จับตาประชุมคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ “สถิตย์” ลั่นกรรมการสรรหาฯ จะใช้วิจารญาณโดยอิสระ เผยผลตรวจคุณสมบัติ 3 รายชื่อผ่านฉลุย ชี้หาก “กิตติรัตน์” ติดหล่มที่ปรึกษาของนายกฯ “กุลิศ” ก็ไปด้วย “โต้ง” ยังมีเรื่องให้เสียว หลัง ป.ป.ช.จ่ออุทธรณ์ คดีขายข้าวให้อิเหนา แต่ อสส.ยังไม่ชี้ขาด “กองทัพธรรม” นัดรวมพลหน้าวังบางขุนพรหม เตือน กก.สรรหาฯ ต้องรับผลหากปล่อยการเมืองแทรก
ในเวลา 14.00 น. วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลงเมื่อเดือน ก.ย.2567 หลังจากมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 แต่ยังไม่สามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอขยายเวลาออกไป เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผู้เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวที่มี 3 ราย โดยกระทรวงการคลังเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ส่วน ธปท.เสนอชื่อนายกุลิศ สมบัติศิริ และนายสุรพล นิติไกรพจน์
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ ระบุว่า การประชุมในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. เพื่อลงมติว่าจะคัดเลือกบุคคลใดเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ ซึ่งกรรมการสรรหาฯ แต่ละคนมีความคิดเป็นอิสระของตัวเอง ซึ่งการเลือกประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ต้องเป็นไปตามหลักการคือ บุคคลที่จะได้รับเลือกมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ และมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญกับ ธปท.หรือไม่ โดยลักษณะต้องห้าม เช่น ต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือมีตำแหน่งในคณะทำงานของพรรคการเมือง ส่วนเรื่องคุณสมบัติ ก็คือต้องมีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท. และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือขัดแย้งทางผลประโยชน์กับ ธปท. อันนี้คือหลักกฎหมาย ซึ่งกรรมการสรรหาฯ ทุกคนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็ขอให้เชื่อว่ากรรมการสรรหาฯ จะใช้วิจารญาณโดยอิสระในการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.
แหล่งข่าวที่เป็นกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ให้ข้อมูลว่า ในการลงมติบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. ต้องได้เสียงจากกรรมการที่เข้าประชุมคือ 5 คน จากกรรมการ 7 คน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ไปตรวจสอบหาข้อมูลคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 3 คน คือ นายกิตติรัตน์, นายกุลิศ และนายสุรพลแล้ว โดยได้ข้อมูลแต่ละคนครบถ้วนหมด
“ผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต่างๆ ถือว่าทั้งสามคนผ่านไปได้ด้วยดี อย่างนายกุลิศ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชุดเดียวกับกิตติรัตน์ หากไม่ผ่านก็ไม่ผ่านทั้งสองคน เพราะเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ คนเดียวกัน เพียงแต่นายกิตติรัตน์เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ แต่นายกุลิศเป็นที่ปรึกษาธรรมดา ในแง่ของการเมืองก็ถือว่าเท่ากัน ซึ่งตรวจสอบแล้วทั้งนายกิตติรัตน์และนายกุลิศไม่ขัดคุณสมบัติ เพราะเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ที่เป็นตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัว ไม่มีเงินเดือน ไม่ได้เอาชื่อเข้า ครม. ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง และพรรคเพื่อไทยแจ้งมาว่านายกิตติรัตน์ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้นแล้ว”
ส่วนที่ล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้อุทธรณ์คดีขายข้าวอินโดนีเซีย หรือคดีบูล็อก อินโดนีเซีย ที่นายกิตติรัตน์เคยตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แต่ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องเมื่อเดือน ก.ค. แต่ ป.ป.ช.มีมติให้อุทธรณ์คดีนั้น เบื้องต้นเท่าที่กรรมการสรรหาฯ ได้รับรายงาน อัยการสูงสุดไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ส่วนที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มอดีตพนักงาน ธปท. และกลุ่มประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อคัดค้านนายกิตติรัตน์ ถือเป็นความคิดเห็นที่แสดงออกมา ซึ่งกรรมการก็อาจต้องนำมาพิจารณาดูว่าเข้ากับหลักการและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.วันจันทร์นี้หรือไม่ แต่ยังไงต้องยึดหลักการเป็นหลักในการลงมติ” แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ยื่นอุทธรณ์คดีขายข้าวอินโดนีเซีย ที่ศาลฎีกาฯ เคยยกฟ้องนายกิตติรัตน์เมื่อเดือน ก.ค.2567 ซึ่งเป็นมติหลังมีการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์เข้าชิงประธานบอร์ด ธปท. และต่อมา นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนบางสำนักว่า ก่อนหน้านี้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ในคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า ควรอุทธรณ์คดีดังกล่าว นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ต้องนำความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาพิจารณาประกอบ จึงถือว่าความเห็นของ อสส.คนที่แล้วจึงยังไม่ยุติ ซึ่งอัยการที่มีอำนาจหน้าที่ในคดีนี้ จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกว่า อสส.คนปัจจุบันจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อเป็นไปตามนี้ จึงเท่ากับว่าคดีดังกล่าวต้องดูว่าอัยการสูงสุดคนปัจจุบันคือนายไพรัชจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาฯ หรือไม่ และหากอัยการไม่ยื่น ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์เองหรือไม่ ซึ่งหากยื่นไปแล้ว ต้องดูว่า ศาลฎีกาฯ จะรับฟ้องหรือไม่ และหากรับฟ้อง ศาลฎีกาฯ จะสั่งให้นายกิตติรัตน์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากว่านายกิตติรัตน์เกิดได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.ในวันจันทร์นี้
ดร.ใจเพชร กล้าจน หรือหมอเขียว กองทัพธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กองทัพธรรมได้เชิญชวนประชาชนร่วมกันลงชื่อคัดค้านรัฐบาลครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-2 พ.ย.ที่ผ่านมา ผ่านเพจกองทัพธรรมและหมอเขียวแฟนคลับ พบว่าจนถึงวันที่ 2 พ.ย. มีประชาชนร่วมลงชื่อแล้ว 4,929 คน ซึ่งกองทัพธรรมจะร่วมกับ คปท.และศูนย์รวมประชาชนปกป้องกลุ่มสถาบัน หรือ ศปปส. จะเคลื่อนไหวนำรายชื่อทั้งหมด และไปแสดงท่าทีของประชาชนในการคัดค้านไม่ให้ รัฐบาลเข้าแทรกแซง ธปท. ที่หน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ตรงแยกบางขุนพรหม ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งตรงกับวันที่มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ที่จะมีการลงมติเลือกให้ใครเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่
“หากปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำแทรกแซง ธปท.ได้ จะเกิดผลกระทบหลายด้านกับเศรษฐกิจการเงินการธนาคารของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีเสียงเตือนทักท้วงจากหลายฝ่ายแล้ว เช่น กลุ่ม 227 นักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอดีตพนักงานแบงก์ชาติ และตอนนี้ก็มีประชาชนร่วมกันลงชื่อแสดงออกดังกล่าว เพราะถ้าการเมืองเข้าแทรกแซงแบงก์ชาติได้ จะกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากฝ่ายการเมืองเข้าไปครอบงำแบงก์ชาติได้แล้วมีการแทรกแซงให้ออกนโยบายบางอย่างเช่นเรื่องดอกเบี้ย เรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็อาจเกิดความเสี่ยงได้ กรรมการสรรหาฯ ควรรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ ที่ออกมา เพราะหากอนาคตเกิดความเสียหายอะไรขึ้น กรรมการสรรหาฯ ทั้งหมดต้องรับผิดชอบ เพราะเสียงสะท้อนที่ออกมา เขาแสดงออกด้วยความห่วงใยต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้มีเรื่องการเมืองอะไรมาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าสุดท้าย ผลประชุมพรุ่งนี้กรรมการสรรหาฯ ไม่ยอมฟัง แล้วยังจะเลือกคนที่หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยไปเป็นประธานบอร์ด ธปท. ก็คงจะต้องมีการหารือกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป” แกนนำกองทัพธรรมระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
ผบ.ทร.ดันฟริเกต2ลำ ลุ้นไฟเขียว‘เรือดำน้ำ’
ผบ.ทร.ดันฟริเกต 2 ลำ งบปี 69 เล็งใช้อู่ในประเทศต่อเรือ
พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ
"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.