พิธาโวยถ่วงเวลาแก้รธน.-112

หลอนวันฮัลโลวีน! "พิธา"   อ้างกระบวนการ "แก้ รธน.-นิรโทษกรรม" ถูกประวิงเวลา เหตุมัวแต่ศึกษาแล้วศึกษาอีกโดยไม่จำเป็น  สส.-สว.ไม่ยึดโยงประชาชน พูดอย่างทำอย่าง ด้าน "ภูมิธรรม” ยันการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่แตะ  ม.112 ไม่ทำให้เสียมวลชน ย้ำต้องรักษาจุดยืนของพรรคร่วม

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่งไม่ทันในสมัยประชุมนี้ สำหรับการประชุมในสมัยหน้ามีข้อกังวลอะไรหรือไม่ เนื่องจากยังมีเงื่อนไขที่ทุกพรรคการเมืองไม่อยากรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า กังวลถึงสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน กังวลถึงสัญญาที่เคยพูดต่อหน้าสื่อมวลชนว่า สิ่งแรกๆ ที่ควรจะทำคือการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีการทำประชามติ และการนิรโทษกรรมทางการเมือง

แม้จะมีการเห็นต่างและไม่เห็นต่าง แต่ดูเหมือนว่าจะมีการประวิงเวลา มีการศึกษาแล้วศึกษาอีกโดยที่ไม่มีความจำเป็นอะไร และ สว.ก็เปลี่ยนชุดใหม่ มีประธานใหม่ ยังเห็นไม่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ยังเป็นความไม่แน่นอนในการเมืองไทยต่อไป ตนคำนึงถึงประชาชนที่โดนลิดรอนสิทธิเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองทางออกนี้อย่างไร เพราะขนาดแค่ร่างรายงานการศึกษาของนิรโทษกรรมยังถูกตีตก ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้ามองว่า  หากเจตจำนงของประชาชนมากพอก็มีทางออกทั้งนั้น แน่นอนว่านักการเมืองก็ดี ไม่ว่าจะเป็นสภาสูง  สภาล่าง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน พูดไว้อย่างทำอีกแบบหนึ่ง คนที่เป็นประธานก็อยู่พรรคเดียวกัน และปรากฏว่าโหวตออกมาก็ไม่ตรงกับที่ญัตติตัวเองเสนอ ตนกังวลว่าคนจะรู้สึกได้ว่ามันวนไปวนมาไม่มีความชัดเจนขึ้นมา

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ไม่แตะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้เสียมวลชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่าจะไม่เสียมวลชน เพราะถือเป็นจุดยืนของทุกพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ฉะนั้นเมื่อร่วมกันบนพื้นฐานที่ไม่มีเงื่อนไข เรื่องนี้ก็ต้องยืนยัน

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ชทพ. ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า มีการยื่นแล้วหลายฉบับที่สภา โดยการรวมเอาความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ตามความผิดในมาตรา 110 และ 112 ตนยืนยันว่าพรรค  ชทพ.ยินดีสนับสนุนทุกร่าง โดยพรรค ชทพ.พยายามผลักดันเรื่องความปรองดองสมานฉันท์มาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา  เราก็มีการเดินสายไปยังทุกพรรค ทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์

เป็นเรื่องเปราะบาง

เขากล่าวว่า เมื่อหาเสียงเราใช้คำว่า ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมแรงปฏิรูปประเทศ ซึ่งเราจะสนับสนุนเต็มที่ แต่มีข้อยกเว้นว่าจะไม่รวมเอาหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในมาตรา 110 และ 112 เพราะหากกระทำเช่นนั้น แทนที่จะเป็นการลดความขัดแย้ง แต่จะเป็นการเพิ่มขัดแย้งอย่างรุนแรงเป็นจำนวนมาก ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเปราะบาง เพราะขณะนี้ในสภา แค่พิจารณาการศึกษารายงานร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่สามารถผ่านได้ แต่หากเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็เป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านได้

นายนิกรกล่าวว่า กฎหมายขณะนี้มีอยู่ 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภา และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภามาต้องมีการพิจารณา ซึ่งทราบว่าแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยจะยกขึ้นมาอีก 1 ฉบับ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเห็นประกาศว่าจะไม่ร่วมมาตรา 110 และ 112 ครั้งนี้ตนมีประเด็นที่อยากจะให้ความเห็นว่าลักษณะของกฎหมายที่ตนได้ศึกษามาในฐานะ กมธ.จะมีหลักการ ควรระบุฐานความผิดแนบท้ายร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชัดเจน โดยยืนยันว่าพรรค ชทพ.จะให้ความเห็นชอบอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ละพรรคการเมืองมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เลยทำให้ร่างการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในการพิจารณาที่ผ่านมาไม่สามารถผ่านไปได้ใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า วิธีการพิจารณาต้องดูว่าร่างใดที่จะนำไปรวมความผิดมาตรา 110 และ 112  เข้าไปด้วย ดังนั้น ควรที่จะมีบัญชีความผิดแนบท้ายให้ชัดเจน ซึ่งพรรคการเมืองควรจะช่วยกันยื่นเพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกันให้เป็นเอกภาพ ถือว่าเป็นมิติที่ดี เพราะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่บนความขัดแย้งกัน

เมื่อถามว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมขณะนี้เหมือนกับการช่วยบุคคลของแต่ละพรรคให้พ้นโทษ นายนิกรกล่าวว่า ไม่ใช่ร่างนิรโทษกรรมที่ออกมาไม่ได้ทำเพื่อใคร และการพิจารณาควรจะแยกเป็นร่างๆ แล้วโหวต เพราะเนื้อหาข้างในไม่เหมือนกัน สุดท้ายร่างของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำก็จะเป็นร่างหลัก และเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา และจะผ่านไปได้ด้วยดีในตรงนี้

จับตาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

นายนิกรกล่าวถึงการประชุมร่วมสองสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า  นัดครั้งต่อไปคือวันที่ 6 พ.ย.67 และจะนัดประชุมกันทุกพุธ ซึ่งยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่จะใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมให้ได้มากที่สุด เรามองว่าหากทำเสร็จตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสภาไม่เปิดสมัยวิสามัญ จึงต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และศึกษาให้ชัดเจน และ กมธ.ของทั้งสองฝ่ายมีความเห็นเป็นอย่างไร และจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็กลัวว่าถ้าใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจะไม่ผ่าน เพราะประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์กันน้อย แต่อีกฝ่ายก็มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ จึงควรกลับไปใช้ Double majority เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ คาดว่าน่าจะมีการประชุม 4-5 ครั้ง ก่อนที่สภาจะเปิดสมัยสามัญ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบ อย่างไรก็ไม่ทันที่จะทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้นปี 68 อยู่แล้ว รัฐบาลจะต้องไปกำหนดวันทำประชามติเอง ออกค่าใช้จ่ายเอง ดำเนินการเองทั้งสิ้น จะไปพ่วงกับอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเวลาไม่ทัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง