"นายกฯ อิ๊งค์" เดินทางถึงจีน เข้าร่วมเวที GMS ครั้งที่ 8 และ ACMECS ครั้งที่ 10 โชว์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย สวมชุดเดรสผ้าไหมไทยประยุกต์ร่วมงานเลี้ยงรับรอง "นิกร" ชง กมธ.ร่วมประชามติถอยคนละก้าว ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่ง เปิดช่อง ปชช.ร่วมออกเสียงทางไปรษณีย์ ทางออก สส.-สว.เห็นต่าง “สว.พิสิษฐ์” คล้อยตามรอฟังความพร้อมไปรษณีย์อีกครั้ง "รมว.ต่างประเทศ" ชี้ MOU 44 คงไว้มีผลดี ย้ำไทยไม่เสียดินแดน เจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียม ปชช.ต้องเห็นชอบก่อน "ชูศักดิ์" ดอดให้ถ้อยคำ อสส.คดี "ทักษิณ-พท." ล้มล้างการปกครอง
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง วันที่ 6 พ.ย. เวลา 08.40 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (The 8th Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Summit: The 8th GMS Summit) และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 (The 10th Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: The 10th ACMECS Summit) ระหว่างวันที่ 6-7 พ.ย.นี้ ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
อย่างไรก็ตาม น.ส.แพทองทองไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประเด็นเกาะกูดที่ยังเป็นปัญหายังไม่จบ เนื่องจากยังมีคำถามว่าสามารถยกเลิกเอ็มโอยู 44 ได้หรือไม่ โดยนายกฯ เพียงส่งยิ้มและโบกมือให้ผู้สื่อข่าวเท่านั้น
จากนั้นเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง น.ส.แพทองธารพร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง และคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิงฉางสุ่ย นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยเมื่อมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติ มีนางหยาง หยาง รองผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มารอให้การต้อนรับ พร้อมคณะนักแสดงพื้นเมืองของมณฑลยูนนานที่ได้มอบช่อดอกไม้ให้นายกรัฐมนตรีด้วย
จากนั้นเวลา 14.30 น. นายกฯ ได้เดินทางไปโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล คุนหมิง เข้าหารือกับนายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)
หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญหาหารือว่า นายกฯ ขอบคุณประธานธนาคารพัฒนาเอเชียสำหรับการสนับสนุน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program (CARES) ซึ่งเอดีบีสนับสนุนเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการต่างๆ รวมทั้งความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจในด้านต่างๆ เช่น การขนส่ง พลังงาน เศรษฐศาสตร์มหภาค และนโยบายการคลัง การสนับสนุนของเอดีบีช่วยให้ไทยสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ พร้อมชื่นชมเอดีบีสำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และหวังว่าเอดีบีจะร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะทางในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
นายกฯ ร่วมเวที GMS Summit
นอกจากนี้ นายกฯ ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายหลักในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แม้ไทยเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจำเป็นต้องสร้างการไหลเวียนของการเงินสีเขียว หรือการเงินที่เกี่ยวข้อง กับการลงทุนเพื่อลดมลภาวะจากภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ประธานเอดีบีกล่าวว่า ไทยและธนาคารพัฒนาเอเชียมีความร่วมมือกันมายาวนาน และพร้อมจะส่งมอบความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ไทยอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งเอดีบีและไทยได้มีการจัดทำแผนความร่วมมือด้านโครงการเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างกัน (Country Programming Mission: CPM) ครอบคลุมทั้งโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นถนน การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการส่งเสริมเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย
"เอดีบีถือว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของเอดีบีในการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค การเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงในภูมิภาคโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการเชื่อมโยงภาคเอกชน ซึ่งเอดีบีพร้อมกระชับความร่วมมือกับไทย เพื่อเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเพื่อสร้างความเจริญให้แก่ภูมิภาคนี้ด้วย" นายจิรายุอ้างคำกล่าวประธานเอดีบี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศที่ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย พร้อมคู่สมรส โดยนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นเจ้าภาพ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยสวมชุดเดรสผ้าไหมไทยประยุกต์เพื่อโชว์ความงดงามของผ้าไทย
ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เรื่อง การงดรับ งดให้ ของขวัญ ของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่
เนื้อหาประกาศเจตนารมณ์เรื่อง การงดรับ งดให้ ของขวัญ ของกำนัลทุกชนิด จากการปฏิบัติหน้าที่ ตอนหนึ่งระบุว่า กอ.รมน.ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงการป้องกัน ป้องปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนั้นเพื่อผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ทุกระดับ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ก่อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ กอ.รมน.จึงจัดให้มีการประกาศเจตนารมณ์เรื่อง การงดรับ งดให้ ของขวัญ ของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการปลูกฝั่งค่านิยม เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการโดยการไม่รับ ไม่ให้ของขวัญ ของกำนัลทุกชนิดในช่วงเทศกาลและทุกโอกาส เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำอันอาจมีผลต่อดุลยพินิจหรือการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กอ.รมน.ได้รับนโยบายดังกล่าวแจกจ่ายให้กับกำลังพลทุกระดับ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ หน่วยงานภายในทำเนียบรัฐบาล ทั้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ก็มีการออกนโยบายดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารเพื่อเสนอให้นายกฯ ลงนามต่อไป
'นิกร' ชงทำประชามติชั้นครึ่ง
ที่รัฐสภา เวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ที่มีพล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน เมื่อเริ่มการประชุม นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า เรื่องนี้จริงๆ เป็นมาตราเดียว จะมีความคิดเห็นอื่นก็ได้ แต่เฉพาะมาตรานี้มีนัยสำคัญ และคิดว่าจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เท่าที่มี เพราะเป็นการตัดสินมาตราเดียว ซึ่งเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธ.ค. เรื่องนี้ควรเข้าสู่ที่ประชุมทันที เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน
"ในการประชุม กมธ. หากมีการโหวตเราจะแจ้งไปในหนังสือเชิญ และผมจะแจ้งในแอปพลิเคชันไลน์ด้วย ไม่ใช่ว่าพวกผมไม่อยู่แล้วแอบโหวต" นายนิกรกล่าว
จากนั้นเวลา 16.00 น. นายนิกรแถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ให้ทั้ง กมธ. สส.และ สว.ได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ยังยืนเหมือนเดิมเกี่ยวกับผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งฝ่าย สว.ยังคงยืนยันที่จะใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่ฝ่าย สส.กังวลว่าถ้าคนออกมาใช้สิทธิน้อย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน แล้วจะมีปัญหา ซึ่งตนในฐานะตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้เสนอว่า ในมาตรา 6 ให้ยกเลิกมาตรา 13 ที่ระบุว่า การออกเสียงประชามติผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องประชามติ
"ถ้านับตรงนี้คือการทำประชามติแบบชั้นครึ่ง ไม่ใช่ 2 ชั้นหรือชั้นเดียว ซึ่งผมยังไม่ตัดสินใจว่าจะยืนตามนี้หรือไม่ และเห็นว่าถ้ามีการโหวตกันในวันนี้จะเกิดการแตกหัก ดังนั้นสิ่งที่เสนอคือมีทางออกตรงกลาง แต่ถ้าวุฒิสภาจะเอาแบบ 2 ชั้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะจะมีปัญหา จึงขอลดลงมาเหลือชั้นครึ่งได้หรือไม่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาศักดิ์สิทธิ์" นายนิกรกล่าว
เลขานุการ กมธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาองค์รวมและได้ข้อสรุปว่า การออกเสียงประชามติจะไม่เป็นแบบเดิมที่ทำมา เพราะมีการแก้ไขในหลายมาตราให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น คือใช้การออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์เป็นหลัก โดยมีหน่วยคูหามาเสริมเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย และในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แล้วว่าการลงมติทางไปรษณีย์ให้มีน้ำหนักเท่ากับเข้าคูหา
"ผมได้พูดคุยบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ว่าปัจจุบันดำเนินการอย่างไร ซึ่งเขาให้ความเห็นว่าสามารถทำได้ดี และค่าใช้จ่ายลดลงมาก ประชาชนเข้าถึงได้มาก เพราะไม่ใช่การเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และไปรษณีย์ ว่าหากมีการออกเสียงประชามติแบบใหม่ ทำได้ง่าย และประชาชนเข้าถึงได้ง่ายหรือไม่ ถ้าทำได้ ตนอาจจะยืนให้ทำประชามติชั้นครึ่ง เพราะเชื่อว่าคนจะออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งแน่ ทั้งนี้ ทราบว่าทาง กกต.จะเดินทางไปดูงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังจะมีการทำประชามติประมาณวันที่ 20 พ.ย. เพื่อที่ กกต.จะได้แนวคิดมาใช้กับประเทศไทย" เลขานุการ กมธ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายนิกรกล่าวว่า ในวันที่ 20 พ.ย. ทาง กมธ.จะเชิญ กกต.และไปรษณีย์มาคุยเรื่องนี้ โดยไม่รอ กกต.ที่เดินทางไปดูงานกลับมา หากวันนั้นเราได้ข้อมูลครบ เราอาจจะตัดสินใจก็ได้ หรืออาจจะขยับอีกครั้งแล้วตัดสินใจ แต่ยืนยันว่าได้ข้อสรุปก่อนเปิดสภาแน่ เราจึงยังมีโอกาสได้หายใจ ถ้าหักกันวันนี้ จะต่อไปอีก 180 วัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำท่าจะไม่ทันปี 70 ถ้าต่อไปอีก 180 วัน ก็อาจจะเลย 72 หรือ 73 จะนานเกินไป เราจึงต้องทำให้เร็วที่สุดแม้ว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า และจากการพูดคุยใน กมธ. ก็อาจจะมีการถอยอยู่บ้าง อาจจะลดลงมาจาก 2 ชั้น หรือชั้นเดียว ก็มาอยู่ตรงกลางเป็นชั้นครึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจจะไปได้ดี
ถามว่า กมธ.ฝ่าย สว.เห็นด้วยกับแนวคิดการออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ทาง สว.เขาก็ฟัง แต่ขอรอฟังข้อมูลจากไปรษณีย์ก่อน เพราะเขาก็หวังดีกับประเทศเหมือนกัน ซึ่งฝ่าย สส.ก็เหมือนกัน เพราะเรื่องแบบนี้สามารถจับมือคุยกันได้ ไม่จำเป็นต้องดับเครื่องคุย เพราะจะแตกหักกันเปล่าๆ และเวลาก็ขยายไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็น
"ผมมองว่าการทำประชามติ 2 ชั้นนั้นมากเกินไปและไม่มีเหตุผล และการทำประชามติแบบชั้นครึ่งทาง สว.เขาก็ฟัง และที่สำคัญชั้นครึ่งเข้ากับร่างของพรรคภูมิใจไทย แนวโน้มกับ สว.ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะรอมชอมกัน เพราะ สว.เขาฟังที่เราเสนอ ซึ่ง สว.ผมไม่ห่วง แต่ห่วง สส. เพราะ สส.พวกมากกว่า” นายนิกรกล่าว
สว.จ่อถอยกันคนละก้าว
ด้านนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.ยังไม่มีข้อสรุปการปรับลดหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนตัวเอง สว.ยืนยันเจตนารมณ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สส.ก็ยืนยันการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว อย่างไรก็ตาม นายนิกรเสนอทางออกใช้เสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเห็นชอบยึดเกณฑ์เสียงข้างมากชี้ขาด แทนการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ โดยเสนอทำประชามติผ่านไปรษณีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา จูงใจให้คนมาใช้สิทธิทำประชามติมากขึ้น ที่ประชุม กมธ.จึงมีมติเชิญตัวแทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาชี้แจงต่อ กมธ. วันที่ 20 พ.ย. ถึงความพร้อมหากต้องทำประชามติผ่านไปรษณีย์
“หากบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ มีความพร้อม ก็เป็นไปได้จะพิจารณาลดหลั่นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นลงมาได้บ้างหรือไม่ ถอยกันคนละก้าว อาจเหลือแค่เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่งก็เป็นได้ ขอดูความพร้อมบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ก่อน แต่ถ้าจะใช้เสียงข้างมากแค่ชั้นเดียว สว.คงไม่ยอม” นายพิสิษฐ์กล่าว
ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ว่า หวังว่าการประชุมร่วมกันของสองสภาไม่ควรใช้เวลานาน เนื่องจากมีเพียงประเด็นเดียวที่ยังมีความเห็นต่างกัน คือเรื่องการใช้กติกาเสียงข้างมากหนึ่งชั้น หรือเสียงข้างมากสองชั้น สำหรับการทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"ผมมีความเห็นหากรัฐบาลยังยึดแผนเดิมที่จะให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง และการผูกเงื่อนไขไว้ว่าจะไม่ทำประชามติครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จนั้น ผมเกรงว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถูกจัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ถูกบังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เนื่องจากความประสงค์ของรัฐบาลคืออยากให้เกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงต้นปี 68 แต่ในเมื่อวันนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังไม่ได้ข้อสรุป จึงทำให้กรอบเวลาดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นจริงได้ ซึ่งหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้นั้น ก็คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ตามที่พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่าเพียงพอแล้ว" นายพริษฐ์กล่าว
ถามถึงการขอเข้าพบ 3 บุคคลที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ โฆษกพรรค ปชน.กล่าวว่า ประธานรัฐสภา ซึ่งได้มีการยืนยันว่าจะมีการพบกัน คาดว่าในการหารือครั้งนี้ เราจะสามารถคลายข้อกังวลเรื่องการบรรจุร่างดังกล่าวไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 และหวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจและบรรจุร่างดังกล่าว
สำหรับนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล ตนตั้งใจว่าจะเข้าไปหารือในการเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันในการทำประชามติ 2 ครั้ง เพื่อให้ สส.จากทุกพรรคลงมติเห็นชอบกับแนวทางนี้ และเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้ ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง ในการโน้มน้าว สว.ให้เห็นชอบด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับทราบว่านายกรัฐมนตรียินดีที่จะให้เข้าพบ และศาลรัฐธรรมนูญ แม้ตนจะยืนยันว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำมาจากประชามติ 3 ครั้ง แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญจะมาขยายความเพิ่มเติม ว่าหมายถึงขั้นตอนอย่างไร และหมายถึงการทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจในการเดินหน้าตามประชามติ 2 ครั้ง
ถามถึงกรณีที่เสียง สส.ขาดในการประชุมนัดแรก วาระเลือกประธาน กมธ.นั้น มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้คะแนนเสียงของสองสภาเท่ากัน นายพริษฐ์ระบุว่า การลงมติเป็นการลงมติแบบลับ แต่หากดูจากผลการลงมติก็จะพอคำนวณได้ว่าคะแนนจาก สว. ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นประธาน ได้รับมากกว่าจำนวน สว.ที่เข้าประชุมในวันนั้น หมายความว่าคงมี กมธ.สัดส่วน สส.ไปลงมติให้ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีใครบ้าง ส่วนเรื่องการเติมรายชื่อนั้น ข้อบังคับไม่ได้เปิดไว้ เพราะ กมธ.มีฝั่งละ 14 คน จึงขึ้นอยู่กับว่าในการประชุมแต่ละครั้งมีตัวแทนจากฝั่งละกี่คน
'ชูศักดิ์’ ดอดให้ถ้อยคำคดีแม้ว
วันเดียวกัน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจาหากจะสำเร็จและยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศจะต้องให้ความเห็นชอบผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าเห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง
ถามถึงการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียม นายมาริษกล่าวว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งเอ็มโอยู 44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่อง ทั้งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันไปพร้อมๆ กัน โดยไม่อาจแบ่งแยกได้
"ยืนยันหากการเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ" นายมาริษกล่าว
เมื่อถามถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ด้วยข้ออ้างทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า เอ็มโอยู 44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดน เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ สาระสำคัญในเอ็มโอยู 44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกัน เพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น โดยแผนผังแนบท้ายเป็นเพียงภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเลตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด
"การคงไว้ซึ่งเอ็มโอยู 44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากัน ทั้งในเรื่องเขตทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วมไปพร้อมๆ กัน" รมว.การต่างประเทศกล่าว
ซักว่า กรณีรัฐบาลปี 2552 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่ ครม.และรัฐสภาจะมีผลอะไรหรือไม่ นายมาริษกล่าวว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงและด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุปเสนอเป็นมติ ครม.ในปี 2557 ว่าการคงเอ็มโอยู 44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน
"ขอให้เชื่อมั่นว่าการเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศจะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด" นายมาริษกล่าว
ด้านความคืบหน้ากรณีสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงพรรคเพื่อไทย เชิญมาให้ถ้อยคำกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ได้ยื่นคำร้องขอต่ออัยการสูงสุดขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2
เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ
มีรายงานว่า วันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวนแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีการเผยแพร่เอกสารการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า "นายทักษิณ ชินวัตร" (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดตามวันที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอประมาณในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย.นี้เเล้ว
มีรายงานว่า เมื่อตอนที่ได้รับคำร้องจากนายธีรยุทธ ได้มีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุดเป็นประธานคณะทำงานพิจารณาก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่ง และก่อนหน้านี้มีรายงานว่า คณะทำงานมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง โดยให้เหตุว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง เป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต. ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด
หลังจากนั้นทางอัยการสูงสุดได้พิจารณาเเล้วเห็นควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง จนนายชูศักดิ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าให้ถ้อยคำต่ออัยการสำนักงานการสอบสวน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า สำหรับเรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการกำชับผู้ที่เกี่ยวข้องห้ามให้ข่าวเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หุ้นร่วงบาทอ่อน ผวาผู้นำใหม่US แนะรบ.ปรับตัว
ม.หอการค้าไทยคาด "ทรัมป์" ชนะเลือกตั้ง สงครามทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐรุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
เปิดทาง‘โต้ง’อสส.ไม่อุทธรณ
เปิดช่องนั่ง "ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ" อัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์คดี "กิตติรัตน์"
‘ทรัมป์’คัมแบ็กปธน. คว้าชัยเหนือ‘แฮร์ริส’ประกาศยุคทองอเมริกา/โลกแห่ยินดี
"โดนัลด์ ทรัมป์" อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน
นายกฯ อิ๊งค์ถึงจีนแล้วพร้อมประชุมนานาชาติ!
นายกฯ ถึงจีนแล้ว พร้อมเข้าร่วมเวที GMS ครั้งที่ 8 และ ACMECS ครั้งที่ 10
นายกฯ อิ๊งค์ลงนามประกาศงดรับงดให้ของขวัญของกำนัลทุกชนิด!
นายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. ลงนามประกาศ ไม่รับของขวัญ ของกำนัล ทุกชนิด ป้องกันทุจริต-ผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ทำเนียบฯ เตรียมเสนอนายกฯลงนามด้วยเช่นกัน
นายกฯอิ๊งค์โบกมือแทนคำตอบเรื่องยกเลิก MOU44
นายกฯ บินจีนประชุมลุ่มน้ำโขง ปัดตอบดรามาไม่จบปมเอ็มโอยู 44 - เลือกตั้งปธน.มะกัน