"พท." เล็งยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเดือน ธ.ค.นี้ ยันไม่ล้างผิด ม.112-คดีทุจริต "นพดล" รับ กม.ประชามติงานยาก ต้องโน้มน้าว สว.เห็นตามเกณฑ์ชั้นเดียว แย้มใช้เกณฑ์ 20% น่าสนใจแต่ต้องคุยกันก่อน "วิสุทธิ์" ซัด สว.ควรคํานึงถึงประโยชน์ ปชช.มากกว่าการเอาชนะ "ดนุพร" เผยรอถก "ชูศักดิ์" แก้รายมาตราแทน โอดติดล็อกแก้ยากมาก “พริษฐ์” ส่งหนังสือขอพบ "นายกฯ-ปธ.รัฐสภา-ปธ.ศาล รธน." หาทางออกมี รธน.ใหม่ใช้เลือกตั้งครั้งหน้า "ไอเอฟดีโพล" ชี้ "ทักษิณ-เนวิน" ผู้มีอิทธิพลกำหนดทิศทางการเมือง
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการนิรโทษกรรมของพรรค พท.ว่า จะดำเนินการยื่นต่อสภาทันทีหลังจากที่เปิดสมัยประชุมสภาช่วงเดือน ธ.ค. พรรค พท.จะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา ซึ่งในการประชุม สส.ของพรรค มีมติที่ชัดเจนต่อหลักการการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง แต่ไม่รวมมาตรา 110 มาตรา 112 รวมถึงคดีทุจริตและคดีอาญาที่ร้ายแรง
"อย่างไรการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นต้องพิจารณาอีกครั้งว่าต้องเข้ากระบวนการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่" นายนพดลกล่าว
ถามว่า การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้คำนึงถึงมวลชนที่สนับสนุนคนเสื้อแดงด้วยหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า เชื่อว่ามวลชนจะเข้าใจ ซึ่งโดยหลักการการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นต้องคำนึงถึงการสร้างความปรองดอง ไม่ต้องการเพิ่มความขัดแย้ง
นายนพดลยังกล่าวในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถึงเรื่องประชามติว่า ในสัปดาห์หน้าก็คงพิจารณาต่อ หลังการประชุม กมธ.นัดแรกที่ผ่านมาได้ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน กมธ. ซึ่งไม่น่าจะใช้เวลานาน ในความเห็นส่วนตัวคิดไม่น่าจะประชุมเกิน 2 ครั้ง เพราะมีประเด็นเดียว คือจะเอาตามร่างของสภาหรือจะเอาตามร่างแก้ไขของวุฒิสภา
นายนพดลกล่าวว่า หาก กมธ.มีข้อสรุปอย่างไร ก็นำไปให้แต่ละสภาพิจารณา ถ้าสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วยกับ กมธ. ก็ยับยั้งโดยอัตโนมัติ และมายืนยันในอีก 6 เดือน แต่ต้องรอดูว่าการหารือจะเป็นอย่างไร เพราะประเด็นที่เห็นต่างกันมีแนวโน้มน่าจะโหวต เพราะดูเหมือนว่า สว.พยายามปกป้องการแก้ไขที่เขาทำมา ส่วนสภาก็ปกป้องหลักการของเราที่เสนอไป ดังนั้นก็ต้องมาแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้นก็ต้องมาแลกเปลี่ยนกัน ส่วนแนวทางตรงกลางก็พยายามพูดคุยกัน ซึ่งตนคิดว่าทุกอย่างโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ก็ไม่ง่าย
“เราก็อยากโน้มน้าวให้ สว.เห็นด้วยกับแนวทางของเราว่าจริงๆ ควรจะใช้แค่เสียงข้างมากธรรมดาของคนออกไปใช้สิทธิ์ สมมุติ 100 คน ออกไปใช้สิทธิ์ 49 คนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิน 51 คน แต่เขากำหนดว่า 100 คน ออกไปใช้สิทธิ์ ต้อง 51 คน และนับครึ่งหนึ่งของ 51 คน สิ่งจะมีประเด็นว่าสมมุติออกไปไม่ครบก็เท่ากับการทำประชามติไร้ผลและจะเกิดขึ้นยาก" นายนพดลกล่าว
กมธ.ออกเสียงประชามติกล่าวว่า ในส่วนประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็บอกว่าเราก็ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ 100 คนออกไปเท่าไหร่ก็ได้ตราบใดที่ไม่น้อยกว่าคนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ เพราะจะมีคนไปออกไปใช้สิทธิ์บางส่วน หากเกิดคนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ 40 คน ออกไปใช้สิทธิ์ 10 คน ก็ไม่ควรนับ ส่วนที่มีการเสนอว่าต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 20 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้มีออกเสียงทั้งหมดก็น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้คุยกันในเนื้อหาเลย
พท.รอถก 'ชูศักดิ์' แก้รายมาตรา
ขณะที่ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงกรณีนายนิกร จำนง ประธานยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุการแก้ไข รธน.จะไม่ทันในการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงเดือน ก.พ.2568 ว่า ทราบอยู่แล้วว่าไม่ทัน เนื่องจาก สว.มองว่าควรกลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จึงทำให้มีความล่าช้าเกิดขึ้น จึงไม่ทันการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งหากการทำประชามติแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมมากขึ้นในการทำประชามติ เพราะแยกจากการเลือกตั้งท้องถิ่น จากตอนแรกที่จะทำพ่วงไปด้วยกัน
เมื่อถามว่า หากมีการใช้งบประมาณเพิ่มเติมจะต้องมีการหารือร่วมกันใหม่อีกครั้ง จะส่งผลให้ระยะเวลาในการทำประชามติยืดออกไปหรือไม่ นายสรวงศ์ยอมรับว่า มีผลแน่นอน
ซักว่า หากเป็นเช่นนั้น รธน.ฉบับใหม่ก็จะเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 แล้วจะมีปัญหาอีกหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งในปี 2566 ก็ผ่านมาแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดก็ยังคงเดิม หากไม่ทัน ซึ่งการทำประชามติควรเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่ตั้งไว้ คือใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้น และผ่านประชามติให้ทันการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ จะได้เป็นไปตามไทม์ไลน์และกรอบงบประมาณที่วางไว้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทุกอย่างก็กระทบเป็นโดมิโนไปหมด
"หากไม่ทันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่เหนือการควบคุมของเรา เชื่อว่าหากมองจากข้างนอกก็จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนี้ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ต้องยอมรับและทำให้ดีที่สุด" เลขาฯ พรรค พท.กล่าว
เช่นเดียวกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เรื่องการทําประชามติระหว่าง สส.และ สว.ไม่ตรงกัน ต้องให้เขาประชุมกันก่อน แต่หากตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายต้องยุติเสนอกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน 180 วัน ค่อยนํากลับมาเสนอในสภา หาก สส.เห็นชอบ ก็สามารถทูลเกล้าฯ ถวายเสนอเป็นกฎหมายได้
"อยากให้ กมธ.ร่วมพิจารณากันอย่างจริงจังก่อน แต่หากไม่ทันในสมัยนี้ก็ไม่เป็นไร เราก็ทําเต็มที่" นายวิสุทธิ์กล่าว
ถามว่า ยืนยันหรือไม่จะสามารถผลักดันการแก้ไข รธน.ให้สําเร็จภายในสมัยรัฐบาลนี้ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เราพยายามอยู่แล้ว ตนไม่ได้ห่วงว่าจะช้าหรือเร็ว แต่ห่วงว่าการประชามติต้องใช้งบประมาณมาก เสียดายภาษีของประชาชน ดังนั้นหากตกลงกับ สว.ได้ ก็จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการทําประชามติ 3 ครั้ง อยากให้คํานึงถึงประโยชน์ ไม่ใช่การเอาชนะใคร
นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค พท. ยอมรับว่าการแก้ไข รธน.ไม่ทันเลือกตั้งปี 70 รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นเดือน ก.พ.68 อาจจะกระทบกับรัฐบาล ซึ่งก็ต้องมีการหารือร่วมกัน เนื่องจาก สว.ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายประชามติที่ สส.ส่งขึ้นไป ทำให้การทำประชามติครั้งแรกที่เราตั้งใจไว้ว่าจะทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้นปี 68 ไม่ทัน เพราะติดในเรื่องเงื่อนเวลาของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จะได้หารือกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสร็จไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 หรือไม่
"แม้ว่าการทำประชามติจะไม่ทัน ถามว่าเราจะสามารถเร่งในส่วนอื่นที่ทำให้การแก้ไข รธน.เสร็จสามารถใช้ได้ทันการเลือกตั้งปี 70 ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องหารือกับนายชูศักดิ์ว่ามีขั้นตอนใดที่เราจะสามารถเร่งเพื่อให้กระชับขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไข รธน.ได้ทันจริง ก็ต้องใช้กติกาเดิม ซึ่งก็ต้องเหนื่อยกันหน่อย เพราะมีหลายอย่างที่เรามองว่าเป็นจุดที่ควรจะแก้ไข ซึ่งก็อาจจะต้องหารือกันว่าจะแก้รายมาตราได้หรือไม่ เช่น กฎหมายลูกของ กกต.ที่ใช้เลือกตั้ง" นายดนุพรกล่าว
ปชน.ขอคุยทางออก รธน.ใหม่
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เวลานี้เกือบเป็นที่แน่นอนแล้วว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิม เราจะไม่มี รธน.ฉบับใหม่ จัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยได้ประกาศไว้ แผนเดิมที่ว่าคือแผนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐามีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา คือให้มีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกอบด้วยการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยกำหนดว่าจะไม่มีการจัดประชามติครั้งแรกจนกว่าร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่ง ครม.ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่เคยสื่อสารว่ามีแผนที่เปลี่ยนแปลงไป
"ในบรรดาทางเลือกที่เหลืออยู่ ผมเห็นว่าทางเดียวที่เป็นไปได้คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง โดยขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าวคือ การให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการมี ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1" นายพริษฐ์กล่าว
สส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชน.กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือขอเข้าพบกับ 3 บุคคลสำคัญ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและแผนใหม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง
1.นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งตนหวังจะหารือกับทุกพรรคในรัฐบาล เพื่อให้เห็นตรงกันถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง รวมถึงร่วมกันหาวิธีการในการหารือกับ สว.ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพราะหวังจะหารือให้ประธานรัฐสภาเห็นว่าการทบทวนหันมาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะทำให้มีการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
3.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากโดยส่วนตัวตนหวังจะหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประกอบด้วยการทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง
“ผมหวังว่าทั้ง 3 ท่านจะยินดีให้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบท่านหรือตัวแทนท่านที่สามารถตัดสินใจหรือให้ความเห็นแทนท่านได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชน และต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน” นายพริษฐ์กล่าว
ทักษิณ-เนวินกำหนดการเมือง
วันเดียวกัน ไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สำรวจความเห็นประชาชนไทยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เรื่อง "ศึก 4 เส้าเลือกตั้งหน้า : เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชน และพรรคการเมืองใหม่” ระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค.2567 ชี้ว่า ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้ คือ ทักษิณ ชินวัตร (61.07%) รองลงมาคือ เนวิน ชิดชอบ (13.54%) และแพทองธาร ชินวัตร (11.52%) ส่วนผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งหน้า 2570 คือ ทักษิณ ชินวัตร (20.84%) รองลงมา คือ อนุทิน ชาญวีรกูล (15.41%), ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (12.33%) และคนที่ประชาชนเชื่อถือศรัทธา มาตั้งพรรคใหม่, ขึ้นมานำการเมืองไทย (11.60%)
พรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้ 3 อันดับแรก คือ พรรคเพื่อไทย (70.80%), พรรคภูมิใจไทย (19.46%) และพรรคประชาชน (7.46%) และพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งหน้า 2570 คือ พรรคประชาชน (31.63%), พรรคเพื่อไทย (29.44%), พรรคภูมิใจไทย (25.55%) และพรรคการเมืองใหม่ที่เรียกความศรัทธาได้ (11.19%)
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ วิเคราะห์ผลจากไอเอฟดีโพลว่า การเลือกตั้งปี 2570 จะเป็นศึก 4 เส้า ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรคในปัจจุบัน เพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคประชาชน ที่ต้องเผชิญกับพรรคการเมืองใหม่ที่กำลังมาแรง โดยภูมิใจไทยและพรรคประชาชนมีแนวโน้มขาขึ้น ในขณะที่เพื่อไทยดูท่าจะเจอขาลง
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า มีปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้แก่ คนมีบารมีนอกพรรคค้ำจุน มี 2 กลุ่มคือ รัฐเชิงลึกหรือกลุ่มคนนิรนาม และกลุ่มผู้มีอำนาจเหนือพรรคที่เปิดตัว เช่น ทักษิณ ชินวัตร, เนวิน ชิดชอบ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เสริมความเชื่อมั่น/มั่นคง และความสามารถแข่งขันให้พรรคการเมือง
นอกจากนี้ บ้านใหญ่มีบทบาท เครือข่ายบ้านใหญ่กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดผลเลือกตั้งครั้งหน้า โดยบ้านใหญ่ก็ประเมินอย่างเข้มข้นถึงพรรคที่มีโอกาสชนะสูงสุด ทำให้การเจรจาเพื่อแย่งชิงบ้านใหญ่ทวีความดุเดือด ส่วนเงินสนับสนุนนั้น พรรคที่มีท่อน้ำเลี้ยงดีหรือเงินสนับสนุนที่ต่อเนื่องและมั่นคงคือผู้ได้เปรียบ และสร้างภาพลักษณ์ที่มั่นคง จะช่วยให้พรรคมีความได้เปรียบ สามารถทำงานการเมืองและสนามเลือกตั้งได้อย่างต่อเนื่องและทรงพลัง
ส่วนกระแสสื่อจับจ้องนั้น การได้รับความสนใจจากสื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์และเป็นแรงดึงดูดความสนใจจากประชาชน และวิสัยทัศน์และนโยบายพรรคเป็นธงนำนั้น การมีจุดยืน วิสัยทัศน์ นโยบายที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ และตรงใจประชาชน จะเป็นที่ยอมรับ จะสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความนิยมได้อย่างมาก รวมทั้งการมีผู้นำพรรค/แกนนำพรรคที่มีบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์โดดเด่น จะช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความนิยมให้แก่พรรค
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า งานการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องพรรคเดี่ยว พลังการสร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นที่เข้มแข็งคืออีกปัจจัยสำคัญในการรักษาและเสริมความแข็งแกร่งของการมีอำนาจและสร้างอิทธิพลในสนามการเมือง รวมทั้งการเป็นรัฐบาลและมีอำนาจในการบริหารจะสร้างความได้เปรียบ เช่นเดียวกับอิทธิพลในวุฒิสภาเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบ และจะได้เปรียบในการมีอิทธิพลทางการเมืองที่ยาวเลยไปกว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะอายุดำรงตำแหน่ง สว.ยาวถึง 7 ปี รวมทั้งนิติสงคราม การใช้กฎหมายและจริยธรรมเพื่อควบคุมหรือสกัดบางพรรค กลายเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังและมีนัยสำคัญในเวทีการเมืองไทย เพื่อสร้างข้อจำกัดหรือตัดสิทธิ์พรรคและนักการเมือง เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิ์นักการเมือง และการคุมเข้มมาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง ฯลฯ
"การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด" ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จงรักภักดีจนชีวิตหาไม่
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
“ไตรศุลี” พร้อมสู้ “ทักษิณ ”ช่วยหาเสียงนายกฯ อบจ.แข่งกับพ่อตัวเอง ขอให้รอดูความสามัคคีชาวศรีสะเกษเอาชนะพท.
วันที่3 ธค. ที่ทำเนียบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมืใจไทย กล่าวถึงกรณีการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบจ. ศรีสะเกษ จะเป็นการชนระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นแนะนำพรรค
ป.ป.ช.แจงยังไม่ชี้มูลปม 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์ชั้น 14 เผยอยู่ในชั้นตรวจสอบเบื้องต้น
กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์ว่า ฝ่ายตรวจสอบไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน
‘บุญทรง’พ้นคุก คุมตัวที่บ้าน3ปี ชื่นชมลูกผู้ชาย
"บุญทรง" ได้พักโทษ พ้นคุก ใส่กำไลอีเอ็มกลับบ้านที่เชียงใหม่
รุมดีดปาก‘เชิดชัย’ขู่ยุบสภา
"ภูมิธรรม" โบ้ย "หมอเชิดชัย" ให้ไปยุบสภาเอง ยันอำนาจอยู่ที่นายกฯ
เมินเปิดเวทีถกMOU รอทีบีซีช่วยคนไทย
“ภูมิธรรม” ปัดทิ้งข้อเสนอ พปชร.เปิดเวทีสาธารณะถก MOU 44