ค้านประกัน‘ตั้ม-เมีย’นอนคุก!

"ทนายตั้ม-เมีย" นอนคุก! หลังตำรวจคุมตัวฝากขังศาล เปิดพฤติการณ์หลอกโกงเงิน "เจ๊อ้อย" 3 ครั้ง รวม 78 ล้านบาท ร่ายยาวเหตุค้านประกันตัว ชี้ทำผิดหลายครั้งเป็นปกตินิสัย ด้านภรรยารู้ทุกการกระทำ พบยักย้ายทรัพย์-เปลี่ยนซิมโทรศัพท์ เตรียมหลบหนี ศาลไม่ให้ประกัน "ภรรยาษิทรา" หลังยื่นหลักทรัพย์ 5  เเสน "ดีเอสไอ" จัดพนักงานสอบสวน 18 ทีม จ่อแจ้งข้อหา "แชร์ลูกโซ่-ขายตรง" 18 บอสดิไอคอนในเรือนจำ 11 พ.ย.

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจับกุมตัวนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม   และนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของนายษิทรา ข้อหาฉ้อโกงและร่วมกันฟอกเงิน หลังจากเจ้าหน้าที่สอบปากคำกว่า 11 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งคู่มาควบคุมตัวที่ห้องขังของ บก.ป. เวลา 00.30 น.

จากนั้นช่วงเช้าประมาณ 07.20 น. แม่ครัวร้านอาหารภายในอาคารโภชนาการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นำข้าวกะเพราไก่ พร้อมน้ำดื่ม 2 ขวด มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา ก่อนที่เวลา 07.40 น. พนักงานสอบสวนได้เบิกตัวทนายตั้มและภรรยาไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้ง

ต่อมาเวลา 09.40 น. มีหญิง 3 คนเดินทางมาที่ บก.ป. ด้วยรถรถอัลพาร์ดสีดำ โดยถือถุงซาลาเปาร้านดังมาด้วย 2 ถุง จำนวน 3 กล่อง และเดินเข้าไปในอาคารกองบังคับการปราบปรามทันที ซึ่งคาดว่าเป็นญาติของทนายตั้มที่เดินทางมาเยี่ยม

กระทั่งเวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวทนายษิทราพร้อมภรรยาไปฝากขังที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนบริเวณทางเข้า-ออกอาคาร บก.ป. โดยใช้แผงเหล็กเป็นแนวเพื่อความเรียบร้อย เมื่อทุกอย่างพร้อมพนักงานสอบสวนได้นำตัวทนายษิทราพร้อมภรรยาออกมาจากตัวอาคาร โดยนางปทิตตาเดินนำหน้า สวมเสื้อสีดำ กางเกงสีขาว สวมแว่นดำและแมสก์ปกปิดใบหน้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเดินประกบ ตามด้วยทนายตั้มที่สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีนส์ โดยมีท่าทีที่อิดโรย

เมื่อทนายตั้มปรากฏตัว สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามหลายๆ ประเด็นในคดีที่เกิดขึ้น  แต่ทนายตั้มไม่ตอบ เพียงแต่ยกมือไหว้ทักทาย ก่อนจะขึ้นรถตู้ของตำรวจไปยังศาลอาญา โดยพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งสองราย เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ด้านนายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของนายษิทราและภรรยา เปิดเผยว่า นายษิทราได้ยืนยันกับตนแล้วว่าไม่ต้องยื่นประกันตัวให้ แต่ขอยื่นประกันตัวให้ภรรยาเพียงผู้เดียว และพูดทิ้งท้ายด้วยท่าทีนิ่งๆ ไว้ว่าขอให้ทนายความรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน เตรียมพร้อมสู้คดี ตัวเขาเองไม่ได้มีปัญหาอะไร อยู่ในเรือนจำได้ และยังคงยืนยันทุกอย่างตามที่เคยได้พูดไปว่าไม่ได้โกงใคร

"กระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายก็เป็นแบบนี้ เนื้อหาในคดีฉ้อโกง ผมมองว่าก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร พอสู้ได้ถ้ามีพยานหลักฐานที่สามารถอธิบายได้ แต่วันนี้ก็ต้องรอไปลุ้นประกันตัวภรรยาทนายตั้มในชั้นศาลก่อน ส่วนเงินสดหรือหลักทรัพย์จะเตรียมมาเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องของญาติ ซึ่งน้องสาวของฝั่งทนายตั้มเป็นคนจัดการทั้งหมด" ทนายสายหยุดระบุ

โกงเจ๊อ้อย 78 ล้าน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกองปราบปรามนำตัวนายษิทรา อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาฉ้อโกง, ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด อายุ 41 ปี ภรรยาทนายตั้ม เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน มายื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 1

คำร้องระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ ผู้เสียหาย ได้ว่าจ้างผู้ต้องหาที่ 1 ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมาผู้ต้องหาที่ 1 ได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 หลายเรื่องหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ

1.ผู้ต้องหาที่ 1 ได้หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางออนไลน์ อ้างว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเขียนโปรแกรมเป็นเงินจำนวน 2,000,000 ยูโร พร้อมกับนำสัญญาว่าจ้างมาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 1 คิดเป็นเงินไทย จำนวน 71,067,764.70 บาท 2.ผู้เสียหายได้มอบหมายให้ผู้ต้องหาที่ 1 หาซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ รุ่นจี 400 จากนั้นผู้ต้องหาที่ 1 ได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหาซื้อรถยนต์ดังกล่าวได้ในราคา 12,900,000 บาท และมีค่าติดฟิล์มรถยนต์ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,930,000 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วรถยนต์คันดังกล่าวมีราคาเพียง 11,400,000 บาท โดยไม่มีราคาติดฟิล์ม ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เงินค่าส่วนต่างรวมเป็นเงินจำนวน 1,530,000 บาท

3.ผู้ต้องหาที่ 1 ได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าผู้ต้องหาที่ 1 ได้ติดต่อว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้เขียนแบบก่อสร้างโรงแรมที่ผู้เสียหายจะก่อสร้าง โดยอ้างว่ามีค่าเขียนแบบโรงแรมเป็นจำนวนเงิน 9,000,000 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ต้องหาที่ 1 ได้ไปว่าจ้างบริษัทอื่นให้เขียนแบบโรงแรมดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายในราคา 3,500,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินชำระค่าเขียนแบบดังกล่าวจำนวน 9,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารให้แก่บริษัทแห่งหนึ่ง จากนั้นได้มีการถอนเงินไปมอบให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าเขียนแบบโรงแรมเป็นเงิน 5,500,000 บาท

การกระทำดังกล่าวของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นความผิดฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และจากการสืบสวนสอบสวนพบผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 มีการกระทำต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน ดังนี้

1.หลังจากผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับโอนเงินจากผู้เสียหายจำนวน 71 ล้านบาทเศษ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้โอนเงินจำนวน 71 ล้านบาท ออกจากบัญชีธนาคารของตนเองไปยังบัญชีอื่นของตนเองอีก 2 ทอด เพื่อชำระหนี้ค่าบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาที่ 2 และ 2.ผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับมอบเงินสดของผู้เสียหายที่หลอกลวงเป็นค่าเขียนแบบโรงแรมจำนวน 9,000,000 บาท ได้แบ่งเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท ไปมอบให้แก่พี่สาวของผู้ต้องหาที่ 2 ก่อนพี่สาวของผู้ต้องหาที่ 2 นำไปเข้าบัญชีธนาคารของตัวเอง

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ร่ายยาวเหตุค้านประกัน

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1 เป็นทนายความ มีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่สังคมให้ความเชื่อถือ แต่กลับมีการกระทำผิดหลายครั้งหลายหนต่อเนื่องกัน ในลักษณะฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 เป็นภรรยาของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นบุคคลใกล้ชิดและพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ย่อมรู้เห็นการกระทำผิดและร่วมกระทำความผิดฟอกเงินกับผู้ต้องหาที่ 1 โดยผู้ต้องหาทั้งสองคนมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนียุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ดังนี้ ผู้ต้องหาที่ 1 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะลดทอนความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ทำให้ผู้เสียหายและพยานบุคคลเกิดความไม่ไว้ใจพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่า ก่อนที่จะจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 หมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ใช้อยู่ประจำได้ปิดสัญญาณ และขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ 1-2 ตรวจสอบพบว่าโทรศัพท์มือถือผู้ต้องหาที่ 1 ใช้ซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องหาที่ 2 ส่วนโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ 2 ใช้ซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์ของพี่สาวผู้ต้องหาที่ 2 รวมทั้งจากการตรวจค้นหาพยานหลักฐานที่บ้านพักผู้ต้องหาที่ 1-2 พบว่าภายในบ้านมีตู้นิรภัยขนาดใหญ่สูง 2 เมตร เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้น พบว่ามีร่องรอยผ่านการเก็บทรัพย์สินแล้ว จึงไม่พบทรัพย์สินมีค่าใดๆ อยู่ภายในตู้ดังกล่าว น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาที่ 1-2 ได้ร่วมกันยักย้ายทรัพย์สินออกไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจค้น

และขณะเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมขณะผู้ต้องหาที่ 1-2 ขับรถยนต์อยู่บริเวณถนนสายกบินทร์บุรี-ฉะเชิงเทรา มุ่งหน้าไปทางชายแดนประเทศกัมพูชา พบกระเป๋าเดินทางภายในมีเสื้อผ้าเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ต้องหาที่ 1-2 มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีออกนอกประเทศ ประกอบกับคดีที่ผู้ต้องหาที่ 1-2 ถูกตั้งข้อหาจับกุมมีอัตราโทษสูงถึง 10 ปี หากผู้ต้องหาที่ 1-2 ได้รับการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าน่าจะหลบหนีเข้าไปยุ่งหรือพยานหลักฐานและจะเป็นอุปสรรคก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวน

ศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตฝากขังตามคำร้อง

จากนั้น นายสายหยุดได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวนางปทิตตา พร้อมหลักทรัพย์ 5 เเสนบาท พร้อมเสนอยินยอมรับเงื่อนไขของศาลโดยยอมติดกำไลอีเอ็ม ยินดีให้ริบพาสปอร์ตไว้ เเละจะมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง

ต่อมา ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี  พนักงานสอบสวนคัดค้านเกรงจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และผู้เสียหายคัดค้านเกรงจะหลบหนีไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายคืน ประกอบกับต้องทำการสอบสวนพยานอีก 10 ปาก กรณีอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนได้ และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องปกป้องกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนคดีในชั้นสอบสวนนี้ จึงมีเหตุอันสมควรที่จะรอฟังผลให้เสร็จสิ้นก่อน จึงให้ยกคำร้อง

'ทนายตั้่ม-เมีย' นอนคุก

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เเละทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างฝากขัง

วันเดียวกัน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ในวันนี้ตำรวจกองปราบฯ ได้เดินทางไปขอหมายศาล เพื่อปฏิบัติการตรวจค้นที่บริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จำกัด ย่านสาทร ซึ่งจะมีการหาข้อมูลหลักฐานความเชื่อมโยงในคดีที่มีการฉ้อโกง น.ส.จตุพร และคดีเกี่ยวกับทรัพย์ โดยจะมีการตรวจยึดเอกสาร ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ต้องหาบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ว่ายังไม่ได้เข้าไปแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 หรือแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการประสานงานทางคดี ทั้งความพร้อมทนายของผู้ต้องหา ความเรียบร้อยของทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง และสุขภาพแข็งแรงของผู้ต้องหาว่ามีใครเจ็บป่วยหรือไม่ แต่คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้เข้าไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้เสร็จสิ้น

ร.ต.อ.สุรวุฒิกล่าวว่า ดีเอสไอมีแนวทางจะแบ่งชุดพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะเข้าไปภายในเรือนจำฯ ออกเป็น 18 ชุดต่อผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย เพื่อแยกกันทำงานชัดเจน โดยกระบวนการที่จะเกิดขึ้นคือ แจ้งข้อเท็จจริงในคดี แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งฐานความผิด และดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งทางผู้ต้องหามีสิทธิสามารถที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมชี้แจงแก้กล่าวหาทันที หรือประสงค์ขอความเป็นธรรม ขอชี้แจงด้วยพยานเอกสารเพิ่มเติมตามประเด็นที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อสงสัย จากนั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้นำรายละเอียดถ้อยคำให้การทั้งหมดของผู้ต้องหา รวมถึงพยานเอกสารต่างๆ ที่ผู้ต้องหายื่นมานั้น นำเข้าที่ประชุมว่าถ้อยคำให้การสามารถรับฟังและเป็นประโยชน์ต่อสำนวนคดีมากน้อยเพียงใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะสามารถเดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ 18 บอสภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 11 พ.ย.นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สคส.กรมสมเด็จพระเทพฯ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2568 ปีมะเส็งงูเล็กแก่พสกนิกรไทย   เพื่อความเป็นสิริมงคล ชีวิตก้าวหน้า