ปลื้ม ‘UN’ ชม แจก ‘สัญชาติ’ ยันไม่มี ‘สีเทา’

รัฐบาลปลื้มยูเอ็น ยกย่องไทยยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โฆษกรัฐบาลยัน กลุ่มคนสีเทา หรือแรงงานต่างด้าว หรือผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้สัญชาติไทย เผยเหตุให้รวดเดียว  4.8 แสนคน เพราะให้ปีละ 1 หมื่นจะใช้เวลาถึง 44 ปี 

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 นายจิรายุ  ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวในรายการ “เสียงจากใจ ไทยคู่ฟ้า” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลัง ครม.เห็นชอบเรื่องการให้สัญชาติไทยกับกลุ่มตกสำรวจในประเทศไทย 4.8 แสนคนว่า ในอดีตคนอพยพ ทั้งคนจีนอพยพ หรือจีนโพ้นทะเล เข้ามาในไทยเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังมีเรฟูจี เช่น ไซ่ง่อนอพยพ  อินเดียอพยพมาตั้งถิ่นฐาน มีลูกหลาน และได้ลงทะเบียนขอรับสัญชาติ ไม่น้อยว่า 10 ล้านคน ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงเสนอเรื่องนี้เพื่อลดขั้นตอนและแก้ปัญหาที่คนกลุ่มนี้รอคอยเป็นเวลานาน

โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มที่อพยพและชาติพันธุ์ ที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ กว่า 3.5 แสนคน ที่อยู่ชายขอบทุกภาคของไทย ที่ลงทะเบียนมาแล้วเป็นเวลานาน เข้าขั้นตอนการแปลงสัญชาติแล้ว มีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่ไม่ได้รับสัญชาติ กลุ่มนี้กระทรวงมหาดไทยต้องออกประกาศออกมา โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อรับสัญชาติแล้วจะไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ไม่สามารถลงสมัครทางการเมืองเช่น สส.ได้

กลุ่ม 2 คือลูกหลานของกลุ่มแรกกว่าแสนคน  ซึ่งรัฐบาลพิสูจน์และอยู่ระหว่างทยอยให้สัญชาติ กลุ่มนี้เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติโดยกำเนิด มีการลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่ปี 2535-2566 แต่ได้รับสัญชาติปีละประมาณ 1 หมื่นคน หากใช้ขั้นตอนเดิมจะใช้เวลา 44 ปี ถึงจะทำจบ

“ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญกาความล่าช้า ยืนยันว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้สัญชาติไทยแล้ว จะรู้ว่าคนเหล่านี้มีแหล่งที่อยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพอะไร ขออย่ากังวลเรื่องกลุ่มเทา ที่จะมาภายหลังจากช่วงปีที่ระบุไว้ จะแอบเข้ามาภายหลัง เพราะไม่สามารถขอสัญชาติได้ เพราะจะมีขั้นตอนตรวจสอบย้อนประวัติการลงทะเบียน เป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่” นายจิรายุกล่าว

โฆษกรัฐบาลยังเปิดเผยว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ  (UNHCR) ชื่นชมแนวทางแก้ปัญหาและยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของรัฐบาลไทย โดยระบุว่าถือเป็นก้าวสำคัญของไทยและประวัติศาสตร์ในการลดจำนวนผู้ไร้สัญชาติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ได้เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอในการลดขั้นตอนการให้สัญชาติไทยกับบุคคล ซึ่ง UNHCR ชื่นชมความมุ่งมั่นของความเป็นผู้นำของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรม ขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ปลดล็อกศักยภาพ เปิดโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน

นายจิรายุกล่าวว่า นอกจากนี้ยังยกย่องให้ไทยเป็นผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาคในการขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Global Alliance to End Stateless ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่เปิดตัวโดย UNHCR รวมทั้งได้ให้คำมั่นในการประชุม Global Refugee Forum 2023 เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมทั้งยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันร่วมกับสหประชาชาติในด้านต่างๆ ด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมของไทยยังได้ร่วมกับ UNHCR ได้จัดหน่วยบริการด้านทะเบียนราษฎรเคลื่อนที่ครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ณ เกาะพยาม จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะทำให้คนไทยทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

“ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าการให้สัญชาติไทยนี้ เป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่า 50 ปี และเป็นขั้นตอนที่รัดกุม และปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเก็บฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถตรวจสอบและดูแล รวมทั้งควบคุมกลไก ซึ่งในอดีตที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติ ทำให้หลายครั้งก่ออาชญากรรม ยาเสพติด หรือเรื่องอื่นๆ รัฐก็ไม่สามารถติดตามจับกุม เนื่องจากไม่มีถิ่นฐานที่อยู่ และรัฐบาลยืนยันว่ากลุ่มคนนอกเหนือจากนี้ เช่น กลุ่มคนสีเทา หรือแรงงานต่างด้าว หรือผู้หลบหนีเข้าเมือง ทุกประเภทจะไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว" นายจิรายุกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี มท.รับรอง บัตรปชช. แอปฯ ThaID ใช้เช็กอินแทนบัตรจริงแล้ว

นายกฯ ขอบคุณ ส่วนราชการเร่งดำเนินการนโยบาย“รัฐบาลดิจิทัล”ลดขั้นตอนยุ่งยากให้ ปชช.ล่าสุด มท.รับรอง บัตร ปชช.จากแอปฯ ThaID สามารถโชว์รูปบัตรเช็กอินในประเทศโดยไม่ต้องใช้บัตรตัวจริงได้แล้ว