MOU44จุดตายรบ. จี้เคลียร์ก่อนปชช.ลุกฮือ ครม.เสี่ยงหยุดทำหน้าที่

"พิธา" จี้รัฐบาลแจงให้ชัดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชารวมเกาะกูดหรือไม่ แนะ "ภูมิธรรม" รีบเคลียร์ก่อน ปชช.คิดเลยเถิด "หมอวรงค์" ถาม MOU 44 ปล่อยเขมรเอาไหล่ทวีปเกาะกูดไปได้อย่างไร เตือนจะซ้ำรอยเขาพระวิหาร  "หม่อมกร" ชี้พิรุธรวบรัดเจรจาที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาแค่ 44 วัน ต่างจากครั้งมาเลเซียและเวียดนาม "ไพศาล" เตือนถ้าศาล รธน.รับคำร้องพื้นที่ทับซ้อน อาจมีคำสั่งให้ ครม.หยุดปฏิบัติหน้าที่  เหตุเป็นเรื่องร้ายแรงมาก "จตุพร" บี้กางสัญญาสัมปทานเชฟรอน หวั่นเร่งเจรจาแบ่งพลังงานลามไทยเสียดินแดน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป (MOU 44) ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เคยระบุขอให้อย่านำความคลั่งชาติทำให้เสียประโยชน์ของประเทศว่า ชาตินิยมไม่ใช่เรื่องผิด  และเผลอๆ อาจจะเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ชาตินิยมที่ล้นเกินจนทำให้เกิดการทำลายล้างกันทางการเมือง และการสูญเสียโอกาสความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศประชาคมอาเซียน เป็นปัญหาที่ต้องระวัง

นายพิธากล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องเกาะกูด คือการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area) หรือ OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่ง MOU 44 จบไปแล้ว ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าเกาะกูดอย่างไรก็ต้องเป็นของคนไทยแน่นอน ถ้าจะมีการพูดคุยกันในระดับ OCA ก็ต้องกำหนดพื้นที่ซึ่งมีปิโตรเลียมอยู่ และมีการพูดคุยกันแค่นั้น เกาะกูดไม่ควรเข้าไปอยู่ในการเจรจาครั้งนั้น  ถ้าจำไม่ผิด พื้นที่ไม่ถึง 20,000 กว่าตารางกิโลเมตร แต่หากว่าไปไกลถึงขนาดกว้างเท่าเกาะกูด ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย

"รัฐบาลต้องออกมาพูดให้ชัดว่าถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับปิโตรเลียมก็คือหลังทำ OCA ต้องจำกัดให้ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่มีทางเป็นของชาติอื่น ยกเว้นประเทศไทย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การตกลงกันระหว่างไทยและกัมพูชา แต่คือเรื่องระดับสหประชาชาติ ที่มีระเบียบโลกบอกไว้แล้วว่าเรื่องแบบนี้เป็นปัญหาเรื่องอาณาเขตของแต่ละชาติ" นายพิธากล่าว

ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้ากล่าวว่า หากรัฐบาลพูดได้ชัดก็จะทำให้เรื่องจบไปว่าพื้นที่ที่มีข้อพิพาทอยู่จำกัดอยู่แค่ตรงนี้เท่านั้น และไม่รวมเกาะกูด ซึ่งมองว่าจะทำให้เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความชาตินิยมแบบล้นเกินให้หมดไป แล้วค่อยมาสู้กันในเรื่องการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน และออกกฎหมายที่มีความก้าวหน้า การตรวจสอบรัฐบาลแบบที่ควรจะเป็น

"หากรัฐบาลยังไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อทั้งรัฐบาลเอง จะเกิดการตั้งคำถามว่า  ตกลงแล้วพื้นที่ซึ่งจะเจรจากับกัมพูชาคือหลักพันหรือหลักหมื่น เมื่อไม่ชัดเจนประชาชนจึงตั้งคำถาม และเป็นการเปิดช่องให้นำกระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับชาติไทย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาคมอาเซียนเลย" ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้ากล่าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "ถ้าไม่โง่ก็ขายชาติ" ระบุตอนหนึ่งว่า ที่พวกคุณไปยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีป (เส้นแบ่งเขตทางทะเล) ของเขมร ที่มีการกำหนดแบบตามใจชอบ ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ การที่พวกคุณไปยอมรับเส้นแบ่งเขตที่เขมรเนรมิตขึ้นมา มันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ถ้าไม่ยอมรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของไทยมีหลักเกณฑ์ที่มาที่ไปชัดเจน มีกฎหมายทางทะเลยอมรับ

"ดูตาม MOU 44 ดูเหมือนเขมรยอมไม่รวมเอาเกาะกูดเข้าไปด้วย แต่ปล่อยให้เขมรเอาไหล่ทวีปของเกาะกูดไปเป็นของเขมร คุณยอมได้อย่างไร ซึ่งปัญหาทั้งหมดเริ่มจากการที่ไปยอมรับเส้นที่เขมรลากขึ้นมาแบบตามใจชอบ เลยไม่รู้ใครกันแน่ที่โง่  หรือถ้าไม่โง่ก็ขายชาติ เรามีบทเรียนการเสียเขาพระวิหารมาแล้ว" ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดีกล่าว

เตือนพื้นที่ทับซ้อนทำ ครม.เสี่ยง

ส่วน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับความแตกต่างที่ต้องระวังระหว่างพื้นที่ทับซ้อนกรณีไทย-มาเลเซีย กรณีไทย-เวียดนาม และกรณีไทย-กัมพูชา (MOU 2544) ตอนหนึ่งระบุว่า ไทยและกัมพูชามีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลปี 2513 ก่อนประเทศอื่น โดยไทยยึดมั่นปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ขณะที่การเจรจาดำเนินอยู่กัมพูชากลับชิงประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 ทับเกาะกูดโดยไม่มีกฎหมายสากลรองรับ ดังนั้นเพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทยจึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยฝั่งอ่าวไทย ปี 2516 ทำให้เห็นได้ว่าเส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้นเป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต  ทำให้การเจรจายุติลงถึง 20 ปี โดยหน่วยราชการไทย ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกองทัพเรือ ยังคงยึดถือแผนที่แนบท้ายประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปนั้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่และการปกป้องประเทศ

"MOU 2544 มีไทยเพียงฝ่ายเดียวที่ปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 และยังยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับพระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตร.กม. ทั้งที่หากทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว พื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตขนาดนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย การอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันของรัฐบาลได้บดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูกเพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรองเข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซียและไทย-เวียดนามอย่างชัดเจน" ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

กก.บห.พรรค พปชร.รายนี้ระบุว่า รัฐบาลควรยกเลิก MOU 2544 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เส้นเขตแดนของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและมีโอกาสเสียดินแดน

"สุดท้ายนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ไทยเปลี่ยนจุดยืนนี้  บรรลุข้อตกลงอย่างง่ายดาย และถือเป็นเจรจาที่ทุบสถิติความเร็วโดยใช้เวลาเพียง 44 วัน โดยการเจรจาไทย-เวียดนาม ใช้เวลา 6 ปี ไทย-มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิดข้อสงสัยว่า MOU 2544 เป็นไปด้วยความรอบคอบหรือไม่ ประเทศและปวงชนชาวไทยได้ประโยชน์จริงหรือไม่" กก.บห.พรรค พปชร.รายนี้ระบุ

ขณะที่ นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเท่ากับยอมรับแดนอธิปไตยและเขตอธิปไตยตามที่เขมรอ้างเป็นเรื่องร้ายแรงหนักหนามาก พิเคราะห์ลักษณะคดีและความร้ายแรงของเรื่อง เชื่อว่าถ้าเรื่องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว อาจมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน

นายไพศาลกล่าวว่า จับตาจังหวะก้าวการยื่นคำร้องของนายวีระ สมความคิด ให้ดี หลักฐานการลงนามในการไปประชุมผู้ว่าราชการชายแดนไทย-เขมรของรองนายกฯ อนุทินในข้อที่ 8 เป็นหลักฐานที่ชัดเจนและมัดแน่นว่า การตกลงปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นที่เขตหลักที่ 72 และ 73 ยังไม่ชัดเจน ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน เมื่อเขตอธิปไตย ตรงจุดนี้ โดยเฉพาะหลักเขตที่ 73 ซึ่งไทยอ้างว่าอยู่ลึกเข้าไปในเกาะกง และเขมรอ้างว่าอยู่ริมทะเลอ่าวไทย ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน เมื่อตกลงหลักเขต อันเป็นเขตอธิปไตยยังไม่ได้ เขตอธิปไตยของเขมรก็ยังไม่ถึงฝั่งทะเลอ่าวไทย แดนอธิปไตยในทะเลอ่าวไทย จากชายฝั่งเกาะกง วัดไป 200 ไมล์ทะเลจึงเกิดขึ้นไม่ได้

"ใครไปเจรจายกให้เขมรแบ่งครึ่งไปจึงเป็นการขายชาติ ทรยศชาติ และจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนทั้งบนบก ตรงหลักเขตที่ 73 และเสียแดนอธิปไตยในทะเล รวมทั้งพื้นที่เกาะกูดอีกครึ่งหนึ่งด้วย นี่คือความร้ายแรงของเรื่อง ถ้ารัฐบาลยังดึงดันเดินหน้าต่อไป ก็จะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องชี้ขาดชะตากรรมของรัฐบาล อย่าได้สงสัยเลย" นายไพศาลกล่าว

'เต้น' บอกรักชาติต้องมีเหตุผล

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์กรณีเกาะกูดและพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ระบุว่า นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ควรอธิบายความจริงให้ประชาชนรับรู้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่ปล่อยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม  มากล่าวหาการปกป้องดินแดนเป็นพวกคลั่งชาติ ซึ่งก่อความขัดแย้งใหม่และเริ่มบานปลายขึ้น

นายจตุพรกล่าวว่า ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2515 ในยุคสงครามเย็นเกิดการสู้รบในศึกอินโดจีน รัฐไทยสมัยนั้นได้ยกสัมปทานพลังงานก๊าซและน้ำมันใต้ทะเลอ่าวไทยเชื่อมต่อเขตแดนกัมพูชาให้กับเชฟรอน สหรัฐอเมริกา โดยเชื่อว่าเป็นนโยบายผิดพลาดมายาวนานกว่า 50 ปี จึงเรียกร้องให้รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ทบทวนและเปิดเผยสัญญาให้คนไทยได้รู้ความจริง

นายจตุพรกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไปตกลงผลประโยชน์แหล่งพลังงานกับกัมพูชาก่อนแล้ว สิ่งสำคัญ คนไทยต้องรู้เช่นกันว่าเชฟรอนจะได้ประโยชน์จากพลังงาน และยังจะลากให้ไทยไปเสียดินแดนเกาะกูดด้วยหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ต้องพูดความจริงทั้งสองเรื่อง คือเรื่องดินแดนและผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติในแหล่งทับซ้อนให้ชัดเจน

"รัฐบาลไทยต้องนำสัญญายกสัมปทานให้เชฟรอนมาเปิดเผยถึงความเสียเปรียบที่ถูกปกปิดไว้ และสิ่งสำคัญจะเกิดการศึกษาว่าใครไปขยายสัญญาในแต่ละตอนจนทำให้ประเทศสูญเสียเอกราชพลังงานกันแบบนี้ ดังนั้น จึงต้องนำมาตกลงกันให้ชัดเจน ถ้าไม่ตกลงจะมีช่องว่างผลประโยชน์เกิดขึ้น ดังนั้นต้องเปิดสัญญาให้คนไทยทุกฝ่ายได้รู้ และระดมความคิดเพื่อหาทางประกาศอิสรภาพ เอกราชในเรื่องพลังงานนี้ได้อย่างไร" นายจตุพรกล่าว

วิทยากรคณะหลอมรวมฯ กล่าวว่า การเร่งอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับเวลาที่เหลืออยู่ และไม่ได้มีหลักประกันว่าคนไทยจะได้ใช้น้ำมันและก๊าซในราคาถูกลง ส่วนคนได้ประโยชน์คือผู้รับสัมปทาน แค่รัฐอาจได้เพียงเศษสตางค์เป็นค่าภาคหลวง ปัญหาคือประชาชนไม่ได้อะไร แล้วจะรีบเจรจากันไปทำไม

"การเจรจาเรื่องผลประโยชน์พลังงานก่อนตกลงเขตแดนเกาะกูดให้ชัดเจน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง รวมทั้งประโยชน์พลังงานไม่ได้เป็นของคนไทยด้วยแล้ว ถ้ารัฐบาลรีบเร่งไปเจรจาย่อมทำให้ความฉิบหายมาเยือน" วิทยากรคณะหลอมรวมฯ กล่าว

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตนเชื่อว่าทุกคนรักชาติ แต่การแสดงออกถึงความรักชาติก็ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและเหตุผล ยังเชื่อว่าไม่มีใครยอมเสียดินแดน ไม่มีรัฐบาลไหนใจขายชาติ เอาแผ่นดินไปยกให้ต่างแดน MOU 44 ทำมาแล้ว 23 ปี ถ้าจะเสียคงเสียไปแล้ว แต่ไม่เคยมีกรณีพิพาท ไม่เคยมีใครอ้างสิทธิ์เหนือแผ่นดินไทยจาก MOU นี้ รัฐบาลทุกชุดแม้แต่รัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในอำนาจเกือบ 10 ปี ก็ไม่มีใครชี้ว่าเป็นปัญหา เรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ถ้าจะมีก็ต้องทำโดยโปร่งใส ยึดประโยชน์ของชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง