หึ่ง!เปลี่ยน‘พงษ์ภาณุ’แทน‘โต้ง’

“คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม” ลุกฮือ ยื่นหนังสือค้านคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ต้าน “กิตติรัตน์” ลงชิงชัย หวั่นเข้าแทรกแซงการทำงาน ด้านบอร์ดสรรหาสั่งเลื่อนประชุมเป็นวันที่ 11 พ.ย. แจงขอพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน “พิชัย” ปัดไม่รู้ชงเปลี่ยนชื่อเป็น “พงษ์ภาณุ” มองเป็นหน้าที่ทุกฝ่ายต้องคุยกัน "ภูมิธรรม" โอด "กิตติรัตน์" ถูกต้านเหตุโยงการเมือง ยันมีความเหมาะสมการเงิน-การคลัง แต่ต้องปล่อยตามกระบวนการสรรหา "ศิริกัญญา" ชี้พฤติกรรมในอดีต "กิตติรัตน์" จะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทำให้เป็นข้อกังวล

ที่บริเวณหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน กลุ่มมวลชนซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม ประมาณ 50 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณประตูฝั่งใต้สะพานพระราม 8 เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเลือกประธานกรรมการ ธปท. (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ)  ซึ่งมีรายชื่อตัวเต็งคือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.การคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงทำให้มีความกังวลว่าการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของ ธปท.

โดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. พร้อมผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือรายชื่อคัดค้านแก่ น.ส.ดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ซึ่งเป็นตัวแทนจาก ธปท.ออกมารับหนังสือดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ลาออกจากคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งนี้ เนื่องจากมีมลทินเช่นกัน หลังศาลฎีกาสั่งชดใช้ความเสียหายให้แก่รัฐจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2544 ในกรณีแก้ไขสัมปทาน AIS

พร้อมกันนี้ ได้ยื่น 20,999 รายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนนักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม  จากที่ได้ออกแถลงการณ์ห่วงใย ธปท.จะถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง ซึ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว

"เราเรียกร้องให้นายสถิตย์ลาออกจากคณะกรรมการสรรหาฯ เพราะเราเห็นว่ามันผิดฝาผิดตัวตั้งแต่กรรมการสรรหาแล้ว วันนี้จึงขอยื่น 20,999 รายชื่อให้กองเลขาฯ  ของ ธปท.เพื่อนำเสนอประธานสรรหาฯ ต่อไป" นายพิชิต กล่าว

ขณะที่นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 พ.ย. 2567  ออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย. 2567

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสรรหาเลื่อนการประชุมเพื่อสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย. และมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอเปลี่ยนรายชื่อผู้ชิงตำแหน่ง จากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว และจะมีการเสนอรายชื่อใหม่จริงหรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ผู้ที่รับผิดชอบทั้งหมดจะต้องคุยกัน เป็นอำนาจของกรรมการสรรหาและกระทรวงคลัง รวมถึง ธปท.ที่จะพิจารณา

ทั้งนี้ ตามอำนาจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองว่าก็สามารถเสนอรายชื่อใหม่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคลังและ ธปท. เพื่อให้ทั้งหมดเดินหน้าไปตามกระบวนการ แต่ส่วนตัวมองว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้นตามอำนาจไม่ได้มีอะไรมากมาย เพราะเรื่องสำคัญจริงๆ จะไปอยู่ที่คณะกรรมการชุดย่อยๆ เกือบหมด

 “อะไรก็ตามที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทุกคนพอใจ เข้าอกเข้าใจ เป็นเรื่องดีที่สุด ก็อยากจะให้ทุกฝ่ายคุยกัน ส่วนกรณีว่าคลังจะส่งรายชื่อนายพงษ์ภาณุแทนนายกิตติรัตน์นั้น ผมไม่ทราบ ให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงการคลังที่จะเป็นคนพิจารณา ส่วนความล่าช้าของเรื่องนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการบริหารจัดการและการทำงานของ ธปท. เพราะว่ายังมีรักษาการอยู่" นายพิชัยกล่าว

ส่วนกรณีที่กระแสสังคมมองว่า การที่กระทรวงการคลังเสนอชื่อนายกิตติรัตน์เข้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งนายกิตติรัตน์มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองและพรรคเพื่อไทย และอาจจะเป็นโอกาสให้เข้ามาล้วงเงินคงคลังได้ง่ายขึ้นนั้น นายพิชัยระบุว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน และไม่สามารถมาล้วงเงินคงคลังได้”

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสต้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เพราะเกรงว่าการเมืองจะเข้ามาแทรกการทำงานของ ธปท. ทำให้มีการเลื่อนการสรรหาในวันนี้ว่า สาเหตุที่เลื่อนการสรรหาวันนี้ต้องไปถามประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของตน

   เมื่อถามว่า ที่มีกระแสต้านเพราะนายกิตติรัตน์มาจากฝ่ายการเมืองใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องหาข้อสรุปและว่ากันตามกระบวนการทางกฎหมาย ถ้านายกิตติรัตน์ไม่ขาดคุณสมบัติก็สมัครได้ แต่ถ้าไม่เข้าคุณสมบัติก็ถูกปฏิเสธไป และจริงๆ ตนก็ไม่เห็นประเด็นที่จะต้องคัดค้านนายกิตติรัตน์

 “อย่างนั้นก็ทำงานไม่ได้เลย ผมคิดว่านายกิตติรัตน์ เข้าไปก็เป็นมืออาชีพ รู้ทั้งเรื่องการเงิน การคลัง และหากเข้าไปก็จะพูดคุยในมุมมองที่กว้างขึ้น  แต่เรื่องนี้ต้องไปถามนายกิตติรัตน์เอง ผมตอบแทนไม่ได้ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาหากเข้าสู่กระบวนการแล้ว หากตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดของแบงก์ชาติที่ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา ต้องไปถามตรงนั้น“ นายภูมิธรรม ระบุ

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่คือ รมว.การคลัง ดังนั้นจะบอกว่าการเมืองห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยว คงเป็นไปไม่ได้ ขออย่าเพิ่งตั้งแง่  ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ เป็นตัวบุคคลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำในอดีตที่ผ่านมา ที่มีพฤติกรรมส่อเค้าว่าจะกระทำการแทรกแซงแบงก์ชาติ เนื่องจากนายกิตติรัตน์สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.การคลัง เคยพูดว่าจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในช่วง 2554-2555 จึงกลายเป็นข้อกังวล แต่ตามกฎหมายผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีอำนาจที่จะแต่งตั้งกรรมการนโยบายการเงินฝั่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ซึ่งตามกระบวนการก็จะมีการเปลี่ยนหมุนเวียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ถามว่า หากคนที่อยู่ในการเมืองเข้าไปมีตำแหน่ง จะสามารถทำให้การขับเคลื่อนแบงก์ชาติเดินหน้าสอดรับกับรัฐบาลได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ถ้าเป็นคนที่มีวาระเข้าไปเพื่อกำหนดดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับรัฐบาลก็น่าจะมีส่วนสำคัญ แต่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้มีอำนาจเข้าไปกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย หน้าที่ตรงนี้ยังเป็นของกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่ดี แต่ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีสิทธิ์กำหนดว่าใครจะเข้ามาเป็น กนง.ในรุ่นต่อๆ ไปด้วย รวมไปถึงการเสนอชื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนต่อไป

"ต้องดูว่ายังจะสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ และคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่ และฝ่ายการเมืองเองก็มีแรงกดดันที่จะทำงานตอบสนองกับเป้าหมายในระยะสั้นมากกว่า ซึ่งคิดว่ามีส่วนสำคัญมาก ตามกฎหมายดูเหมือนจะไม่มีอำนาจอะไร แต่ถ้ากำหนด กนง.อีก 2 คนได้  ก็อาจจะเปลี่ยนเสียงข้างมากใน กนง.ได้ หรือเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ตรงนี้เป็นส่วนที่เราต้องจับตา"     

ส่วนการเลื่อนการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาตินาทีสุดท้าย จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญามองว่า  เป็นการซื้อเวลามากกว่า คงจะมีการพูดคุยตกลงกันให้เสร็จเรียบร้อย ว่าจะทำหน้าที่สบายใจกันทุกฝ่าย ไม่มีการเข้ามาแทรกแซง ตอนนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบอะไร เพราะตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้รักษาการทำหน้าที่ได้ต่อจนกว่าจะมีการเลือกประธานบอร์ดคนใหม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' ชี้อดีตไล่ล่า 'กิตติรัตน์' สังคมกังวลนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศ