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา ซัดคนที่เรียกร้องให้ยกเลิกเหตุผลย้อนแย้ง อย่าใช้วาทกรรมเสียดินแดนจนทำความเสียหายเช่นในอดีต "จิรายุ” ลั่นอย่าเชื่อเฟกนิวส์เผลอไปยกเลิกเที่ยวเกาะกูด ผอ.ททท.ตราดกางตัวเลข  นทท. ไม่มีลด ขณะที่ “อนุทิน” ลงพื้นที่จันทร์นี้  “หมอวรงค์” ง้างปาก “ภูมิธรรม” ทำไมจึงยอมให้กัมพูชากำหนดพื้นทางทะเลด้วยการเล็งมาที่ยอดเขา จี้ยกเลิก MOU ค่อยมาเจรจาใหม่ เตือนหากยังดื้อ “พรรคเพื่อไทย” จะถูกเรียกว่า “พรรคเพื่อเขมร”

เมื่อวันอาทิตย์ นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า กระแสการเสียเกาะกูดเริ่มซาลงไป แต่ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่คือ กล่าวหาว่า MOU 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1.ไม่มีเนื้อหาของ MOU 44 ใดๆ เลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก 2.ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 3.เนื้อหาในข้อ 5 ของ MOU 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่าเนื้อหา MOU 44 และการเจรจาตาม MOU 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา และ 4.แผนผังแนบท้าย MOU ระบุไว้ทั้ง 2 เส้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ

“ถ้าตีความว่าการทำ MOU เท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา ก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแถลงไปแล้วว่า MOU เป็นเพียงข้อตกลงไปเจรจา ไม่ใช่เป็นการยอมรับเส้นของอีกฝ่าย”

นายนพดลกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมันและก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ทฤษฎีถูก แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซีจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจา ก) แบ่งเขตทางทะเล และ ข) พื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ MOU 44 นี่คือข้อดีของ MOU แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 ทำไม ทั้งๆ ที่มันป้องกันความกังวลของคนคัดค้าน มันย้อนแย้ง ถ้ายกเลิก MOU 44 จะมีผลตามมาคือ 1.การประกาศเขตไล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 26,000 ตร.กม. จึงยังคงอยู่ 2.ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ 3.ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี และ 4.ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของ MOU จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์

นายนพดลกล่าวต่อว่า ในประเด็น MOU 44 นี้ คนที่สงสัยโดยสุจริตก็มี แต่น่าเสียดายที่มีหลายคนที่ในอดีตเคยร่วมสร้างวาทกรรมเสียดินแดนในปี 2551 เพื่อหวังล้มรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งนี้ ภายหลังรัฐประหารปี 2557 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน OCA ตามกรอบ MOU 44 จนถึงปี 2566 เกือบ 8 ปี ซึ่งก็เป็นการทำตามกรอบที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกสิ่งที่พวกตนเคยใช้ดำเนินการ ประชาชนน่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ หากมีข้อห่วงใยโดยสุจริตควรส่งไปยังรัฐบาล ดีกว่ากล่าวหาและบิดเบือนประเด็น

อย่าเชื่อเฟกนิวส์เกาะกูดยังแน่น

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากมีการปล่อยข่าวลือทำลายประเทศเรื่องเกาะกูด จนมีการปล่อยข่าวลบ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจไปเที่ยวและยกเลิกไปนั้น ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ที่สำคัญข่าวเกาะกูดที่ดังไปทั่วโลกกลับส่งผลให้นักท่องเที่ยวอยากมาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นกว่าทุกๆ ปี ดังนั้นข่าวเฟกนิวส์จึงเป็นข่าวเท็จล้วนๆ เพราะ 1.สถานการณ์บนเกาะกูดไม่มีสถานการณ์อะไรตามข่าวเฟกนิวส์แม้แต่น้อย 2.ไม่มีการขนกำลังทหารไทยไปเสริมกำลังใดๆ บนพื้นที่เกาะกูดเลย 3.ไม่มีทหารกัมพูชา หรือมีการเคลื่อนไหวใดๆ เข้ามาในพื้นที่ 4.ไม่มีประชาชนหรือนักท่องเที่ยวอพยพออกจากเกาะกูดมีแต่เข้าคิวรอจะเข้าไปเที่ยวมากขึ้น

นายจิรายุกล่าวว่า ขออย่าหลงเชื่อเฟกนิวส์ในโซเชียลที่ลือว่า “มีการเปิดฉากสู้รบระหว่างไทย-กัมพูชา” บนเกาะกูด ยืนยันว่า 1.ไม่มีนักท่องเที่ยวยกเลิกการจอง ยังเต็มแน่นเอี้ยดตามปกติ 2.โรงแรมรีสอร์ตสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รายงานว่าเต็ม   และยังมีนักท่องเที่ยว Waiting List หรือรอจองอยู่เป็นจำนวนมาก 3.บรรยากาศของทะเลรอบเกาะช่วงนี้น้ำสวยทะเลใส อากาศดี เป็นธรรมชาติมาก 4.บรรยากาศของนักท่องเที่ยวทุกหาดและย่านถนนคนเดินเต็มไปด้วยความคึกคัก

“ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมจากโซเชียล ซึ่งสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับประชาชน  และขอเตือนว่าการนำข้อมูลปลอม ข่าวปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านั้น ล้วนมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขณะนี้ตำรวจได้ทยอยดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว" นายจิรายุกล่าว

ว่าที่ ร.ต.กรกฎ โอภาส ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมการท่องเที่ยวเกาะกูด จังหวัดตราด หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันทางทะเลไทย-กัมพูชา MOU 44 จนมีการออกมาให้ข่าวทำให้การยกเลิกการจองห้องพักที่เกาะกูด 30% ว่า จากการสำรวจโดยใช้ฐานข้อมูล 20 โรงแรม แบ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว 6 แห่ง, 4 ดาว 3 แห่ง, 3 ดาว 9 แห่ง, 2 ดาว 2 แห่ง  ในการคาดการณ์นักท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม พบว่าอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1% ตามปกติ

ซึ่งจากสถิติอัตราการเข้าพักเกาะกูดเดือนพฤศจิกายน อัตราการเข้าพัก 72.40% จำนวนนักท่องเที่ยว 35,570 คน แบ่งเป็นคนไทย 14,228 คน  ชาวต่างชาติ 21,342 ราย สร้างรายได้ 205.34 ล้านบาท ขณะที่เดือนธันวาคม อัตราการเข้าพัก 74.51% จำนวนนักท่องเที่ยว 37,420 คน แบ่งเป็นคนไทย 14,968 คน ชาวต่างชาติ 22,452 คน รายได้ 216.98 ล้านบาท และเดือนมกราคม อัตราการเข้าพัก 77.52% จำนวนนักท่องเที่ยว 39,810 คน แบ่งเป็นคนไทย 15,924 คน ชาวต่างชาติ 23,886 คน รายได้ 235.90 ล้านบาท

ผอ.ททท.ตราดระบุว่า รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พยายามสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวผ่านการชี้แจงข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีบุคคลสำคัญในรัฐบาลลงพื้นที่ ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ที่จะลงพื้นที่ในวันจันทร์ที่ 11  พฤศจิกายนนี้ ส่วนทาง ททท.พยายามสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เน้นการสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริง และพยายามไม่พูดถึงข่าวดังกล่าว ไปพร้อมกับการออกแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่

ทำไมยอมเขมรกำหนดพื้นที่ทางทะเล

นายเดชาธร จันทร์อบ นายก อบต.เกาะกูด  กล่าวว่า การมีประเด็นของเกาะกูดในช่วงนี้ มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งดีก็คือทุกคนรู้จักเกาะกูดมากขึ้น แต่ไม่ดีก็คือนักท่องเที่ยวอาจจะรู้สึกไม่เชื่อมั่น แต่ไม่ได้น่ากลัวอะไร เพราะเกาะกูดยังเป็นของไทย 100%   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกาะกูดจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถรองรับได้ ห้องพักที่มีเพียง 1,400-1,500 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือจะมี 3-4 พันห้องก็ยังไม่เพียงพอ แต่วันนี้ทำเพิ่มไม่ได้ เพราะเอกสารสิทธิในที่ดินไม่มี ที่มีก็ยังพิสูจน์สิทธิไม่ได้ ติดค้างอยู่ที่ธนารักษ์ ดังนั้น การที่รองนายกรัฐมนตรี 2 คน และเป็นคนสำคัญของรัฐบาล อยากจะเรียกร้องให้ทั้งสองคนแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยเร็ว รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคของเกาะกูดที่ยังไม่เพียงพอ ทั้งถนน น้ำประปา หรือการสื่อสาร ไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียรเพียงพอ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวเกาะกูดต้องการให้ช่วยยกระดับเพิ่มขึ้นโดยเร็ว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ไปเกาะกูดไม่มีอะไรใหม่ มาลงพื้นที่เกาะกูดเพื่อมายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย เกาะกูดมีธรรมชาติที่สวยงาม พร้อมกับมาเยี่ยมกำลังพลที่ดูแลพื้นที่ ผมยังยืนยันว่า วันนี้ประชาชนไทย หรือแม้แต่ประชาชนเกาะกูด ไม่ได้กังวลใจว่า เกาะกูดไม่ได้เป็นของไทย เพราะเกาะกูดเป็นของไทยวันยังค่ำ ในเมื่อเกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่ทางทะเลโดยรอบเกาะกูด 200 ไมล์ทะเล (370 กม.) ทั้งน้ำทะล กุ้งหอยปูปลา ผิวดินใต้ทะเล รวมทั้งพื้นดินใต้ผิวดินใต้ทะเล แหล่งพลังงาน ต้องเป็นของไทยด้วย ไม่ใช่เป็นของไทยแค่ตัวเกาะ สิ่งที่คนไทยกังวลใจกันมากๆ ก็คือ เมื่อเกาะกูดเป็นของไทย ไทยเราไปยอมรับเส้นอาณาเขตทางทะเล (ไหล่ทวีป) ของกัมพูชา ที่เล็งผ่านยอดเขาที่สูงสุดของเกาะกูด ออกไปอ่าวไทยได้อย่างไร มันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนมหาศาลไทย เราต้องไม่ยอมรับที่กัมพูชาแบ่งอาณาเขตทางทะเลแบบนี้

“แม้จะมีการอ้อมเกาะกูดใน MOU 44 แต่ทิศทางที่เขากำหนดก็คือการเล็งมาที่ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด ออกไปอ่าวไทยเช่นเดิม แต่ยอมอ้อมตัวเกาะกูดให้ (เหมือนร่วมกันตบตาคนไทย) สิ่งที่ต้องถามรัฐบาลแบบนี้เพราะพวกท่านไปยอมรับแบบนี้ และกำหนดในแผนที่แนบท้าย MOU 44 ถึงเส้นแบ่งเขตนี้ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่เขาจะยอมรับ ผลที่พวกท่านยอมรับ มันจึงนำไปสู่พื้นที่ทับซ้อนที่มากผิดปกติ สูงถึง 26,000 ตร.กม. เมื่อพื้นที่ทับซ้อนมากขนาดนี้ แทนที่พวกท่านจะเจรจาเขตแดนใหม่ทั้งหมด ท่านยังไปเอื้อกัมพูชาว่า พื้นที่ที่จะพัฒนาผลประโยชน์ด้านพลังงาน ไม่ต้องเจรจาเขตแดนก่อน”

นพ.วรงค์ระบุว่า คำถามที่ตามมาว่า ทำไมพวกท่านจึงยอมกัมพูชามากขนาดนี้ ในเมื่อพวกท่านยอมแบ่งผลประโยชน์ก่อน ความเสี่ยงที่จะเสียดินแดนทางทะเลก็จะตามมา เพราะเขมรเขาจะอ้างได้เต็มที่แล้วว่า เมื่อเขาได้ผลประโยชน์พลังงาน เขาต้องมีสิทธิ์ได้ดินแดนทางทะเลด้วย เพราะไทยเรายอมรับเองตามหลักกฎหมายปิดปาก เหมือนที่เราเสียเขาพระวิหาร วันนี้จึงอยากบอกคุณภูมิธรรมว่า จุดเริ่มของปัญหาที่ประชาชนไม่พอใจคือ เกาะกูดเป็นของไทยทุกคนยอมรับ แต่ทำไมไทยเราจึงยอมรับให้กัมพูชาแบ่งพื้นที่ทางทะเล ด้วยการใช้ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูดซึ่งเป็นของไทยเป็นจุดอ้างอิง ช่วยอธิบายตรงนี้ด้วยครับคุณภูมิธรรม เพราะเส้นนี้ต่างหากที่ประชาชนสงสัย เพราะเส้นนี้ต่างหากที่คนไทยคัดค้าน ทำให้ไทยต้องแบ่งพลังงานให้เขมร รวมทั้งดินแดนทางทะเลในอนาคต คุณภูมิธรรมช่วยตอบให้ชัดๆ ด้วย อย่าตอบวนเวียนซ้ำซากว่าเกาะกูดเป็นของไทย เรื่องนี้ใครๆ เขารู้กันหมดแล้ว ถ้าตอบเรื่องนี้ไม่ได้ สุดท้ายก็ควรจะยกเลิก MOU 44 เพราะทำให้ไทยเรามีแต่เสียเปรียบ

“เพราะนายทักษิณกล่าวว่า MOU 44 คือบันทึกข้อตกลง ที่จะคุยกันในเรื่องที่ยังไม่ได้ตกลงกัน ยังไม่มีอะไรมาก ยังไม่ต้องเข้าสภา เพราะเป็นเพียงบันทึกข้อตกลง ถ้าเป็นตามนี้แสดงว่า ที่อุ๊งอิ๊งพูดว่า MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ก็ไม่จริง แบบนี้ถ้าพวกคุณต้องการปกป้องประโยชน์ของชาติจริง ควรยกเลิก MOU 44 เถิด แล้วให้เขมรกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเล ที่อิงกฎหมายระหว่างประเทศ ค่อยมาเจรจาใหม่ แต่ถ้าพวกคุณยังดื้อดึง ระวังนะเขาจะเรียกพรรคเพื่อไทยว่าพรรคเพื่อเขมร” นพ.วรงค์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง