บี้นายกฯส่งตากใบศาลโลก

"อนุทิน" เชื่อปมสอบ "ปลัดอำเภอท่าอุเทน" ใช้เวลาไม่นาน วอนอย่าเอาสะใจ หลังมีกระแสเชียร์ให้ย้ายไปตากใบ “บิ๊กต่าย” ขออย่านำ 1 คดีมาชี้วัดการทำงานล้มเหลว ด้าน "กัณวีร์"  ชี้ช่อง แม้ "คดีตากใบหมดอายุความแล้ว" ยังไปต่อที่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ อยู่ที่ "นายกฯ"  กล้าหรือไม่

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีที่ปลัด มท.เซ็นคำสั่งตั้งกรรมการสอบปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม กลับมาปฏิบัติหน้าที่ภายหลังคดีตากใบหมดอายุความว่า ได้หารือกับปลัดมหาดไทย ให้เซ็นคำสั่งดังกล่าว ยืนยันว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้ไม่ยาก เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยเมื่อคดีขาดอายุความปลัดอำเภอก็มาทำงาน จึงเรียกมาสอบสวนได้ง่ายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ระหว่างสอบสวนควรจะย้ายปลัดอำเภอคนนี้ไปที่อำเภอตากใบหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าไปเอาสะใจ เอาเรื่องราวก่อน เดี๋ยวนี้มีเรื่องของจริยธรรม คนที่ขัดหมายจับ หมายเรียก หรือหลบหนีการไปขึ้นศาล ผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปเขาว่าอย่างไร ดังนั้นการที่เขาไม่มาตามหมายเรียก ก็ต้องดูว่าขัดจริยธรรมหรือไม่ ประชาชนอย่ากังวลว่าคนพวกนี้กลับมาจะสบาย ไม่สบายอยู่แล้ว

ส่วนคาดหวังว่าผลการสอบสวนจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของกระทรวงมหาดไทยอย่างไรนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้าไม่ขัด เอาผิดไม่ได้ แต่มีหลักอื่นมาจับ ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเท็จจริง และสำคัญที่สุดคือการให้ความเป็นธรรม อย่าไปทำตามอารมณ์หรือแรงกดดัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีคดีตากใบที่หมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567  โดยในท้ายสุดตำรวจไม่สามารถจับกุมตัวผู้ที่ถูกออกหมายจับ 14 รายได้ว่า เรื่องนี้ต้องแยกส่วนระหว่างคดีความและการติดตามตัวผู้ต้องหา ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 แต่ระหว่างนั้นมีทั้งกระบวนการเยียวยา การร้องทุกข์กล่าวโทษ ต้องย้อนดูว่าเกิดขึ้นเมื่อไรภายในอายุความ ซึ่งการร้องทุกข์กล่าวโทษมี 2 แบบ ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชนและร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตำรวจเองและอัยการสั่งฟ้อง จนกระทั่งเกิดการออกหมายจับ ซึ่งในคดีนี้มีการออกหมายจับเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ตำรวจมีเวลาประมาณ 40 วัน ในการตรวจค้นและติดตามจับกุม ซึ่งได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาไปว่าเมื่อมีเวลาเพียงเท่านี้ เราต้องเข้มข้นการทำงาน ทางตำรวจติดตามตรวจค้นได้ 52 จุด และเฝ้าสืบกว่า 200 ครั้ง ตนเองอยากให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของตำรวจ

ผบ.ตร.กล่าวว่า ส่วนที่ศาลเพิ่งออกหมายจับเมื่อ 12 กันยายน 2567 ต้องย้อนดูที่กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษจนนำมาสู่หมายจับ ตนจึงอยากให้เข้าใจตำรวจด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการออกหมายจับ ตำรวจไม่ได้นิ่งเฉย เราสั่งทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานกองการต่างประเทศ อินเตอร์โพล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ผู้ต้องหาอยู่ภูมิลำเนาใด พักที่ใด ตำรวจก็ไปตาม เหมือนแมวไล่จับหนู ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ใต้บังคับบัญชามีความพยายามอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เปรียบเทียบการจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศ เช่น คดีแป้ง นาโหนด ที่ท้ายสุดสามารถจับกุมตัวได้ ผบ.ตร.กล่าวว่า มีหลายตัวอย่างที่ทั้งจับได้และจับไม่ได้ อย่างที่บอกความยากง่ายมันต่างกัน พร้อมย้ำเราใช้ความพยายามอย่างสูงสุดที่จะไล่จับกุมพวกนี้ให้ได้

เมื่อถามว่า ส่วนจะเกิดข้อครหาหรือไม่ เพราะบางคนปรากฏตัวในวันรุ่งขึ้นหลังหมดอายุความ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถติดตามจับกุมได้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐกล่าวว่า การหนีกับการตามแตกต่างกัน แต่ตำรวจเราทำงานไม่หยุดอยู่แล้ว แต่คนหนีอาจทราบความเคลื่อนไหวของตำรวจ แต่พอคดีหมดอายุความแล้วตัวเขาออกมา ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการดำเนินคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มั่นใจหรือไม่ว่าตำรวจทำเต็มที่แล้ว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐกล่าวทันทีว่า "ผมมั่นใจ ผมมั่นใจ ผมตอบเลยว่าผมมั่นใจ"

วันเดียวกัน ที่ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมการรักษาความปลอดภัยรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2568 เพื่อจัดระบบการรักษาความปลอดภัยวิสาหกิจและระบบสาธารณูปโภคในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พื้นที่ภาคใต้) โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.ไพศาลกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงมีความพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ ซึ่งเป้าหมายสำคัญยังคงเป็นระบบสาธารณูปโภคของการไฟฟ้า การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการประสานความร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้องได้หากรอบแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาแผนงานต่างๆ อย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้การดำเนินการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างดีที่สุด

ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้รากเหง้ามีปัญหา หรือบาดแผลตรงนี้ขยายตัวกว้างขึ้น จะไม่สามารถสมานแผลได้ดี เพราะไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ในระยะยาว รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีแผนในการพยายามผลักดันเรื่องนี้ การปฏิรูประบบโครงสร้างราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้วย ซึ่งแผนต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลจำเป็นจะต้องวางออกมาเป็นรูปแบบให้ชัดเจนโดยเร็ว

นายกัณวีร์ระบุว่า จะติดตามในเรื่องนี้ต่อไป เพราะถึงแม้คดีจะหมดอายุความ ไม่ได้หมายความว่าจำเลยทั้งหมด ซึ่งเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์จะไม่มีความผิดใด เราจะใช้กลไกอื่นๆ ได้หรือไม่ อย่างการพูดคุยศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ว่าผลบังคับใช้ก็ระยะยาวเกินไป สิ่งที่เราควรจะทำคือจะลงไปพื้นที่เพื่อพูดคุยกับทางญาติพี่น้องว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง เพราะเห็นแล้วว่าหนึ่งในจำเลยได้เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่แล้ว ปล่อยได้อย่างไร แล้วกลับมาหน้าตาเฉย ไม่ควรมี

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ นายกัณวีร์กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่กล้าพอหรือไม่ เพราะการที่จะเสนอเรื่องไปที่ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น จำเป็นใช้หัวหน้าหรือประมุขฝ่ายบริหาร ซึ่งคือนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเป็นคนอื่นหรือหน่วยงานอื่นได้ โดยการยื่นเรื่องไม่มีอายุความ ซึ่งหมายความว่าถึงเรื่องจะเกิดมาแล้ว 20-30 ปี แต่หากเป็นเรื่องบั่นทอนใหญ่จริงๆ เราสามารถที่จะนำเสนอได้ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่กล้า ต้องใช้ความกล้าหาญของรัฐบาลชุดถัดไปข้างหน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง