ปภส.ร้องศาล! ยกเลิกมติครม. แจก ‘สัญชาติ’

“จิรายุ” ยันพวก “สีเทา” ไม่มีโอกาสขอใช้สัญชาติไทยแน่ หลัง ครม.มีมติแจกสัญชาติ  4.8 แสนราย “โรม” ยกมือหนุนนโยบาย พร้อมรับให้ก่อนสอบทีหลังหากพบเป็นพวกทุนเทา “ปภส.”  ยื่นศาลปกครองสูงสุดร้องยกเลิกมติ ครม.แล้ว ชี้ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายคนเข้าเมือง

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอลดขั้นตอนการให้สัญชาติไทยกับบุคคลกว่า 4.8 แสนคน ว่าเป็นการให้สัญชาติต่อผู้ที่ยื่นขอไว้ และอยู่ในระบบของทางราชการมากว่า 30 ปี ไม่ใช่ให้สัญชาติแก่คนสีเทาๆ   หรือพวกอาชญากรข้ามชาติ ทั้งนี้ ที่ สมช.เสนอ ครม.นั้น เป็นการลดขั้นตอนและเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535-2566 มีประมาณ 8.25 แสนคน ซึ่งใช้เวลาไปแล้วถึง 31 ปี หลายรัฐบาลอนุมัติไปได้แค่ 3.24 แสนคน ซึ่งคนจำนวนมากรอจนเสียชีวิตไปแล้วก็มาก และปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่อีกราว 4.83 แสนคน ซึ่ง สมช.เห็นว่าหากยังใช้ขั้นตอนเดิมในยุคก่อนต้องใช้เวลาถึง 44 ปี แต่ปัจจุบันมีระบบจัดเก็บข้อมูลประวัติลายนิ้วมือทางคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งระบบไบโอเมตริกซ์ ก็จะรวดเร็วจากการลดขั้นตอนได้มาก

“สมช.ยืนยันว่า คน 4.83 แสนคนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มแรก 3.4 แสนคน ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและจัดเก็บฐานข้อมูลต่างๆ ไว้หมดแล้ว คนกลุ่มนี้จะได้รับใบถิ่นที่อยู่ถาวรและต้องใช้เวลาขั้นต่ำอีก 5 ปี เพื่อขอแปลงสัญชาติเป็นไทย โดยยังไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมือง เช่น ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งไปลงคะแนนเลือกตั้งได้ในทุกระดับ โดยต้องแปลงสัญชาติมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสิทธิ เท่ากับว่าต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 10 ปี ส่วนกลุ่มที่ 2 ประมาณ 1.43 แสนคน เป็นบุตรที่เกิดจากบุคคลกลุ่มแรกที่เกิดในไทย ที่มีเอกสารการเกิดจากสถานที่เกิดต่างๆ ในประเทศไทย” นายจิรายุกล่าว

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า มีการศึกษามาเป็นเวลานานตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว ซึ่ง 480,000 คนที่ว่าคือคนไทยที่ตกหล่นและสมควรได้รับสัญชาติไทยมาตั้งนานแล้ว โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็มีการทำรายงานฉบับนี้ส่งไปให้รัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามจะผลักดัน และต้องขอบคุณไปยังรัฐบาลที่เห็นถึงความสำคัญ ทำให้ 480,000 คน ตรงนี้มีโอกาสเป็นคนไทยอย่างภาคภูมิ

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจเป็นช่องโหว่เอื้อทุนสีเทาหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ในหลักการทั้งรัฐบาลและ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เห็นตรงกัน คือให้ก่อนถอนทีหลัง หากให้สัญชาติไปแล้วและภายหลังตรวจสอบพบว่าเกี่ยวกับทุนสีเทาที่ผิดกฎหมายก็ถอนทีหลังได้ เพราะเชื่อว่าคนที่สมควรได้รับมีมากกว่าทุนสีเทา ซึ่งเรื่องเคยคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็มีหลักการที่ตรงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการสื่อสารของรัฐบาลอย่างไรในเรื่องการอนุญาตให้สัญชาติ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ความเป็นจริงนั้นรัฐบาลใช้คำไม่ถูกต้อง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยหลักๆ กฎหมายของประเทศเรา การที่คนชาติอื่นขอแปลงสัญชาติหรือเปลี่ยนสัญชาตินั้นสามารถเป็นไปได้  แต่มีกระบวนการที่ไม่ง่าย โดยมีเรื่องของภาษา  จำนวนปีในการอยู่ในประเทศไทยใช้เวลานานมาก  ซึ่งกระบวนการของเรานั้นค่อนข้างเข้ม

“เราไม่ได้สนับสนุนให้ทุนสีเทา เราไม่ได้สนับสนุนให้คนชาติอื่นมาเป็นคนไทย เพียงแต่เราต้องการแก้ไขปัญหาคนไทยที่ตกหล่นเท่านั้น”

ขณะเดียวกัน นายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อยืนฟ้อง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และ ครม. ต่อศาลปกครอง กรณีที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 มติเห็นชอบอนุมัติในหลักการหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา สัญชาติ และสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร จำนวน 483,626 คน ตามที่ สมช.เสนอ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง สร้างความเสียหายให้กับความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางเชื้อชาติ ความมั่นคงทางวัฒนธรรม รวมทั้งกระทบต่อการดำรงชีวิตในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประชาชนชาวไทย

“กลุ่ม ปภส.มายื่นฟ้องในวันนี้ เพื่อขอให้ประธานศาลปกครองสุดได้โปรดดำเนินการวินิจฉัยเพิกถอนมติ ครม.ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย พร้อมทั้งขอให้พิจารณาสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองความจนกว่าคำวินิจฉัยจะเป็นที่สุด” นายทรงชัยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง