กมธ.เปิดเวทีเดือด ฟันนักโทษเทวดา พบพิรุธย้ายรพ.

เปิดเวทีเชือด "นักโทษเทวดา" กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงปมห้องวีไอพีชั้น 14 "บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์" ไม่มาตามนัด ขณะที่ "ผอ.ราชทัณฑ์" เผยการส่งตัว "ทักษิณ" จากเรือนจำไป รพ.ตำรวจไม่ได้ผ่าน รพ.ราชทัณฑ์ "โรม" ปูดหมอเช็กอาการแค่ 4 นาที อีก 17 นาทีเดินทางไป รวมใช้แค่ 21 นาทีในการย้ายโรงพยาบาล ถามค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาทใครออก

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ  กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม

โดยได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวเข้ามาให้ข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมี นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, พลต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ มาร่วมประชุม

สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส,   พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ, น.ส.รวมทิพย์ สุภานันท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ราชทัณฑ์  และ รศ.วิชัย วงศ์ชนะภัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทย์สภา ไม่ได้มา เนื่องจากแจ้งว่าติดภารกิจ ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยืนยันว่าจะเข้าร่วม แต่ไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ได้มาร่วมประชุม

พล.ต.ต.สรวุฒิให้ข้อมูลว่า ช่วงเวลาที่ตนเองทำหน้าที่เป็นรองนายแพทย์ใหญ่นั้น ไม่ทราบข้อมูลผู้ป่วย เพราะมีหน้าที่ทำเรื่องบัญชี รวมทั้งช่วงนั้นกำลังจะทำเรื่องเออร์ลีรีไทร์ และได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการพักร้อน เมื่อมีหนังสือส่งตัวมาให้การรักษา เราก็จะทำการรักษาและส่งตัวกลับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลอยู่ด้วย

เขาชี้แจงว่า ช่วงที่รับราชการอยู่ มีหมอ 4 คน แต่ไม่ทราบมีพาร์ตไทม์หรือไม่ ส่วนที่ถามว่าตนเองเชี่ยวชาญด้านไหนนั้น ตนเองเชี่ยวชาญทำด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนผ่าตัดจริงหรือไม่ กี่ครั้ง ตนไม่ทราบ เพราะออกจากราชการแล้ว และย้ำว่าในช่วงเดือนกันยายนนั้นได้ลาพักร้อน 3 สัปดาห์

ขณะที่ นพ.วัฒน์ชัยกล่าวว่า รพ.ราชทัณฑ์เป็นหนึ่งในกรมราชทัณฑ์ และเรามี รพ.เพียงแห่งเดียว ซึ่งจะให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษานอก รพ. เราพบว่ามีความเสี่ยงด้านการส่งตัวและการหลบหนี ซึ่งภารกิจของ รพ.ราชทัณฑ์แตกต่างจากภารกิจของ รพ.ทั่วไป

โดย รพ.ราชทัณฑ์มีแพทย์ทั้งหมด 15 คน ซึ่งต้องเวียนไปอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำ ทำให้แพทย์ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานจริงใน รพ.มีเพียงแค่ 4-5 คน ทำให้มีปัญหาเรื่องแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อมีการส่งตัวผู้ต้องหามา ก็ต้องยอมรับว่าต้องส่งไปที่ รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า และยอมรับว่า รพ.ราชทัณฑ์ข้อจำกัดหลายอย่าง

นพ.วัฒน์ชัยกล่าวว่า กรณีที่มีผู้ป่วยต้องออกไปรักษาตัวด้านนอกนั้น เป็นกฎกระทรวงตั้งแต่ปี 2563 ที่ระบุว่าต้องให้ส่งโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุพิการหรือเสียชีวิต รพ.ราชทัณฑ์ควบคุมผู้ต้องขังที่มีภาวะเสี่ยงไตวายด้วย อีกทั้งศักยภาพของ รพ.ในกรณีรักษาด้านโรคหัวใจนั้น ยอมรับว่าเรามีปัญหาด้านการเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ภายนอก การสวนหัวใจเราไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องส่งต่อ และเราได้ทำข้อมูลชี้แจง กมธ.ไปแล้ว พร้อมมองว่าค่อนข้างครอบคลุม

นพ.วัฒน์ชัยกล่าวต่อว่า กรณีของนายทักษิณ ส่งตัวจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ ไม่ได้ผ่าน รพ.ราชทัณฑ์ โดยกฎกระทรวงมีการระบุไว้ว่า ผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยจะต้องส่ง รพ.รัฐในครั้งแรก เรื่องการประสานส่งตัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะของ รพ.นั้นด้วยว่าจะรับหรือไม่ ส่วนประเมินอย่างไรที่ส่งตัวนายทักษิณไป รพ.ตำรวจ และพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง จึงได้ทำการส่งตัว เนื่องจากตอนดึก นายทักษิณพบว่ามีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำ

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธาน กมธ.การอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า เวลาที่เข้ารับการรักษากับเวลาที่ตรวจนั้นห่างกันเพียงแค่ 21 นาทีเท่านั้น เพราะตนเปิดจีพีเอสดูตอนเที่ยงคืน พบว่าใช้เวลา 17 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ขึ้นทางด่วนแล้ว แม้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 17 กิโลเมตรกับอีก 800 เมตร เท่ากับว่าพยาบาลที่ตรวจต้องใช้เวลาพูดคุยกับแพทย์ที่ รพ.ตำรวจเพียงแค่ 3 นาที ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำงานรวดเร็ว จึงอยากเห็นทุกกรณีเป็นเช่นนี้ และการรักษาแบบฉุกเฉินนั้นต้องใช้เวลากี่วัน แล้วเมื่อครบกำหนดแล้วทำไมจึงไม่กลับเข้ามาที่เรือนจำ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสิทธิการรักษานั้น การผ่าตัดไหล่ที่ใช้เวลา 4 เดือน ใช้สิทธิการรักษาอะไร

นพ.วัฒน์ชัยกล่าวว่า เมื่อเห็นว่าต้องส่งออกนั้น โดยพยาบาลแจ้งว่าต้องออก ก็จะรีบออก การส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวด้านนอกนั้น ยืนยันว่าผู้บัญชาการเรือนจำทราบ การพิจารณาส่งกลับเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และส่งหนังสือกลับมายังเรือนจำ ส่วนชื่อของแพทย์ในเรือนจำนั้นได้ทำข้อมูลไว้แล้ว เดี๋ยวจะขอชี้แจงอีกครั้ง แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นคนประเมิน ไม่มีแพทย์คนใดที่เข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดน นอกเวลา ซึ่งพยาบาลต้องมีสกิลในการประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ กรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตนั้นจะเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม รพ.ตำรวจนั้น เป็นหนึ่งใน รพ.ที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด มีตำรวจเป็นผู้คุม รวมถึงมีการทำเอ็มโอยูการบูรณาการเพื่อดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง ส่วนกรณีที่ต้องประเมินว่าต้องได้รับการรักษาต่อนั้น เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษา แต่ต้องมีข้อมูลทางการแพทย์ว่าเหตุใดจึงควรต้องรักษาตัวต่อ เป็นหน้าที่ของ รพ.ตำรวจ สำหรับเรื่องจำนวนวันที่ต้องรักษานั้น ตนไม่ทราบจริงๆ

พล.ต.ต.สรวุฒิชี้แจงว่า กรณีเช่นนี้มีทั้งการรักษาตัวระยะสั้นและระยะยาวขึ้นอยู่กับภาวะภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปทำการรักษาชั้น 14 จึงไม่สามารถตอบได้ สำหรับการประเมินที่ส่งตัวกลับหรือต้องประเมินทุกกี่วันนั้น อยู่ที่แพทย์ผู้รักษา โดยมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว และไม่ทราบเรื่องการบันทึกภาพ แต่จากที่ประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ต้องขังนั้น ตนไม่เคยเห็นว่าต้องมีการบันทึกภาพ

หลังการประชุม นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเราไล่ไทม์ไลน์ทั้งหมด ระยะเวลาตั้งแต่นายทักษิณไปถึงสถานพยาบาล และพิจารณาหารือกับพยาบาลที่ได้ปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์ แล้วส่งต่อไปยัง รพ.ตำรวจ จากข้อมูลที่ได้รับใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น หากตรวจดูจากกูเกิลแมป ดูระยะเวลาการส่งตัวใช้เพียง 17 นาทีเท่านั้น หมายความว่าระยะเวลาในการวินิจฉัยมีแค่เพียง 4 นาที ถือเป็นการทำเวลาได้รวดเร็วมาก

 “กมธ.พยายามแสวงหาคำตอบ ก็ไม่มีใครยืนยันกับเราได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้ากรณีนี้ไม่ได้ข้อยุติ จะกลายเป็นว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ ถ้าไม่ป่วยจริง ปรากฏว่านายทักษิณอาจมีส่วนในการตัดสินใจด้วย ความรับผิดชอบจะไม่ได้อยู่ที่แค่หน่วยราชการ แต่นายทักษิณอาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทบางอย่าง เพื่อทำให้เกิดการหลงเชื่อว่าตัวเองเจ็บป่วย ทำให้ผลของการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐต้องส่งไป รพ.ตำรวจ ทำให้สุดท้ายการที่นายทักษิณไปอยู่ รพ.ตำรวจ ไม่แน่ใจว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เราได้รับข้อมูลจากเลขานุการ กมธ.ว่าการที่นายทักษิณไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ ห้องพิเศษ มีค่าใช้จ่ายจำนวน 8,500 บาท เบ็ดเสร็จรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายถึง 1 ล้านบาท จึงมีคำถามต่อมาว่า ตกลงใครเป็นคนจ่าย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ เวชระเบียน ข้อมูลการรักษา ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ปรากฏชัดเจนต่อ กมธ. แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเรื่องนี้น่าสงสัย   มีพิรุธ ตั้งแต่ตนทำงานเป็นประธาน กมธ.มา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความร่วมมือน้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานราชการไม่อยากบอกอะไรกับเราเลย ทำให้ข้อสงสัยของสังคมเรื่องชั้น 14 ยังคงอยู่ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เสรีพิสุทธ์-โจ๊ก' เบี้ยวแจง กมธ.ปมทักษิณนอนชั้น 14 อดีตรองแพทย์ใหญ่ชิ่งบอกอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์

'กมธ. ความมั่นคงฯ' ถกปม 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ด้าน 'บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์' ไม่มา ขณะที่ 'ผอ.ราชทัณฑ์' ยัน เป็นไปตามกฎกระทรวง ส่วนอดีตรองแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบเรื่องการรักษา อ้างอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์-ลาพักร้อน