ล่าชื่อเลิกMOU44 พปชร.เสนอทำฉบับใหม่ รบ.เมิน/ลุยผุดJTCพ.ย.นี้

"นายกฯ-ภูมิธรรม" ลั่นเดินหน้า  MOU 44 ยันเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมเร่งตั้งกรรมการ  JTC ไม่เกินกลาง พ.ย.นี้ บอกผลประโยชน์ใต้ทะเลยังไม่คุยจนกว่าเขตแดนชัดเจน ชี้มีข้อตกลงเพิ่มเติมต้องเข้ารัฐสภา "พปชร." จี้ยกเลิกเอ็มโอยู  44 ทำฉบับใหม่ให้ถูกต้องตาม กม.สากล ระบุเอกสารแนบท้ายมีข้อบกพร่องเยอะ ทำไทยเสียเปรียบเสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล "ไทยภักดี" ล่า 1 แสนชื่อคนคลั่งชาติเลิกเอ็มโอยู แนะรัฐคุยกัมพูชาลงสัตยาบัน UNCLOS ก่อนเจรจาผลประโยชน์

ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วันที่ 8  พฤศจิกายน เวลา 09.10 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กดดันให้ยกเลิก MOU 44 โดยเห็นว่ายังมีปัญหาทางกฎหมายและยังไม่ได้ผ่านรัฐสภาว่า MOU 44 จริงๆ แล้วในเรื่องของตัวกฎหมายยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักอันนี้อยู่ เพราะเป็นหลักเปิดเสรีในการเจรจา ฉะนั้นการเจรจาทั้งกัมพูชาและเราตกลงร่วมกันเพื่อจะเจรจา

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ในเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้อง ขออธิบายเรื่องไม่ฟ้อง มันเกิดขึ้นได้ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว ฉะนั้นการที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญมาก ถ้าสมมติว่าจะยกเลิกก็ต้องดูว่าจะยกเลิกเพื่ออะไร และถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องคิดในเรื่องนี้ ถ้ายกเลิกเรื่องนี้มีผลอย่างไรระหว่างประเทศ ลองคิดในกรอบง่ายๆ ถ้าสมมติว่าเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกัน เราก็ต้องตกลงกัน มันทำได้ แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องมีการคุยกันก่อน ซึ่งต้องขอเวลาเล็กน้อยที่จะคุยกัน

"จริงๆ แล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ดิฉันได้มีโอกาสเจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งก็ไม่มีอะไรเลย ท่านยังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาซัปพอร์ตประเทศไทยไหมให้บอกกันมา และจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่าว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องขอเน้นย้ำอีกรอบหนึ่ง และการขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเกิด MOU 44 ขึ้น เพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ" น.ส.แพทองธารกล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของรัฐบาลอยู่ในขั้นตอน คาดว่าหลังกลับจากการไปประชุมเอเปกในวันที่ 18 พ.ย. การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ก็น่าจะสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งอันนี้ได้บอกกับทางกัมพูชาแล้วว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งก็โอเค แล้วเดี๋ยวจะคุยทุกอย่างร่วมกันผ่านคณะกรรมการนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า MOU 44 ยังไม่สมบูรณ์ มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ตรงนี้คณะกรรมการฯ จะนำมาหารือด้วยหรือไม่ โดยจังหวะนี้นายกฯ ได้ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งยืนอยู่ด้วยเป็นผู้ตอบคำถาม

JTC ถกเขตแดนแล้วเข้าสภา

นายภูมิธรรมกล่าวว่า MOU 44 เป็นข้อที่ได้พูดคุยเพื่อให้พูดคุยกันในเรื่องการขยายไหล่ทวีป เป็นข้อตกลงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา อันนี้สมบูรณ์โดยตัวของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าหลังจากตกลงอะไรกันเรียบร้อยแล้ว หากมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาก็จะต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ตรงนี้ถือว่าสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เป็นข้อตกลงร่วมกัน

เมื่อถามว่า แม้จะเป็นข้อตกลง แต่เป็นเรื่องของเขตแดน ก็จำเป็นต้องเข้าสภาก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เขาประกาศเขตแดนเขาปี 2515 ขณะที่เราประกาศในปี 2516 ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีเส้นอยู่ MOU 44 จึงให้มาตกลงกันว่าเส้นตรงนี้จะอยู่ที่ตรงไหน ยังไม่จบในเรื่องของอธิปไตย

น.ส.แพทองธารอธิบายเพิ่มเติมว่า  MOU 44 นี้ ไม่ได้บอกหรือเป็นตัวชี้ว่าของฉันหรือของเธอ แต่เป็น MOU จากการที่ของฉันและของเธอไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าสภาตามที่นายภูมิธรรมได้พูดแล้ว มันเป็นการตกลงระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากมีข้อตกลงเพิ่มเติมก็ต้องคุยผ่านคณะกรรมการอย่างเป็นกิจจะ ขีดเส้นอะไรเรียบร้อยแล้วค่อยเข้าสภา

ถามว่า จะเป็นอุปสรรคอะไรหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) แต่กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่เข้าร่วม นายภูมิธรรมกล่าวว่า สนธิสัญญาที่เจนีวาประกาศกฎหมายทางทะเล ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม คุณก็ต้องยอมรับอนุสัญญานี้ ฉะนั้นในการเจรจาทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบนี้

เมื่อถามว่า เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล แต่ในเมื่อมีปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจะต้องชะลอหรือหยุด MOU 44 ไว้ก่อนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายกฯ กล่าวว่า เราชะลอได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมีคือคณะกรรมการ  เพราะฉะนั้นก็ไม่ทราบว่ากัมพูชาจะต้องคุยกับใครอย่างไร มันก็จะไม่เป็นหลักฐานในการคุย การตั้งคณะกรรมการนั้นสำคัญ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งเรื่องเดียว

"เนื้อหาข้างในไม่ต้องเร่ง ไม่จำเป็น ดีแล้วที่สื่อมวลชนถามเรื่องนี้ จริงๆ แล้วได้คุยกับกัมพูชา ทางนั้นพูดเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หากเราตั้งคณะกรรมการเสร็จ ซึ่งรัฐบาลเร่งอยู่แล้ว ถ้าตั้งเสร็จก็จะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ และมีการพูดคุยกัน สองประเทศเกิดความแฟร์และความเข้าใจขึ้น และข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จึงต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการจึงจำเป็น" นายกฯ กล่าว

ซักว่า ล่าสุดกองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียลฯ ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตรงกับที่นายกฯ แถลงก่อนหน้านี้ แต่พื้นที่โดยรอบ 200 ไมล์ทะเล ต้องเป็นของประเทศไทยด้วย ตามกฎหมาย UNCLOS น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวจะให้เลขาฯ ส่งแผนที่ให้เห็นว่าเขาแบ่งกันอย่างไร จะได้เห็นว่าเส้นปี 2515 ที่กัมพูชาขีด และ 2516 ที่เราขีดไม่เหมือนกัน แต่ที่ทางกัมพูชาขีดเขาได้เว้นอ้อมเกาะกูดของเราชัดเจน ฉะนั้นทางเขาไม่มีปัญหา

"การที่ไปพูดคุยกันเขาก็พูดเรื่องเดียวว่าคณะกรรมการจะเสร็จเมื่อไหร่ จึงบอกไปว่ากลางเดือน พ.ย. ฉะนั้นเรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน เขาขีดเส้นข้ามไปเลย เขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นปัญหาเหมือนกัน" น.ส.แพทองธารกล่าว

ถามย้ำว่า ยืนยันการเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเลจะต้องชะลอไปก่อนหรือไม่ เพื่อรอให้เกิดความชัดเจน นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ต้องชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และอดีต รมว.พลังงาน พร้อม ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรค พปชร. และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรค พปชร. แถลงข่าวเรื่อง MOU 44 ไทย-กัมพูชา

จี้เลิก MOU 44 ยึดตาม กม.สากล

นายสนธิรัตน์แถลงว่า พรรค พปชร.ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เราไม่ได้ขัดขวางการที่จะเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อน ประเด็นที่สอง เรายืนยันเกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิดบนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล เจนีวา 1982 หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งในการเจรจา เป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด เป็นอุปสรรคในการบรรลุของตกลงและยอมรับของทั้งสองฝ่าย เมื่อตั้งต้นผิดจะเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่สาม พปชร.เสนอให้ยกเลิก MOU 44 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะ MOU 44 มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนมีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมายเจนีวา 1982 ดังนั้น การเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้นคือ จะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทย ในระยะยาวจะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคต ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก นอกจากนั้น เอ็มโอยู 44 พบความเร่งรีบในการดำเนินการ  พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้าย

 "การยกเลิก MOU 44 สามารถทำโดยฝ่ายเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องทั้งสองฝ่าย มีวิธีการทำได้ ผ่านการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลที่พรรคมีนั้นเชื่อว่าสามารถยกเลิกได้" นายสนธิรัตน์กล่าว

 ส่วน ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า MOU 44 ทำให้ไทยเสียเปรียบ และเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้ การตรวจพบรัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใดกัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958

2.MOU 44 ลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร.กม. เอ็มโอยู 44 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ 3.การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา 4.การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย 5.เทียบกรณีไทย-มาเลเซีย พบกรณีกัมพูชามีการดำเนินการก็เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด และ 6.หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต

 “หากกัมพูชายึดถือกฎหมายทะเลสากล เส้นไหล่ทวีประหว่างกันจะลากจากหลักเขตที่ 73  เฉียงลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกง พื้นที่ทับซ้อนจะเหลือประมาณ 7,000 ตร.กม. เมื่อพัฒนาปิโตรเลียมเสร็จสิ้น แบ่งฝ่ายละครึ่ง ไทยจะเสียพื้นที่ไปเพียง 3,500 ตร.กม.เท่านั้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 44 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย และการยกเลิก MOU 44 ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ MOU ต่อไป แต่ให้ไปทำ MOU ตัวใหม่ ปี 68 ก็ได้ แต่ขอให้ไทยกับกัมพูชาทำตามกฎหมายสากลเสียก่อน” ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ

 ด้านนายธีระชัยกล่าวว่า มีบางกระแสคิดว่าที่เราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ขอชี้แจงว่า เราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยขอตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของ กต. อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 44 โดยขอเรียกร้องให้ รมว.การต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  กต. ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กต.ไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากลใช่หรือไม่

นายธีระชัยกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ กต.ตอบคำถามเหล่านี้ 1.กต.ได้มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่าเส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล 2.กต.เคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่ 3.กต.เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่ กต.รู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม 4.MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิ์ที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากลใช่หรือไม่ 5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่

"หัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่ กต.ดำเนินการกลับทางโดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่ กต.ไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาล เป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU 44 ใช่หรือไม่" นายธีระชัยกล่าว

ทำ UNCLOS ก่อนคุยผลประโยชน์

มีรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มีกำหนดการลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานตามโครงการน้ำดื่มสะอาดบริการ ที่โรงเรียนบ้านคลองเจ้า จากนั้นเดินทางต่อไปยังหอประชุมศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอเกาะกูด เพื่อมอบนโยบายขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จากนั้นจะไปพบปะให้กำลังใจประชาชนและผู้ประกอบการที่บ้านคลองมาด ตำบลเกาะกูด ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเลที่มีตลาดและการทำประมง

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี แถลงข่าวที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด เพื่อรณรงค์ขอ 100,000 รายชื่อคนคลั่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูดและสมบัติชาติ ผ่านช่องทาง https://nationalist.onrender.com

โดยมี 3 ข้อเสนอ 1.ให้รัฐบาลยกเลิก MOU 2544 โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของประเทศ 2.รัฐบาลควรประกาศไม่ยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ประกาศในปี พ.ศ.2515 เพราะไม่มีหลักการทางกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และเป็นการอ้างสิทธิ์ที่เกินสิทธิ์ และใช้แผนที่แบ่งเขตทางทะเล เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ที่ UNCLOS ประกาศเป็นแนวทางเจรจา ถ้าต้องมีการเจรจา และ 3.รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ให้กัมพูชา แต่จะต้องเจรจาเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะถ้ามีการแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนการเจรจาดินแดน จะนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในอนาคต

นพ.วรงค์กล่าวว่า ตามหลักการใน MOU 44 ได้แยกพื้นที่ทับซ้อนเป็น 2 ส่วน โดยกำหนดพื้นที่ส่วนบนเหนือเส้น 11 องศาเหนือประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่เจรจาเขตแดน ส่วนพื้นที่ส่วนล่าง ต่ำกว่าเส้นองศาเหนือประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่หาผลประโยชน์พัฒนาร่วม ทำไมจึงไม่เจรจาเขตแดนให้เรียบร้อยทั้งสองส่วน

"แม้ใน MOU 44 จะยอมให้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเจรจาเขตแดน แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) ซึ่งอาจทำให้เป็นข้ออ้างของกัมพูชา และมีอุปสรรคต่อการเจรจาเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจะเจรจาด้วยหลักการอะไร ไทยควรเรียกร้องให้กัมพูชาลงสัตยาบัน UNCLOS เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการเจรจา" นพ.วรงค์กล่าว

ประธานพรรคไทยภักดีกล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยไปยอมกัมพูชาทุกอย่าง ยอมแม้การอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปอ้างเกินสิทธิ์ ผ่านเกาะของไทยเอง โดยหลักแล้วไม่มีประเทศไหนเขายอม ยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลสนใจแต่ประโยชน์ด้านพลังงาน เร่งที่จะเอา โดยไม่สนใจประโยชน์ส่วนใหญ่ควรเป็นของไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ