ตะเพิดธรรมนัส! มติพปชร.ขับยกก๊วน21สส. สะพัดซบพรรคกุนซือป้อม

ธรรมนัส

พลังประชารัฐแตกยับ! ควันหลงแพ้เลือกตั้งซ่อม-แชตไลน์หลุด มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ร้อนระอุ บิ๊กป้อมเปิดห้องถกเครียด หย่าศึกลูกพรรคถล่มกันหนัก สะพัด "ธรรมนัส" ใช้ 21 ส.ส.ต่อรองอยู่ต่อ สุดท้าย พปชร.มีมติตะเพิดพ้นพรรคทั้งก๊วน ประเดิมนัดแรกปี 65 ส.ส.รัฐบาลหายหัวหมดทำสภาล่ม ฝ่ายค้านขู่ถล่มรัฐบาล อภิปรายไม่ลงมติ กลางเดือนหน้าเจอศึกหนัก

สถานการณ์รอยร้าวระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นควันหลงมาจากผลการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดสงขลาและชุมพร ซึ่ง พปชร.แพ้เลือกตั้ง และต่อมามีการเผยแพร่แชตไลน์การคุยกันในกลุ่มไลน์วิปรัฐบาลของ พปชร. ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ส่งข้อความเสนอให้ทำโพลสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่พรรค พปชร.ตกต่ำ โดยมีการอ้างถึงชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา​ เลขาธิการพรรค พปชร. จนกลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนแรงนั้น

ความเคลื่อนไหวภายในพรรค พปชร.ต่อรอยร้าวภายในพรรคดังกล่าวพบว่า  เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ตั้งแต่ช่วงเช้า ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุม ส.ส.ที่รัฐสภาเหมือนเช่นทุกครั้ง และตลอดทั้งวันไม่ได้เดินทางเข้ารัฐสภาเลย ก่อนที่ในเวลา 15.37 น. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ส่งข้อความเข้ามาในไลน์กลุ่มห้องประสานงานพรรค พปชร. ว่า “เรียนเชิญ ส.ส.พรรค พปชร.ทุกท่านมาประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ วันนี้ เวลา 17.00 น.” 

แต่ต่อมาในเวลา 16.04 น. นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้ส่งข้อความแจ้งว่า  “เรียนท่าน ส.ส.พรรค พปชร. ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านอยู่ร่วมประชุมจนปิดการประชุม แล้วจะแจ้งว่าจะมีการประชุมพรรคหรือไม่อีกที” พร้อมกันนี้ยังส่งข้อความอีกว่า “ส.ส.ท่านใดที่เดินทางออกจากสภาขอให้กลับเข้าสภา เดี๋ยวจะมีการลงมติ” กระทั่งในเวลา 17.03 น. นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ส่งข้อความถึงสมาชิกว่า “ขอบคุณทุกคนนะครับ” ก่อนจะดีดตัวเองออกจากกลุ่มไลน์ดังกล่าว รวมถึงนายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร เขต 1 ด้วย ขณะที่นายไผ่ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมทำทุกอย่างเพื่อประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีการปิดประชุมสภาในช่วงเวลา 17.42 น. บรรดา ส.ส.ของ พปชร.ต่างรีบเดินทางออกจากรัฐสภา เพื่อไปยังมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เซฟเฮาส์การเมืองของพลังประชารัฐ หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเรียกประชุมเป็นการด่วน เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัสและส.ส.ในกลุ่มประมาณ 20 คน แสดงความประสงค์ที่จะออกจากพรรค โดยต้องการใช้วิธีให้มีการประชุม ส.ส.เพื่อลงมติขับไล่ตนเองและพวก เพื่อจะได้ไปหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน

มีรายงานว่า ในที่ประชุม ส.ส.พรรค พปชร.ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ร.อ.ธรรมนัส ได้แจ้งต่อ พล.อ.ประวิตรว่า มี ส.ส.ที่พร้อมจะออกพร้อมกับตนจำนวน  22 คน ดังนั้นถ้าจะไม่ให้กลุ่มนี้ออก ต้องมีการปรับ ครม. และให้ ส.ส. 22 คน ต้องมี 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่มีการปรับ ครม.ทันที ส.ส.ทั้ง 22 คนก็จะไม่เป็นองค์ประชุมในสภาให้แก่รัฐบาล  ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัสต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มติพปชร.ขับธรรมนัส

อย่างไรก็ตามเวลา 21.00 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พปชร. มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสพร้อม ส.ส. รวม 22 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากมีเหตุผลเชื่อว่าสร้างความขัดแย้งและแตกแยกภายในพรรค พปชร.มาอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 20 ม.ค. เวลา 10.30 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค จะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่รัฐสภา

สำหรับ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค 21คน ได้แก่ 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก  4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8.นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

มีรายงานข่าวว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ไม่ได้ร่วมลงชื่อที่จะออกจากพรรคพร้อม ร.อ.ธรรมนัสด้วย และนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร ได้ขอถอนตัวจากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส และมีรายงานข่าวว่า มีแนวโน้มว่า ร.อ.ธรรมนัสจะย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นพรรคใหม่ โดยพรรคเศรษฐกิจไทยที่ ร.อ.ธรรมนัสไปอยู่ คือ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.เป็นหัวหน้าพรรค

ส่วนความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่ม รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวหลังถูกถามว่าจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรค พปชร.ขึ้นอีกหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีหรอก จบแล้ว ตนพูดความจริงตามที่ได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊กส่วนตัวไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นดังกล่าวถูกมองว่าอาจตั้งใจปล่อยเพื่อถามกระแสสังคม นายสุชาติกล่าวว่า เป็นการแสดงความเห็น แต่มีการแคปข้อความเอาไปเผยแพร่ แต่ไม่มีอะไร จบแล้ว

ถามย้ำอีกรอบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า ความจริงใจของตน ได้ตอบไปแล้ว เมื่อถามย้ำว่าต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับ ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า “ไม่คุย ไม่มีอะไร”

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ และรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่เขาพูดคุยกันธรรมดา อย่าไปซีเรียส เพราะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ การทำงานร่วมกันภายในพรรคพลังประชารัฐอาจเป็นคนละสไตล์บ้าง แต่ไม่ได้มีปัญหา เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวของแต่ละสำนักก็มีความแตกต่างกันไปบ้าง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กๆ เพียงแค่พูดคุยแซวเล่นกันเองของคนที่อยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวว่าน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้

ถามย้ำว่าดูเหมือนนายสุชาติและ ร.อ.ธรรมนัสมีปัญหาระหว่างกันมาตลอด นายนิโรธกล่าวว่า ไม่มี ที่จริงนายสุชาติและ ร.อ.ธรรมนัสมีหัวใจเป็นนักกีฬา คือเป็นนักเลง ไม่ใช่อันธพาล แต่หมายความว่าเขาเป็นคนเข้าใจง่าย พูดกันแค่ไม่กี่คำ ก็เข้าใจกันแล้ว ตนอยู่ใกล้ชิดกับทั้ง 2 คน หมายความว่าเป็นสมาชิกพรรคด้วยกัน ทั้งคู่เป็นคนตรงไปตรงมา จึงคิดว่าเรื่องดังกล่าวมันไม่ใช่ประเด็น เพราะทุกคนยังรักกัน ทุกคนช่วยกันทำงาน นายสุชาติกับร.อ.ธรรมนัสไม่มีอะไร เขาก็พูดคุยกัน

นายนิโรธยังกล่าวหลังถูกถามอีกว่า คนไม่ค่อยได้เห็นนายสุชาติและ ร.อ.ธรรมนัสพูดคุยกันสักเท่าไหร่ ว่าเพราะเขาไม่ได้เจอกัน โดยนายสุชาติมีงานในฐานะรัฐมนตรีจำนวนมาก ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสมีงานของพรรคจำนวนมากเช่นกัน เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นควันหลังจากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐแพ้การเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ มองว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการแข่งขันในพื้นที่ไข่แดงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐทราบเรื่องนี้ แต่เพราะเรามีสมาชิกพรรคในภาคใต้ ดังนั้น ถ้าพลังประชารัฐไม่ส่งคนลงสมัคร ก็จะทำให้เสียความตั้งใจของสมาชิกพรรค แต่เมื่อการแข่งขันจบแล้ว มันก็จบ เพราะพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีสปิริตสูง และมีวุฒิภาวะสูงมาก

21 ม.ค.ยื่นซักฟอกรัฐบาล

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้า 08.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ เป็นผู้เชิญและอ่านพระบรมราชโองการ และมี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ และข้าราชการเข้าร่วมพิธี โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้นำต้นลิ้นมังกรขอบเหลืองมามอบให้ นพ.ชลน่าน เพื่อแสดงความยินดี นอกจากนี้ ก็ยังมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง และน.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ร่วมแสดงความยินดีด้วย

จากนั้น นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ซึ่งหน้าที่สำคัญของเราก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย คือ การตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม สมัยประชุมสภานี้ถือเป็นประชุมสภาครั้งที่สอง ปีที่สาม ซึ่งประชาชนเดือดร้อนจากราคาข้าวของสูงขึ้น ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะรัฐบาลในเรื่องของแพงทั้งแผ่นดิน โดยจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งตั้งใจว่าถ้าไม่มีเหตุขัดข้องจะยื่นต่อสภาในวันที่ 21 ม.ค.นี้ และคาดว่าจะอภิปรายได้ในช่วงประมาณกลางเดือน ก.พ.

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า สำหรับสมัยประชุมครั้งที่หนึ่ง ปีที่สี่ หรือระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-19 ก.ย.65 มีเรื่องสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.ฝ่ายค้านจะร่วมกับภาคประชาชนในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ว่าด้วยเรื่องอำนาจของ ส.ว.ในการลงคะแนนเลือกนายกฯ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยยังจะเสนอกฎหมายประกบด้วย และ 2.หากรัฐบาลชุดนี้ยังทำหน้าที่อยู่ จะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 แน่นอน

ถามต่อว่า ฝ่ายค้านจะขอตรวจสอบองค์ประชุมสภาหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลักการของฝ่ายค้านแต่แรกยึดว่าจะตรวจสอบเสียงข้างมากอย่างเข้มข้น เพราะถึงอย่างไรเสียงข้างมากก็ต้องทำหน้าที่ให้ถึงพร้อม ยืนยันพวกเราไม่ได้ตีรวน แต่เวลาพิจารณาเรื่องสำคัญหรือกฎหมายสำคัญ เสียงข้างมากต้องมีความพร้อมครบในองค์ประชุมนั้นด้วย ยกเว้นบางเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์จริงๆ ถ้าเราไม่เป็นองค์ประชุมแล้วเรื่องนั้นผ่านไปไม่ได้หรือประเทศเสียหาย เราก็จะทำหน้าที่ของเรา

ยื่นอภิปรายไม่ลงมติศุกร์นี้

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภา ซึ่งนำโดย นพ.ชลน่าน, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นต้น โดยเป็นการแถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดประเด็นเพื่อยื่นญัตติการอภิปรายแบบทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาให้กับรัฐบาล โดยจะมุ่งเน้นประเด็น 1.ภาวะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน การเป็นอยู่การดำรงชีวิต ภาระหนี้สิน สินค้าอุปโภคบริโภคแพงทั้งแผ่นดิน 2.ภาวะวิกฤตโรคระบาด วิกฤติโควิดที่ระบาดในคน และโรคอหิวาต์แอฟริกาที่ระบาดในสุกร 3.ภาวะวิกฤตด้านการเมือง การปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม 4.ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเด็นเหมืองทองอัครา ที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กำลังจะชี้ขาดวันที่ 31 ต.ค.65 และปัญหาประมงที่รัฐบาลมีปัญหากับ IUU

นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่ 21 ม.ค. โดย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ลงชื่อ 1 ใน 10 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อยื่นประธานสภาฯ จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบญัตติ และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน อย่างไรก็ดีพรรคร่วมฝ่ายค้านปรารถนา จะได้อภิปรายในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลวาเลนไทน์ คือช่วงกลางเดือนก.พ. และจะขอเวลาอภิปรายไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง

นายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะตั้งคำถามและเสนอแนะไปยังรัฐบาลจากที่ทำงานเชิงรับให้เป็นเชิงรุกให้ได้ ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หากรัฐบาลยังบริหารงานแบบเช้าชามเย็นชามแบบนี้ ไม่ได้มีการส่งสัญญาณใดๆ ว่าเศรษฐกิจจะกลับมา เราต้องรื้อตะกร้าเงินเฟ้อกันใหม่ โดยการคำนวณราคาสินค้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

ส่วน พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า รัฐบาลปิดการศึกษามายาวนาน ทั้งที่มีงบประมาณการศึกษาจำนวนมาก แต่กลับปิดการศึกษาอย่างสิ้นเชิง แต่ไปเปิดช่องให้นายทุนที่สนับสนุนรัฐบาลให้อยู่ได้ ตอนนี้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเกษตร ปัจจัยการผลิต แต่รัฐบาลมุ่งเรื่องการเมืองของตัวเองมากเกินไป พรรคประชาชาติ มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เตรียมนำไปถามและเสนอแนะรัฐบาลในการอภิปราย เพราะการอภิปรายครั้งนี้ถือเป็นวาระประชาชน

สภาล่มประเดิมนัดแรกปีเสือดุ

สภาล่มประเดิมปี 65

ที่น่าสนใจคือการประชุมสภาเมื่อวันพุธที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นการประชุมสภานัดแรกของปีนี้ หลังมีการงดประชุมสภามาสองสัปดาห์ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2565 จากสถานการณ์โควิด อีกทั้งมีปัญหาเรื่องส.ส.พรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาต้องกักตัว เพราะมี ส.ส.ของพรรคติดโควิด ผนวกกับปัญหาการเมืองภายในพลังประชารัฐ ก็ปรากฏว่าการประชุมสภานัดแรกของปีนี้ เกิดปัญหาองค์ประชุมล่มขึ้นอีกครั้ง

โดยเริ่มจากที่ในช่วงแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ซึ่งเมื่อเริ่มเปิดการประชุมมี ส.ส.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 317คน จากสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ 473 คน ถือว่าครบองค์ประชุม

จากนั้นที่ประชุมให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญๆ ประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกฎหมายอื่น ร่างพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) พิกัดอัตราศุลกากร และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยการพิจารณาเป็นไปด้วยความราบรื่น มี ส.ส.จากฝั่งฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุม

จนเข้าสู่ช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00 น. มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีหลายพรรคการเมืองเสนอร่วมด้วย ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย โดยหลังจากที่ให้เจ้าของร่างชี้แจงหลักการและเหตุผลแต่ละฉบับเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

กระทั่งเวลา 17.35 น. นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม ได้ลุกขึ้นหารือต่อที่ประชุมว่าเนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมน้อยมาก จึงขอนับองค์ประชุม

จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน ได้กดออดเรียกสมาชิกที่อยู่บริเวณรอบนอกห้องประชุมให้เข้ามาแสดงตน โดยใช้เวลากดออดเรียกสมาชิกประมาณ 5 นาที ก่อนที่จะให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตน ผลปรากฏว่ามีผู้แสดงตนเพียง 227 คนเท่านั้น ไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 237 คนจากจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ 473 คน ทำให้ต้องสั่งปิดประชุมในเวลาต่อมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง