กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย

นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ แจงยิบเกาะกูดเป็นของไทยไม่เคยมีข้อสงสัย สวนพวกร้องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 "ทำแล้วได้อะไร" ชี้ยกเลิกฝ่ายเดียวโดนเขมรฟ้องแน่ “กระทรวงการต่างประเทศ" ตั้งโต๊ะแถลง เผยรัฐบาลยุคอภิสิทธิ์แค่รับหลักการยกเลิก MOU 44 แต่หลัง กต.หารือพบข้อดีมากกว่าเสีย รัฐบาลทุกยุคเลยไม่ทิ้ง “สนธิรัตน์” แฉมติ ครม.เห็นชอบยกเลิกยุคมาร์คก็นั่งหน้าสลอนในรัฐบาลนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องสีเขียว  ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือเรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา  (เอ็มโอยู 44) ก่อนจะแถลงผลการประชุม

โดย น.ส.แพทองธารแถลงว่า มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องเอ็มโอยู 44 ได้คุยกันในรายละเอียด วันนี้มายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งนานแล้ว ทางกัมพูชาก็รับรู้เช่นกัน และแน่นอนว่ารัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดระหว่างกัมพูชาเองเราไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย เพราะฉะนั้นอาจแค่เกิดความเข้าใจผิดกันของไทยเอง ส่วนเรื่องเอ็มโอยูนั้นยังอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้  ถ้ายกเลิกต้องใช้การตกลงระหว่างสองประเทศคือไทยและกัมพูชา ถ้าเรามายกเลิกเองจะถูกฟ้องร้อง เพราะเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ

เมื่อถามว่า เกาะกูดเป็นของไทย แต่รัศมีทะเลเป็นของเราอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยูอยู่แล้ว ส่วนการตีเส้นเขาก็ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา ซึ่งการพูดคุยกันในวันนี้ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อตกลงอะไร เราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชาด้วย และตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนานเพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร

เมื่อถามว่า การไม่ยกเลิกเอ็มโอยูทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งสองประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน  ต่อมาปี 2516 ไทยขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโออยู่ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร  ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ เกาะกูดเป็นของไทยเหมือนเดิม

สวนกลับยกเลิกแล้วได้อะไร

เมื่อถามต่อว่า มีการอ้างสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี เอ็มโอยูปี 2544 ยกเลิกไม่ได้ หากไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา และในปี 2552 ก็ไม่มีเรื่องนี้เข้าในรัฐสภา

ถามถึงเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 นายกฯ ตอบว่า ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูว่าถ้าคิดไม่เหมือนกันเราต้องคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ในเอ็มโอยูดังกล่าวเปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน จึงต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวเราโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์

เมื่อถามว่า รัฐบาลอาจถูกครหาในการเดินต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกฯ กล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่เรามากันในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจคอนเซปต์เดียวกันว่า อันนี้คือข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟังเพื่ออธิบายว่า 1.เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด ไม่เคยรวมเกาะกูด เกาะกูดเป็นของเรา 2.เอ็มโอยูคือเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ หากยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3.เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับข้อตกลงเลย ฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน เราอยากให้เข้าใจตรงกันตามหลัก

เมื่อถามอีกว่า กลัวประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้วไม่น่าจะบานปลาย เพราะทั้งหมดคือข้อเท็จจริง ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะที่กล่าวมาคือกรอบเป็นหลักคิด เป็นกฎหมาย

ถามว่า เรื่องนี้จะเป็นเผือกร้อนในมือของนายกฯ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ไม่เลยค่ะ"

เมื่อถามต่อว่า แนวทางของรัฐบาลต่อข้อกังวลเรื่องพลังงานใต้ทะเลเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน และต้องศึกษารายละเอียดว่าจะแบ่งกันอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับ 2 ประเทศยุติธรรมมากที่สุด

ถามอีกว่า จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกฯ กัมพูชาในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า  ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนกชันที่ดีได้ เหมือนเรามีเพื่อนสนิทเราก็สามารถคุยกันได้ แต่เรื่องของประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการเพื่อไม่ให้มีอคติ ความรู้สึกของฉันของเธอขึ้นมา  ในเรื่องของประเทศที่สำคัญเราต้องใช้คณะกรรมการคุยกัน เพื่อให้เกิดความรู้จริง รู้ครบ และยุติธรรมด้วย”

อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100%

เมื่อถามอีกว่า ยืนยันจะรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างสูงสุดใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่  และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้มาชี้แจงให้พรรคร่วมรัฐบาลฟัง เป็นการชี้แจงในทางเทคนิค และเล่าให้ฟังว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งคณะกรรมการจะสิ้นสุดลงไปด้วย

“เรื่องเอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด แต่เป็นการลงนามความตกลงที่จะหาวิถีทางในการพัฒนาพลังงานในอ่าวไทย มีกรอบอยู่แค่นี้ ไม่มีกรอบในเรื่องแบ่งเขตแดน พูดง่ายๆ เอ็มโอยู 44 นี้พูดถึงเรื่องพัฒนาพื้นที่ในน้ำในทะเล ไม่ได้พูดถึงเรื่องพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ต้องยกเรื่องเกาะกูดเรื่องของเขตแดนออกไปเลย”

  เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้จะหาบทสรุปได้ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มันต้องเป็นการเจรจา ไม่ใช่เรากำหนดฝ่ายเดียว ถ้ารอบแรกเจรจากันไม่ได้ ก็ต้องมีการเจรจารอบต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อตกลง

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ว่า ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์พูดกันเหมือนยกเลิก แต่ที่จริงไม่ได้ยกเลิก และยังไม่มีมติ ครม.ให้ยกเลิก และที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไปเจรจากับกัมพูชาเมื่อปี 2564 ซึ่งเรื่องนี้ยังค้างอยู่ และยืนยันว่าประเด็นเรื่องเอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดเลย เกาะกูดยังเป็นของไทย 100% ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาของฝรั่งเศส ดังนั้นการหยิบกรณีเกาะกูดมาพูดถึงจึงไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด

 “ถามว่าจะให้ยกเลิกอะไร เพราะยกเลิกในสิ่งที่ไม่มี  ถ้าจะให้ยกเลิกไม่เสียเกาะกูด เกาะกูดก็เป็นของไทยอยู่แล้ว จึงต้องเอาให้ชัดว่าจะขอยกเลิกอะไร เพราะรัฐบาลไม่ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่แรก จึงอยากให้ผู้เคลื่อนไหวไปหาประเด็น หรือหากมีประเด็นอะไรที่มีปัญหาก็พูดมาให้ชัด” นายภูมิธรรมตอบในเรื่องประเด็นยกเลิกเอ็มโอยู 44

กต.ตั้งโต๊ะแถลงยิบ

ขณะเดียวกัน กต.ได้เชิญสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศฟังบรรยายสรุปสถานะล่าสุด เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา โดยนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้อธิบายถึงเขตทางทะเลประเภทต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 รวมทั้งชี้แจงที่มาพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม. ที่ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 หรือเอ็มโอยู 2544

โดยนางสุพรรณวษายังอธิบายว่า เอ็มโอยู 2544 เป็นความตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยมิได้ยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่ายแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันต่อไป

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยังได้ชี้แจงสื่อมวลชนถึงคำถามเกี่ยวกับเอ็มโอยู 5 ข้อหลัก โดยสรุปคือ 1.เกาะกูดเป็นของไทย ไม่เคยเป็นประเด็นสงสัยทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน  เราใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ 100% 2.เอ็มโอยู  2544 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการ ตามหลักเขตและแผนที่ ซึ่งการประกาศนี้ก็ระบุไว้  3.เอ็มโอยู 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่นั้น ยืนยันว่าเป็นหลักสากล ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะเคลม  แต่ผูกพันเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

4.เอ็มโอยู 2544 ทำให้ไทยเสียเปรียบ เหตุใดจึงไม่ยกเลิกนั้น เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เสนอ ครม.ยกเลิกไปแล้วนั้น เพราะช่วงปี 2552 เรามีความสัมพันธ์ท้าทายหลายประเด็นกับกัมพูชา ทั้งการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร  ความตึงเครียดชายแดน กต.จึงเสนอ ครม.ให้ยกเลิก เพราะมองว่าไม่มีความคืบหน้า ซึ่ง ครม.รับในหลักการและให้ไปพิจารณาให้ดีและรอบคอบ ซึ่ง กต.ได้หารือกับทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ดังนั้นปี 2557 เห็นว่าเอ็มโอยู 2544 มีประโยชน์ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และกัมพูชาก็ยอมรับ จึงได้เสนอกับ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม. หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีรัฐบาลเข้ามาใหม่ กต.ก็เสนอให้ใช้กรอบการเจรจาเอ็มโอยู 2544 เป็นหลักพื้นฐาน ถือเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และทุกรัฐบาลก็ยอมรับ

และ 5.ส่วนการสร้างเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชา เราได้ประท้วงทันที 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2541, 2544 และปี 2564 ซึ่งผลการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน เพราะมีบางส่วนกินพื้นที่เส้นที่เราเคลมไว้ เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือและ สมช.อย่างใกล้ชิด
พปชร.ย้อนอดีตเลิกเอ็มโอยู

จากนั้นนางสุพรรณวษายังกล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ว่า กต.ได้เสนอรายชื่อให้ ครม.พิจารณามาสักพักแล้ว คาดว่า ครม.จะอนุมัติองค์ประกอบเร็วๆ นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า  "มติ ครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นที่เห็นชอบประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา  พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ซึ่งผู้นำพรรค สมาชิกพรรคหลายท่านก็นั่งอยู่ในรัฐบาลเวลานี้

จึงอยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ให้ออกมายืนหยัดในจุดยืนเรื่องการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น"

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ฟังการอธิบายเคลียร์ทุกเรื่อง แต่ที่บอกว่าการกำหนดเส้นไหล่ทวีป เป็นการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์เฉพาะเส้นนี้ ที่แปลกใจ ฝ่ายไทยไปยอมรับได้อย่างไร ยิ่งฟังจากพวกท่านชี้แจง เริ่มจับได้แล้วว่า พวกท่านไปยอมกัมพูชา เพียงเพื่อต้องการพลังงานขึ้นมาเร็วๆ แต่ปัญหาดินแดนผลประโยชน์ชาติที่มากกว่านี้ โอกาสที่จะเสียเปรียบ และเสียดินแดนในอนาคต ดูพวกท่านจะไม่ค่อยสนใจ ยิ่งฟังคำชี้แจงจึงต้องรีบยกเลิกเอ็มโอยู 44".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป