ชงเกาะกูดมัดพ่อ-ลูก ‘ธีรยุทธ’ชี้เร่งเจรจากระทบอธิปไตยลุ้น13พ.ย.ศาลรับคำร้อง

"ธีรยุทธ" เข้าให้ถ้อยคำ "อัยการ" คดีร้อง "ทักษิณ-พท." ล้มล้างการปกครอง เผยถูกซัก 3 ชม.ปมนักโทษเทวดา พร้อมยื่นเพิ่มประเด็นใหม่ "อุ๊งอิ๊งค์-เกาะกูด" เร่งรัดเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์อาจกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ เสี่ยงเซาะกร่อนบ่อนทำลายฯ   ลุ้น 13 พ.ย. ศาล รธน.รับคำร้อง "ชูศักดิ์” รับไปให้ปากคำเพิ่มเติมคดีล้มล้างฯ มั่นใจไม่ได้กระทำผิด แย้ม "พ่อนายกฯ" ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงไม่ผิด เมินข้อเสนอประชามติชั้นครึ่ง ระบุถ้าชั้นแรกไม่ผ่านก็จบ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน มีความคืบหน้าคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีการยื่นไป 6 ประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ศาลมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ที่นายธีรยุทธเคยร้องอัยการสูงสุดไปก่อนหน้าที่จะมายื่นศาล โดยให้รวบรวมจัดส่งต่อศาลภายใน 15 วัน

กระทั่งวันพุธที่ 6 พ.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย  (พท.) และเป็นตัวแทนพรรคไปให้ถ้อยคำกับอัยการตามหนังสือเรียก ส่วนนายทักษิณยังไม่มีรายงานว่าได้ไปให้ถ้อยคำกับอัยการแต่อย่างใด ซึ่งการครบกำหนด 15 วันดังกล่าวจะครบวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้

นายธีรยุทธให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับหนังสือเรียกจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้เดินทางไปให้ถ้อยคำและยื่นพยานหลักฐานต่อคณะทำงานของอัยการสูงสุดที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้ไปพบกับอัยการเมื่อวันพุธที่ 30 ต.ค. ซึ่งที่อัยการเรียกไป คงเกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอให้แจ้งถึงการดำเนินการตามคำร้องฯ เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยไปยื่นต่ออัยการสูงสุดมาก่อน แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนครบ 15 วัน จึงได้ไปยื่นตรงต่อศาล รธน.ตามรัฐธรรมนูญ

นายธีรยุทธกล่าว่า การไปให้ถ้อยคำดังกล่าวได้ใช้เวลาในการให้ถ้อยคำเป็นเวลาร่วม 3 ชั่วโมง  โดยทางคณะทำงานของอัยการสูงสุดได้ซักถามรายละเอียดใน 6 ประเด็นที่ได้เคยยื่นต่ออัยการสูงสุด และต่อมาไปยื่นต่อศาล รธน. โดยอัยการได้สอบถามว่ามีพยานหลักฐานในคำร้องคดีนี้อย่างไรบ้าง ก็ได้ชี้แจงไปว่ามีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว เช่น ประเด็นแรก ในคำร้องเรื่องนายทักษิณ นอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ก็จะอ้างอิงรายงานผลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ทำสรุปรายงานออกมา

นอกจากนี้ ประเด็นที่สอง เรื่องผู้ถูกร้องที่ 1 กับกรณี MOU 44 และเกาะกูด ก็ได้แจ้งกับอัยการว่าจะมีการขอเพิ่มเติมประเด็นเสนอต่ออัยการสูงสุดในประเด็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคเพื่อไทย) ปรากฏพฤติการณ์ในลักษณะนายทักษิณไปร่วมคิดกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) โดยอ้างเรื่องพื้นที่ทับซ้อน แล้วต่อมาไปพูดในงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่งในลักษณะการแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะมีการรื้อฟื้นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และต่อมาพบว่านายกฯ แพทองธาร ชินวัตร นำเรื่องดังกล่าวไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

ธีรยุทธเพิ่มปม 'อุ๊งอิ๊งค์-เกาะกูด'

นายธีรยุทธกล่าวว่า ประเด็นเพิ่มเติมที่แจ้งกับคณะทำงานของอัยการสูงสุดไปก็คือ การประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2516 ทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้พระราชอำนาจประกาศเขตไหล่ทวีปเป็นอธิปไตยของประเทศไทยที่บริเวณเกาะกูด ซึ่งมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเวลานั้นก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ และปัจจุบัน นายกฯ คือ น.ส.แพทองธาร จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเขตอธิปไตยแห่งรัฐ แต่ตอนนี้ปรากฏข่าวที่สื่อมวลชนหลายแห่งรายงานว่า เมื่อ 1 ต.ค.2567 ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเร่งเจรจาเรื่องการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา และต่อมามีข่าวออกมาอีกว่า พวกที่ไปเร่งรัดเจรจาคือตัวนายกฯ แพทองธาร ทั้งที่จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเขตอธิปไตยแห่งรัฐ

"แต่ปรากฏว่า ไปเร่งรัดให้มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ผมก็ได้ส่งเอกสารผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในอดีต ที่เคยวินิจฉัยชัดเจนว่า การทำหนังสือสัญญาใดกับนานาประเทศ หากหนังสือสัญญานั้น มีบทที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออธิปไตยแห่งรัฐ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจแห่งรัฐ หนังสือสัญญานั้น อยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หมายถึงว่าการใดที่คณะรัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือนายกฯ   หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่งหรือทั้งคณะ  จะได้ร่วมกันกระทำการอย่างใด อันอาจส่อไปในทางทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการปกครองอธิปไตยแห่งรัฐบริเวณเกาะกูด รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ในบริเวณน่านน้ำตรงเกาะกูด ก็อาจก้าวล่วงกระทบกระเทือนต่อพระยุคลบาท และอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ การกระทำเช่นนี้ซึ่งยังกระทำการต่อเนื่องอยู่มาโดยตลอด เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ฯ” นายธีรยุทธ กล่าว

ทนายความอิสระรายนี้ระบุว่า ได้ทราบจากอัยการว่าได้มีการทำหนังสือถึงผู้ถูกร้องที่ 1 นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้มาให้ถ้อยคำเช่นกัน ซึ่งตามกระบวนการ อัยการเรียกไปแล้วผู้ถูกร้องจะไม่มาก็ได้ แต่การมาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกร้องจะได้รับทราบ ได้ชี้แจงแสดงหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล ในชั้นอัยการได้ ที่หากไม่มาก็จะเป็นการเสียสิทธิไป

 “ในการให้ถ้อยคำ 3 ชั่วโมง จากการสังเกตพบว่าอัยการให้ความสนใจในประเด็นเรื่องการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไปนอนที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เพราะอย่างในคำร้องที่ยื่นศาลได้เขียนไว้ว่า จะมีพยานบุคคลที่จะส่งชื่อในบัญชีพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรืออย่างกรณีที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 14 ส.ค. เราก็มีพยานบุคคล ที่จะนำเสนอต่อศาล รธน.ด้วย โดยผมก็ได้บอกกับอัยการว่าพยานบุคคลที่จะเสนอให้มีการเรียกมาให้ถ้อยคำหากศาลรับคำร้อง ก็ทราบจากสื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยออกมาบอกว่าเคยไปพบเยี่ยมเยียนที่รพ.ตำรวจ หรืออย่างในรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ก็ระบุชัดเจนว่า เชื่อว่าไม่ได้ป่วยถึงขั้นวิกฤต และมีการเอื้อประโยชน์กันในกลุ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ถูกร้องได้พักอาศัยที่ชั้น 14 ผมให้ความเห็นกับอัยการว่า คำว่าได้พักอาศัยที่ รพ.ตำรวจ มันบ่งชัดโดยไม่ต้องตีความเลยว่า มันไม่ใช่การพักรักษาตัว เพราะใช้คำว่า พักอาศัย ไม่ได้ใช้คำว่า พักรักษาตัว จึงตีความหมายได้ว่า ไม่ได้ป่วยขั้นวิกฤตถึงขั้นจะได้รับสิทธิ อัยการก็ยังถามผมอีกว่า แล้วเรื่องชั้น 14 ใครที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ผมก็บอกว่าคือกรมราชทัณฑ์เป็นตัวหลัก”  ทนายความอิสระรายนี้ระบุ

นายธีรยุทธกล่าวว่า ได้ย้ำกับอัยการ 6 ประเด็น ที่ยื่นในคำร้องคดีดังกล่าว จะทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปไม่ได้ เพราะทั้ง 6 ประเด็นมีความเกาะเกี่ยวร้อยรัดเป็นห่วงโซ่กันอยู่ อย่างประเด็นเรื่องเกาะกูดที่อยู่ในประเด็นที่ 2 ก็จะมีความเชื่อมโยงไปยังประเด็นที่ 6 คือ หลังผู้นำประเทศเพื่อนบ้านไปพบผู้ถูกร้องที่บ้าน ต่อมาก็มีการจะรื้อฟื้นเจรจาตามกรอบ MOU 44 แล้วจากนั้น ผู้ถูกร้องที่หนึ่งก็ไปขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์  แล้วนายกฯ ก็เอาเรื่องนี้ไปเขียนไว้เป็นนโยบายรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่งใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางอื่นที่ไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 “วันที่ 11 พ.ย.นี้ จะครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลให้อัยการสูงสุดแจ้งการดำเนินการคำร้องคดีดังกล่าวมายังศาลรัฐธรรมนูญ ก็คาดว่าอัยการคงส่งหนังสือถึงศาลภายในไม่เกินวันจันทร์หน้า แล้ววันพุธที่ 13 พ.ย. คาดการณ์ว่าศาลคงจะมีการประชุมเพื่อลงมติว่าจะรับคำร้องที่ผมยื่นต่อศาลไว้วินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งผมยังคิดว่าศาลท่านจะเมตตารับคำร้องไว้วินิจฉัย” นายธีรยุทธกล่าว

 ขณะที่ นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยคณะทำงานได้สอบถ้อยคำนายชูศักดิ์ ซึ่งได้สรุปการบันทึกถ้อยคำส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว

"ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุวันที่จะต้องจัดส่งความคืบหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนด เพราะเเม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเผยเเพร่เอกสารในวันที่ 22 ต.ค. เเต่จะต้องนับจากวันที่ทางอัยการสูงสุดได้รับหนังสือ ซึ่งยังไม่ครบกำหนด" โฆษก อสส.กล่าว

ชี้ประชามติชั้นครึ่งไม่ต่างจากเดิม

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยอมรับว่าได้เดินทางเข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบการรวบรวมเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งความเห็นภายในวันที่ 8 หรือ 15 พ.ย.นี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ซึ่งยังไม่มั่นใจ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

 "พรรค พท.ดูแล้วคำร้องทั้งหมดนั้นไม่เข้าตามมาตราดังกล่าว เพราะฉะนั้นผมขอใช้คำง่ายๆ ว่าทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมันมั่ว ส่วนคำชี้แจงของเราจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป  ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ ผลก็ยังไม่ทราบ ส่วนคำร้องอีก 1 เรื่องที่ยื่นต่อ กกต.เรื่องครอบงำพรรคของนายทักษิณ ผมยืนยันว่าไม่ใช่" นายชูศักดิ์กล่าว

ถามถึงกรณีที่นายทักษิณจะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ที่จังหวัดอุดรธานี สามารถทำได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต.ก็อนุญาตให้บุคคลประเภทนี้ที่เขาเรียกว่า ผู้ช่วยหาเสียง นายทักษิณก็ทำมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมานายทักษิณก็ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงตั้งแต่การเลือกนายก อบจ.ครั้งที่ผ่านมาแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร

 ย้ำว่ามั่นใจจะไม่มีการยื่นร้องเอาผิดย้อนหลังใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทำได้และทำมาแล้ว ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวว่าจะเป็นผู้ช่วยหาเสียงพื้นที่ใด ซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ ไม่ต่างอะไรกับหลายคนที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคการเมือง และพรรคเพื่อไทยมีบุคคลประเภทนี้มาก เพราะโดนกระทำมาเยอะ

ถามถึงกรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ (ฉบับที่… ) พ.ศ..… เสนอให้ทำประชามติชั้นครึ่ง นายชูศักดิ์กล่าวว่า จะสองชั้นหรือชั้นครึ่ง เรื่องใหญ่อยู่ที่ชั้นแรกที่ระบุว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าไปใช้วิธีเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิจะเท่ากับว่าคนที่ไม่มาใช้สิทธิหรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนถูกนับไปด้วยว่าเป็นคนไม่เห็นชอบ และเท่ากับค้านการทำประชามติ ฉะนั้นชั้นแรกถือว่าสำคัญที่สุด

ถามว่า ถือเป็นการประนีประนอมกับความเห็นที่ไม่ตรงกันหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะถ้าไม่ผ่านชั้นแรกก็ถือว่าจบไปแล้ว ชั้นที่สองไม่ต้องมาคิดอะไรกันแล้ว จะชั้นครึ่งหรือครึ่งชั้น ถ้าไม่ผ่านชั้นแรกก็จบ ตนจึงให้ความสำคัญกับชั้นแรกมากกว่า

เมื่อถามว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกทีหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กมธ. แต่ในส่วนของพรรค พท.มุ่งมั่น เพราะเรามีนโยบายไปแล้วว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราอยากจะผลักดันเต็มที่ แต่จะผลักดันได้มากน้อยแค่ไหนค่อยว่ากันอีกที ทันหรือไม่ทันอย่างไรค่อยว่ากันอีกที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง