นายกฯ เรียกพรรคร่วมถกปมเกาะกูด "นพดล" โต้เดือดไม่ได้ขายชาติ อ้างปกป้องประเทศ ลั่นหยุดปั่นกระแสคลั่งไทย แจง 3 ประเด็นยกเลิกเอ็มโอยูบิดเบือนข้อเท็จจริง "อดีตเสนาธิการทหารเรือ" ย้ำอันตราย ไม่ยกเลิก MOU 44 ติดกับดักบันได 3 ขั้นกัมพูชา ไทยเสี่ยงเสียดินแดน "รองปลัด มท." สั่งผู้ว่าฯ ตราด-นอภ.เกาะกูด เร่งทำความเข้าใจปัญหาเขตแดนกับชาวบ้านก่อนบานปลาย คปท.นัด 5 พ.ย. รวมพลคนคลั่งชาติ บุกทำเนียบฯ
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากกรณีที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 หรือเอ็มโอยู 2544 เนื่องจากเกรงกันว่าอาจทำให้ไทยเสียเกาะกูด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดหารือเรื่องดังกล่าว ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ในวันที่ 4 พ.ย. เวลา 13.30 น.
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีมีการปั่นกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 44 รวมทั้งพาดพิงตนเองให้คนเข้าใจผิดเรื่องเขาพระวิหารแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า ขอใช้สิทธิถูกพาดพิง คนที่เป็นห่วงโดยสุจริตก็มี และบางคนเป็นคนที่เคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติในปี 2551 โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนเองซึ่งเป็น รมว.การต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งๆ ที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505
“ข้อเท็จจริงคือผมไม่ได้ขายชาติ แต่คือคนที่ปกป้องชาติ แต่คนบางกลุ่มยังไม่สำนึกว่าการจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลงในเวลานั้น ถามว่าคนเหล่านี้จะรับผิดชอบอย่างไร” นายนพดลระบุ
ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้ไทยยกเลิกเอ็มโอยู 2544 นั้น คำถามคือหากจะทำให้ไทยเสียหายจริง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ ที่ลงนามเอ็มโอยู 2544 จะไปเซ็นได้อย่างไร นอกจากนั้นมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องตอบ คือ 1.การกล่าวหาว่าเอ็มโอยู 2544 จะทำให้เสียเกาะกูดนั้นก็ไม่จริง เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของไทยและไปเที่ยวได้ตลอด 2.การกล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากแต่อย่างใด และ 3.กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มุ่งแต่จะเจรจากับกัมพูชาเพื่อขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนโดยไม่สนใจพื้นที่ทางทะเลนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้มูลความจริง เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามกรอบเอ็มโอยู 44
“ผมสงสัยว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก็เจรจาโดยใช้เอ็มโอยู 2544 ไม่เห็นมีการประท้วง พี่น้องคนไทยควรได้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง คนที่แสดงความห่วงใยโดยสุจริต รัฐบาลคงพร้อมรับฟัง ส่วนคนที่บิดเบือนใส่ร้ายก็ขอยุติได้แล้ว บางคนเคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหาร ยังไม่สำนึกรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ทำขึ้น ผมเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร ทำลายผม ครอบครัวผม แต่พอศาลฎีกายกฟ้องผม และคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมทำ กลับเงียบหายไปหมด” อดีต รมว.การต่างประเทศระบุ
เตือนกับดักบันได 3 ขั้น
พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ควรต้องมีการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 โดยเอ็มโอยู 2544 และพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (โอซีเอ) มีพัฒนาการมาเป็นมหากาพย์ หากมองให้ดีตามช็อตอะไรต่างๆ เหมือนมีกับดักบันไดสามขั้นด้วยกัน ขั้นแรกคือ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นเขตแดนที่ลากผ่านเกาะกูดที่ลากผ่านเกินสิทธิให้กับเส้น 266 ที่กัมพูชาทำไว้ จากหลักเขตที่ 73 ที่เป็นพรมแดนประชิดกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ตรงบ้านหาดเล็ด จังหวัดตราด สำหรับบันไดขั้นที่สอง คือเมื่อเส้นนี้มีความชอบธรรม จะสร้างสิทธิอธิปไตยของแต่ละฝ่ายขึ้นในพื้นที่โอซีเอนี้
ส่วนขั้นที่สาม ต่อไปอีก 40-50 ปีน้ำมันหมด ก๊าซหมด รุ่นลูกรุ่นหลานเราต่อไปจะทำอย่างไร ยังทับซ้อนกันอยู่ ถ้าเกิดข้อพิพาทแล้วขึ้นสู่ศาลโลก มีการฟ้องร้องกัน เราจะเสียเปรียบ เพราะการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ในเรื่องการแบ่งเขตแดน ผมบอกเลยว่า โดยกฎหมายทะเล เขาใช้หลักของเส้นมัธยะ กับอีกอันที่เขาเขียนเปิดไว้ หรือในบางกรณีที่บางประเทศมี "สิทธิทางประวัติศาสตร์" และแม้แต่อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1958 ก็ได้รับรองสิทธิทางประวัติศาสตร์ไว้ด้วย ซึ่งสิทธิทางประวัติศาสตร์หมายถึงว่าในอดีตที่ผ่านมาเคยได้มาร่วมใช้สิทธิในพื้นที่นั้นอย่างไรบ้าง ก็เมื่อเขาเคยมีสิทธิอธิปไตยแล้ว แล้วเราเองก็ยอมรับในส่วนนี้พื้นที่ใต้เกาะกูด ดังนั้นมีความเสี่ยง ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเสียร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่า รุ่นลูกรุ่นหลาน จะกล้าเอาเคสนี้ขึ้นสู่ศาลโลกหรือไม่
“ตอนนี้เราเข้าไปอยู่ในกับดักขั้นที่สองแล้ว คือมี MOU ไว้แล้ว ก็อย่างที่ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำอันแรกก็คือ หนึ่ง ยกเลิก MOU 44 สอง คือในทุกกรณี เราต้องไม่เข้าไปสู่บันไดขั้นที่สอง คือไม่มีการแชร์ ไม่มีการแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ แต่ถ้าจะเจรจากันหลังยกเลิก MOU 44 เราสามารถใช้กลไกเจรจาตามปกติได้ โดยมีกฎหมายทะเลเป็นกรอบกติกา ที่เราก็ดำเนินการสำเร็จมาแล้วกับประเทศอื่นๆ” อดีตเสนาธิการทหารเรือกล่าวย้ำ
นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “คนไทยรู้ว่าเกาะกูดเป็นของไทยมา 117 ปี” โดยระบุว่า ขอเสนอข้อเท็จจริงและทางออกดังนี้ 1.รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม ได้ประกาศคัดค้านและประกาศเส้นแนวเขตแดนทางทะเลที่แบ่งปันอย่างถูกต้องชัดเจนคือ เส้นกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง เมื่อ ค.ศ.1973 หรือ พ.ศ.2516 2.กองทัพไทย โดยกองทัพเรือภาค 1 ยังคงวางกำลังเรือรบลาดตระเวน กองทัพอากาศยังบินตรวจการณ์รักษาแนวไว้ ทั้ง 100% เครื่องบิน เรือรบกัมพูชา เข้ามาล้ำแดนไม่ได้เด็ดขาด 3.ปัญหาของเอ็มโอยู 2544 คือการยอมรับเส้นเขตแนวกัมพูชา ค.ศ.1972 ที่จะเจรจาบนหลักการที่ยอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาจริงในอ่าวไทย แม้จะพยายามอธิบายว่า ควรต้องเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์พลังงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่เกี่ยวกับเขตแดน หรือต้องเจรจาควบคู่กัน แต่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกต้องนั้น ปรากฏชัดเจนว่า การประกาศเส้นเขตแดนของกัมพูชาฝ่ายเดียวนั้น ไม่อยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ไม่ได้ยึดหลักการแบ่งเขตที่ถูกต้อง
4.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยนำเรื่องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติ ครม.แล้ว แต่ด้วยเป็นมติลับ (แฟ้มชมพู) จึงมิได้ปรากฏมติ ครม.ต่อสาธารณะ และเกิดการยุบสภาไปก่อน จึงไม่ได้ทันนำเข้ารัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน รัฐบาลปัจจุบันจึงควรนำเรื่องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 โดยเร็ว และรัฐบาลต้องประกาศว่า จะยกเลิกเอาพลังงานของชาติไทย 10 ล้านล้านไปแบ่งคนละครึ่งกับชาติอื่น เพราะไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย มีแต่ผลประโยชน์ทับซ้อนนักการเมืองและทุนพลังงานข้ามชาติ
นัดบุกทำเนียบฯ 5 พ.ย.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "นัดหมายอังคาร 5 พ.ย.67 รวมพลคนคลั่งชาติ คัดค้านผลประโยชน์ทับซ้อน หยุดเจรจาผลประโยชน์ก่อนเขตแดน เจอกันทำเนียบรัฐบาล สะพานชมัยมรุเชฐ 10.00 น. เป็นต้นไป จะค้างคืนก็ต้องค้างคืน คลั่งชาติดีกว่าขายชาติ คปท.รองเท้าผ้าใบปกป้องชาติ คลั่งชาติไล่คนขายชาติ ไม่เอาผลประโยชน์ทับซ้อน"
ที่ จ.ตราด นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลงานด้านความมั่นคง กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รองผู้ว่าฯ ทั้ง 2 คน และนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดตราด เรื่องสถานการณ์ชายแดนไทยและกัมพูชา ว่าการประชุมร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชาสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีผู้ว่าฯ จังหวัดของไทยที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งตนได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย มีการหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่เปิดบริเวณบ้านชำราก ต.ชำราก อ.เมืองตราด ซึ่งยังไม่สามารถที่จะดำเนินการประชุมได้ เนื่องจากฝั่งกัมพูชาได้เสนอเรื่องนี้มาฝ่ายเดียวโดยที่ยังไม่มีต้นเรื่องในการที่จะนำมาพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมามีจังหวัดตราด และจังหวัดโพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา มีการประชุมหารือเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านท่าเส้น แต่ยังมีปัญหาในเรื่องเอ็มโอยู ซึ่งฝ่ายกัมพูชามีสิ่งปลูกสร้างล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ไทย และรัฐบาลไทยได้คัดค้านไปแล้ว ดังนั้นจะไม่มีการดำเนินการเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต จนกว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลงให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ จังหวัดตราดจะต้องทำความเข้าใจและสร้างความรับรู้ให้กับชาวตราดในเรื่องดังกล่าว
"โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกรณีเขตแดนอำเภอเกาะกูด ที่ปัจจุบันมีการปั่นกระแสผ่านทางสื่อโซเชียลจำนวนมาก และสับสนว่าเกาะกูดเป็นของใคร และพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดทับซ้อนในทะเลนั้นเป็นอย่างไร และจะมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างยุติธรรมอย่างไร ผมกังวลว่าหากให้มีการดำเนินการปลุกปั่นกันอยู่อย่างนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือทัศนคติเชิงลบของประชาชนชาวไทยให้เกิดขึ้นจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในที่สุด ดังนั้น ผู้ว่าฯ ตราดและนายอำเภอเกาะกูดต้องตรวจสอบข้อมูล หากปล่อยให้ปั่นกระแสอยู่เช่นนี้ เดี๋ยวก็วุ่นวาย จนไม่รู้ว่าเรื่องใดจริงเรื่องใดลวง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนชาวตราดไม่ใช่ให้ฟังกัมพูชาพูดอย่างเดียว หรือฝั่งนักการเมืองหรือองค์กรต่างๆ ที่ออกข่าวผ่านสื่อโซเชียล สถานการณ์แบบนี้เปราะบาง และอาจจะบานปลายไปส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้" นายชำนาญวิทย์ระบุ
ขณะที่ นายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด หลังจากได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของชาวตำบลเกาะกูดแล้ว ล่าสุด ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 คำแถลงการณ์ (เพิ่มเติม) ของอำเภอเกาะกูด วันที่ 3 พ.ย.2567 โดยระบุว่า "อำเภอเกาะกูด ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทย ทุกคนที่มีความรักและความห่วงใยต่อเกาะกูด ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนเข้ามาท่องเที่ยวชมความสวยงามตามธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำตกทรายที่ขาวสะอาด และทะเลที่สวยงาม และร่วมกันขัดกิจกรรมที่ประโยชน์ มีความสร้างสรรค์การท่องเที่ยวให้กับเกาะกูดต่อไป"
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ที่จะมาเปิดเวทีสร้างความเข้าใจว่าดินแดนเกาะกูดเป็นของใคร? ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย.นั้นน.ส.สุพิชญ์ณัฏฐา รังเกตน์แก้ว ตัวแทนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันที่เป็นลูกหลานคนตราด เปิดเผยว่า ต้องการชวนประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ ร่วมกับกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันและภาคี ในวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. เวลา 15.00 น. ณ ลานกิจกรรม ท้องสนามหลวง ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาล จ.ตราด มีนักวิชาการมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่เกาะกูด และด้านกฎหมาย และจะร่วมร้องเพลงชาติร่วมกัน กิจกรรมครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง ต้องการออกมาปกป้องแผ่นดินเกิด ส่วนผู้ไม่หวังดีอย่าเข้ามาปลุกปั่น หรือสร้างความขัดแย้งไปสู่สถานการณ์ที่วุ่นวาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน
ธ.ค.เปิดชื่อแจกหมื่นเฟส2 หั่นเงินส่งFIDFแลกแก้หนี้
“คลัง” ปักธงแจกหมื่นเฟส 2 เป็นเงินสด ให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านราย
พท.ขู่ฟ้องกลับธีรยุทธ
"นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.
ผบ.ทร.ดันฟริเกต2ลำ ลุ้นไฟเขียว‘เรือดำน้ำ’
ผบ.ทร.ดันฟริเกต 2 ลำ งบปี 69 เล็งใช้อู่ในประเทศต่อเรือ
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.