ตั้งJTCลุยMOU44 ชงครม.เคาะภูมิธรรมคุม บี้เคลียร์สัมปทานทับซ้อน

นายกฯ เผยตั้ง คกก. JTC ไทย-กัมพูชา ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อุบชื่อ "ภูมิธรรม" นั่งประธาน "เสี่ยอ้วน" ยันสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยกเลิก  MOU 44 ไม่จริง อ้างแค่รับหลักการไปขอความเห็น สมช.-หน่วยเกี่ยวข้องทุกหน่วยชี้เป็นกลไกดีสุด เจอ "กษิต" แจง "รบ.มาร์ค" ยกเลิกเอ็มโอยู เหตุ "ฮุน เซน" ตั้ง "ทักษิณ" เป็นที่ปรึกษากัมพูชา  ไทยมองไม่เป็นมิตร-แทรกแซง แต่เรื่องไม่เสร็จเพราะรัฐบาลยุบสภาก่อน "อนุทิน" เตรียมลงเกาะกูดให้กำลังใจคนพื้นที่ "ปชน." ถามรัฐบาลหากเจรจา OCA จบเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมหรือไม่  "ม็อบ" ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ  เกาะติดปมร้อน 

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567   น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)  แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อพูดคุยกับทางกัมพูชาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนว่า วันนี้ยังไม่มีเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.  แต่คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์คงเข้า ครม.ได้

"เอ็มโอยู 44 ที่พูดไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเจรจา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศต้องมีคณะกรรมการแน่นอน ทุกรัฐบาลมีมาแล้ว  รัฐบาลนี้ยังตั้งไม่เสร็จ เมื่อตั้งเสร็จแล้วเวลามีคำถามหรือหากต้องสื่อสารของประชาชนแต่ละประเทศ คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้กรองข้อมูลในการสื่อสารก่อน เราต้องตั้งแน่นอน ไม่ได้จะลุยหรืออะไร แต่เราต้องตั้งไว้เพื่อให้เกิดการเจรจากัน ไม่อยากพูดฝ่ายเดียว เพราะเป็นเรื่องของสองประเทศ" น.ส.แพทองธารกล่าว 

ถามว่า หัวหน้าคณะกรรมการ JTC จะเป็นใคร นายกฯ กล่าวว่า ขอบอกทีเดียว เมื่อถามย้ำว่ากระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่าจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เดี๋ยวดูอีกที

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวว่า การเสนอตั้งคณะกรรมการ JTC   ไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการเดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและอดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง   กระทรวงพลังงาน ตัวแทนกรมสนธิสัญญาฯ   กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด

ถามว่า กรณีนายกฯ ระบุหากยกเลิกเอ็มโอยู 44 ไทยอาจจะเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องเอ็มโอยู 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่ง จ.ตราด และเกาะต่างๆ ให้ไทย ดังนั้นเกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดน จึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ทางกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้ จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับเอ็มโอยูดังกล่าว

 "ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกฯ ได้ประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป และรักษาไว้เท่าชีวิต ซึ่งขณะนี้เรามีหน่วยงานราชการต่างๆ อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ยุติเรื่องนี้ เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง" นายภูมิธรรมกล่าว

รองนายกฯ อธิบายว่า เอ็มโอยู 44 เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 กัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนไทย และปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนเขา ดังนั้นจึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของเอ็มโอยูที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มีพื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้นเอ็มโอยู 44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากันว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นไทยกับกัมพูชาจึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน

อ้วนยัน รบ.มาร์คไม่เลิก MOU

นอกจากนี้ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา

"ที่บอกสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี 2557 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำเนินการต่อ โดยมี พล.อ.ประวิตรไปเจรจาเรื่องเอ็มโอยู 44 ดังนั้นไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส จึงอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าวก็คงต้องหาคำตอบกันเอง ซึ่งประเด็นนี้ผมจะไม่ตอบอีกแล้ว" รองนายกฯ กล่าว

ถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่มการเมืองพรรค พปชร.ออกมาโจมตีเรื่องนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า  กลุ่มการเมืองพรรค พปชร.ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจาเอ็มโอยู 44 ทั้งหมดเหมือนกัน ก็ต้องถามตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา

ซักว่า เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบมาโจมตีรัฐบาล นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก และเรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย

 พอถามว่า หลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเล รัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะยังไม่เกิดถึงเวลา เราใช้กฎหมายทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ จับตาสถานการณ์ ทางไทยพีบีเอส ถึงสถานะของ MOU 44 ไทย-กัมพูชา ว่าเหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตัดสินใจยกเลิก MOU 44 มาจากการที่นายฮุน เซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น ได้ตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทยเป็นที่ปรึกษากัมพูชา ซึ่งเราเห็นว่าการกระทำของนายฮุน เซนนั้นไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร และแทรกแซงกิจการภายในของไทย รัฐบาลขณะนั้นจึงต้องการแสดงออกว่าเราไม่พึงพอใจ ด้วยการยกเลิก MOU 44 แล้วก็ต้องการบอกกับนายทักษิณด้วยว่าการกระทำของนายทักษิณไม่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อมีมติ ครม.ออกมา ก็ต้องมีกระบวนการต่างๆ เพื่อจะนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการอยู่ แต่ว่ารัฐบาลในขณะนั้นก็ยุบสภาพ้นจากตำแหน่งไป ก็เท่ากับว่าเรื่องนี้ยังค้างอยู่ โดยผ่านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลนายเศรษฐา กระทั่งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ก็เท่ากับว่า MOU 44 ยังมีชีวิตอยู่ และล่าสุดนายกฯ แพทองธารก็ได้ยืนยันว่า MOU 44 ยังมีชีวิต และยังอยู่ในการเตรียมการที่จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยต่อไป

ถามว่า เนื้อหาสาระของ MOU44 คืออะไร นายกษิตกล่าวว่า มีประเด็นหลักๆ คือทั้ง 2 ฝ่าย ช่วงรัฐบาลทักษิณ ที่มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น รมว.การต่างประเทศ กับทางฝ่ายนายฮุน  เซน ก็บอกว่าเรามาทำ MOU 44 เพื่อตกลงข้อพิพาททางทะเลด้วยสันติวิธีและวิธีการทางทูต  การเจรจาก็มี 2 เรื่อง คู่ขนาน เรื่องแรก การปักปันเขตแดนว่าอะไรเป็นของไทย แล้วจะมีพื้นที่ร่วมหรือไม่ เรื่องที่สอง จะมีการสำรวจทรัพยากร ทางธรรมชาติใต้ทะเล ซึ่งก็เป็นของดี เท่ากับเป็นกรอบให้ 2 ประเทศแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ก็เท่านั้นเอง ส่วนการเจรจาจะออกมายังไง มันก็เป็นฝีมือของนักเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย

หนูจ่อลงเกาะกูดให้กำลังใจ

เมื่อถามว่า แล้วมองอย่างไรทำไมถึงมีเรื่องเสียเกาะกูดขึ้นมาได้ นายกษิตกล่าวว่า ก็ต้องกลับไปที่ประวัติศาสตร์ว่าประเทศสยามได้ทำการตกลงกับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมผู้ปกครองกัมพูชาเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว โดยระบุแน่ชัดว่า เกาะกูดเป็นของสยาม เป็นของราชอาณาจักรไทย

"เรื่องนี้ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย แต่ไม่ทราบว่าเจตจำนง หรือความสัปดนทางจิตใจของใคร  เพราะเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสชัดเจนอยู่แล้ว  แล้วเราปกครอง ครอบครองเกาะกูดมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เรามีอำเภอ มีนายอำเภอ ที่สำคัญผมก็ไม่เคยได้ยินว่าทางฝ่ายฮุน เซน มายกกองทัพมายึดเกาะกูด" นายกษิตกล่าว

ซักว่า มีพรรคการเมืองกลุ่มทางการเมืองที่เคลื่อนไหวหยิบเอาเรื่องนี้มาสื่อสาร จะเป็นความเปราะบางในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ  นายกษิตกล่าวว่า ไม่ใช่ เรื่องนี้เป็นความเลวร้ายของคนที่เอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมาเป็นประเด็นทางการเมืองให้ได้ ทั้งๆ ที่ข้อตกลงชัดเจน ถ้าพรรคการเมือง นักการเมืองบางคนที่คิดวิปริตไม่ยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ก็ช่วยไม่ได้

"ต้องย้ำว่ารัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ  ผู้รู้ประวัติศาสตร์ ต้องออกมาชี้แจงว่าเกาะกูดเป็นของไทย และ MOU 44 ก็เป็นกรอบที่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไม่ได้เกี่ยวกับเกาะกูด เพราะเกาะกูดมันข้อตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสต่างหาก เป็นร้อยปีมาแล้ว เรื่องนี้ต้องแยก 2 ประเด็นให้ชัด" นายกษิตกล่าว

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูด จ.ตราด เพราะเมื่อเกิดประเด็นเราก็ไปดู ไปให้กำลังใจชาวบ้าน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรค รทสช.ต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาว่า ภาพใหญ่ของพรรคเรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วมฯ ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.แพทองธาร ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

"สิ่งที่คนกังวลคือเรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมฯ ทั้งหมด" นายเอกนัฏกล่าว

ถามว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ JTC หรือไม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติ ครม.ปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปชน.จี้สัมปทานพื้นที่ OCA

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เชื่อทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เตะทิ้งไปได้ ไม่ได้อยู่ในข้อสังเกต ข้อกังวลของ MOU 2544 แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่ประเทศไทยใช้มาตรการลากเส้นแบ่งเขตแดนแบบหนึ่ง แต่กัมพูชาใช้อีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และพื้นที่ทับซ้อนตรงนี้ก็มีทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน คือปิโตรเลียม จึงทำให้ต้องมีการพูดคุยกัน

"ไม่ใช่ข้อขัดแย้ง แต่เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องมีคณะกรรมการเจทีซีเกิดขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปรึกษาหารือกันโดยตลอด แต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงทำให้ต้องมีการตั้งเจทีซีของไทยขึ้นมาใหม่ ขณะที่เจทีซีกัมพูชายังมีอยู่ ขอฝากประชาชนอย่าเอาประเด็นการเมืองมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน" นายวราวุธกล่าว

ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ปกป้องผลประโยชน์ชาติกรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่สัมปทาน” ระบุว่า อยากชี้ชวนพี่น้องประชาชนให้เห็นถึงประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ว่ามีมากกว่าเรื่องเกาะกูด และการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาที่เป็นที่สนใจกันอยู่ เราเสี่ยงที่จะเสียอธิปไตยเหนือเกาะกูด จากการเจรจา OCA และการพยายามเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA หรือไม่?

นายณัฐพงษ์ระบุว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าเกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างหรือมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของเกาะกูดแต่อย่างใด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นแน่นอน แต่เรื่องน่ากังวลที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ก็คือการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA อันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล

นอกจากนี้ ตนขอตั้งคำถามต่อรัฐบาลถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่ หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา

"ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่ OCA เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือมีการแถลงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น" หัวหน้าพรรค ปชน.กล่าว

วันเดียวกัน ที่สะพานชมัยมรุเชฐ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อมรถเครื่องขยายเสียงเดินทางมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืน และข้อกังวลในเรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา (MOU 2544) เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ภายหลังกัมพูชาลากเส้นแบ่งเขตทับเกาะกูด ซึ่งห่วงว่ารัฐบาลพุ่งเป้าเจรจาด้านผลประโยชน์พลังงาน ก่อนทำเรื่องเขตแดนให้ชัดและเตรียมกำหนดแนวทางชุมนุมยืดเยื้อ หาก ครม.มีมติชอบตั้งนายภูมิธรรมเป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC)

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวถึงการชุมนุมว่า เรายังคงเดินหน้าตรวจสอบนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็น MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา การชุมนุมเคลื่อนไหวจะเน้นไปในประเด็นผลประโยชน์ทางทะเล ที่เกี่ยวข้องกับ MOU 2544 เพราะมีข้อกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาล ที่อาจจะนำแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องเขตแดน เนื่องจาก คปท.มองว่าควรจะมีการเจรจาควบคู่กันไป เมื่อเขตแดนชัดเจน แล้วจึงพูดคุยถึงเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน

แกนนำ คปท.กล่าวว่า หลังจากทางกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง JTC และมีแนวโน้มว่านายภูมิธรรมจะเป็นประธาน จึงมีข้อกังวลว่าท่าทีของนายภูมิธรรมจะพูดเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานก่อน ดังนั้นถ้าคณะกรรมการชุดนี้ผ่าน ครม. ก็จะกำหนดแนวทางการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป

"ได้มีการหารือกับอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางคนที่จะมาร่วมกันติดตามกรณี MOU 2544 ซึ่ง คปท.มีการจัดกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม ทุกเดือนอยู่แล้ว และก็จะใช้เวทีนี้เชิญอดีต สว.และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมาเป็นพันธมิตรร่วมกัน เราจะไม่ปล่อยเรื่องนี้" แกนนำ คปท.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้