นิกรเตือนพท. อย่าหักสภาสูง ปมประชามติ!

“นิกร” เตือนสติ “เพื่อไทย” อย่าดื้อปมประชามติ เพราะหากง้างกับสภาสูงรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เกิด “สรวงศ์” ยังเล่นบทพระเอกบอก พท.ลุยแก้ รธน.เต็มที่ ลั่นแม้เสร็จไม่ทัน รบ.ชุดนี้ แต่ขอให้มี ส.ส.ร.เป็นหัวเชื้อ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2567 นายนิกร จำนง  เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญว่า ได้เสนอแนวทางให้ใช้เกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะที่เสียงเห็นชอบนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และต้องเป็นจำนวนที่มากกว่าเสียงโนโหวต แทนการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้น  เพื่อให้เป็นแนวทางประนีประนอม ระหว่างหลักการที่ กมธ.ฝั่ง สส.ยึดถือ คือเสียงข้างมากปกติ และ กมธ.ฝั่ง สว. ที่ต้องการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งเชื่อว่าจะมี กมธ.ที่สนับสนุน ทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เนื่องจากแนวทางเสียงข้างมากชั้นครึ่งนั้นเคยเป็นแนวทางที่พรรค ภท.เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติต่อสภา

นายนิกรกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการใช้เสียงข้างมากปกติ และต้องการให้สภายืนยันบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ผ่านเวลา 180 วันนั้น พรรค พท.ควรประเมินให้ดี เพราะหากมีกรณีแตกหักในชั้น กมธ. ซึ่งเป็นการแตกหักกับ สว. อาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตามขั้นตอนแล้วต้องได้เสียง สว.รับหลักการวาระแรก 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง

“เสียงของ สว.มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน  หากไม่มีหนทางประนีประนอมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ส่วนที่กังวลว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติไม่ถึง 50% ของผู้มีสิทธินั้น ตามสาระของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ 2 ฝ่ายพยายามประนีประนอมกัน ถอยคนละครึ่งก้าวเพื่อข้ามความยากลำบากนี้ไปให้ได้ เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้คนเฝ้ารอ” นายนิกรกล่าว

 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อเสนอของนายนิกรว่า ทราบว่ามีการพูดคุยและยอมถอยกันคนละก้าว  ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จไม่ทัน ก็อยากให้มีกระบวนการต่างๆ เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ นายสรวงศ์กล่าวว่า  ตามจุดประสงค์เราอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทัน แต่หากไม่ทันก็อยากให้มี ส.ส.ร.เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ และยืนยันว่าทุกคนทุกฝ่ายจะพยายามเดินหน้าเต็มที่

เมื่อถามว่า หากต้องมีการถอยคนละก้าว พรรค พท.ก็ยอมได้ใช่หรือไม่ เพราะจุดยืนเดิมคือการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว นายสรวงศ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เราอยากให้เป็น แต่ในเมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว และแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอะไรบ้าง เราก็ต้องมีการรับฟังจากหลายๆ ฝ่าย

วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความหวั่นไหวของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,032 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความหวั่นไหวของประชาชน พบว่า 68.1% รู้สึกหวั่นไหวมากถึงมากที่สุดต่อการเมืองไทย ในขณะที่ 31.9% รู้สึกหวั่นไหวน้อยหรือไม่หวั่นไหวเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง