จับตาเคาะประธานบอร์ดธปท.

จับตาประชุมเลือกประธานบอร์ด  ธปท.จันทร์นี้ จะเจอโรคเลื่อนหรือไม่ กรรมการฯ อุบเงียบกระแสคลังเปลี่ยนตัว “กิตติรัตน์” ม็อบนัดรวมพลังยื่น 45,000 ชื่อต้าน “เสี่ยโต้ง” วิรไทย้ำหากปล่อยไปประชานิยมปลายเปิดเกิดแน่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย.2567 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน   เปิดเผยว่า นายสถิตย์ได้นัดประชุมคณะกรรมการฯ  ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้ที่แบงก์ชาติ เพื่อลงมติเลือกประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท.อีก 2 คน ในเวลา 10.00 น. โดยเลื่อนจากเดิม 14.00 น. หลังก่อนหน้านี้เลื่อนการประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง และการประชุมรอบนี้จะเป็นครั้งที่ 3 

 “หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง นายสถิตย์พร้อมให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวผลการประชุมต่อสื่อมวลชนด้วยตัวเอง โดยตอนนี้มีการขอกันว่า ขอให้กรรมการฯ ทุกคนงดเว้นการให้ข่าวใดๆ กับสื่อ ส่วนกระแสข่าวที่ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอให้กระทรวงการคลังส่งชื่อคนอื่นมาแทนนายกิตติรัตน์ ณ ระนองนั้น เรื่องนี้ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย ขอให้รอฟังผลการประชุมที่จะออกมา” แหล่งข่าวระบุ

ด้านนายใจเพชร กล้าจน หรือหมอเขียว แกนนำกองทัพธรรม กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้  กองทัพธรรม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้นัดหมายประชาชนไปรวมตัวกันที่หน้าตึก ธปท. ในเวลา 09.00 น. เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท. ผ่านการเลือกประธานบอร์ด  โดยจะนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อผ่านการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อคัดค้านผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ล่าสุดจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 10 พ.ย. ยอดอยู่ที่ประมาณ 45,000 คน ไปยื่นเพิ่มเติมจากที่สัปดาห์ที่แล้วยื่นไป 29,000 รายชื่อ โดยตอนนี้ทราบมาว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เลื่อนเวลาการประชุมมาเป็นสิบโมงเช้า ก็กำลังพิจารณากันอยู่ว่าหลังยื่นรายชื่อเสร็จจะปักหลักรอฟังผลการประชุมต่อหรือไม่

 “เรายังหวังว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะฟังเสียงประชาชนและเสียงคัดค้านต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเป็นห่วงในเรื่องการไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงแบงก์ชาติ เพราะหากเกิดขึ้นจะเกิดผลเสียต่อภาพรวมอย่างมาก กรรมการทั้ง 7 คนไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะทำเป็นไม่รู้ไม่ได้ยินไม่ได้เด็ดขาด” หมอเขียวกล่าว

นายใจเพชรระบุว่า หากท้ายที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ลงมติคัดเลือกนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง กลุ่มก็จะเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อหยุดยั้งคัดค้าน โดยเท่าที่ได้มีการประชุมปรึกษากัน พบว่ามีช่องทางตามกฎหมายอยู่ ซึ่งจริงๆ กลุ่มคิดยื่นตั้งแต่ก่อนการประชุมวันจันทร์นี้แล้ว แต่กระบวนการต้องใช้เวลา เลยทำให้ดำเนินการได้ไม่ทัน แต่ยังสามารถทำได้ หากกรรมการคัดเลือกรายชื่อคนที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง เช่น คัดค้านในเรื่องปมมาตรฐานจริยธรรม ความไม่เหมาะสมในการถูกเสนอชื่อ เป็นต้น ตรงนี้มีการพิจารณาศึกษาอยู่ ขออุบไว้ก่อน ให้รอฟังผลที่จะออกมาก่อน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท.วันที่ 11 พ.ย.นี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ขณะที่ ธปท.เสนอมา 2 ชื่อคือ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และอดีตอธิบดีกรมศุลกากร กับนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หลังมีกระแสต่อต้านนายกิตติรัตน์ค่อนข้างแรง ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อ 4 พ.ย.ออกไป มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการฯ ขอให้กระทรวงการคลังเสนอชื่อคนอื่นมาแทนนายกิตติรัตน์ อีกทั้งมีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองในกระทรวงการคลังจะดันนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลังมาก่อน และสนิทกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน มาเป็นประธานบอร์ด ธปท.แทนนายกิตติรัตน์ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ว่ากระทรวงการคลังมีการส่งชื่อใหม่แทนนายกิตติรัตน์หรือไม่ รวมถึงก็ไม่ปรากฏข่าวว่านายกิตติรัตน์ขอถอนตัวแต่อย่างใด

 ขณะเดียวกัน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา  อัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำยืนยันจะไม่ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาในคดีขายข้าวบูล็อคอินโดนีเซีย ที่นายกิตติรัตน์เคยตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกา ซึ่งตามกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้ อสส.ไม่อุทธรณ์คดี แต่ ป.ป.ช.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีเองต่อศาลฎีกาได้ ทำให้คดีของนายกิตติรัตน์ยังไม่สิ้นสุด

ด้านนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท.  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ แคนดิเดตชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควร ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้

ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ

"11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่ายครับ"

ส่วนกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของอดีตผู้บริหาร ธปท. 4 ราย รวมทั้งนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่ลงชื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองแทรกแซง ธปท. ได้รวบรวมชื่อมากถึง 830 คน และออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.

ทั้งนี้ นอกจากการเลือกประธานบอร์ด ธปท.แล้ว ยังจะมีการลงมติเห็นชอบรายชื่อกรรมการ  ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมา 2 ชื่อคือ นายพงษ์ภาณุ แต่หากนายพงษ์ภาณุได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง กระทรวงการคลังก็จะเสนอชื่อบุคคลอื่นมาแทน ส่วนอีกคนที่เสนอชื่อมาคือ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อแทนที่นายมนัส แจ่มเวหา  อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ ก.พ.ที่หมดวาระ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง