นายกฯ อิ๊งค์ป่วย เลื่อนภารกิจระนาว ขณะที่ "บิ๊กอ้วน" ควันออกหู จุดไฟเกาะกูดออกมาป่วนช่วงนี้ “พลังประชารัฐ” หัวหมู่ทะลวงฟันขีดเส้นนายกฯ ยกเลิก MOU 2544 “ธีระชัย” เผยลุงป้อมเล่าจากปาก เกาะกูดอยู่ในใจเขมร ชี้ไทยเสียเปรียบเต็มประตู ส่อซ้ำรอยสูญเสียกรณีพิพาทเขาพระวิหาร ด้าน กมธ.ร่วมประชามติตั้ง "สว.ฉัตรวรรษ" นั่งหัวโต๊ะ เตรียมเจรจา “สภาสูง” ปลดล็อกเสียงข้างมาก 2 ชั้นด้วยสูตรพิเศษ
เมื่อวันพุธ เวลา 14.15 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงอาการเสียงแหบของนายกฯ ในวันเดียวกันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าและมีสีหน้าอิดโรยด้วย นายกฯ กล่าวว่า "แย่ลง เมื่อเช้าก็เสียงแหบแล้ว แต่ไม่เท่านี้ เดี๋ยวจะไปฉีดยาที่โรงพยาบาล" เมื่อถามว่าภารกิจในวันที่ 31 ต.ค.นี้ยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอประเมินอาการหลังไปพบแพทย์ก่อน
ทั้งนี้ สำหรับภารกิจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 ต.ค. อาทิ ประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 ที่กระทรวงการคลัง ได้มีการเลื่อนภารกิจทั้งหมดออกไปก่อนทุกภารกิจ
ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐออกมาคัดค้านผลประโยชน์ MOU 44 และยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่า จะไปร้องใคร เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการกระทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด วันนี้มีแต่คนพูดถึงเกาะกูด และรัฐบาลขอยืนยันว่าเรารักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่ เราจะไม่ยอมให้แผ่นดินของเราไม่ว่าส่วนไหนตกไปเป็นของคนอื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว
ที่รัฐสภา พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรค และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภา คัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU 2544 โดยเตรียมเข้าชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หยุดการเจรจาในการทำการแบ่งปันก๊าซปิโตรเลียมและน้ำมันให้กับกัมพูชา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ โดยจำเป็นต้องคุยเรื่องอาณาเขตให้ชัดเจนก่อน
ด้านนายธีระชัยกล่าวว่า ข้อความในเอกสาร MOU 2544 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วม โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด เมื่อได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU 2444 ขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU 2544 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย ตนเองไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU 2544 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย การที่ใน MOU 2544 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน
“พล.อ.ประวิตรได้เล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่เป็นรองนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ในการเจรจากับกัมพูชา ซึ่งเจรจาไปได้ไม่นานกัมพูชาก็พูดถึงเกาะกูดทุกครั้ง จึงสั่งให้เลื่อนการเจรจาออกไป ทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเกาะกูดอยู่ในใจของกัมพูชาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องฝากความหวังไว้ที่ พล.อ.ประวิตร เพื่อจะช่วยรักษาดินแดนของไทยเอาไว้” นายธีระชัยระบุ
ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุว่า เพียง 2 เดือนของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 รัฐบาลนำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ เริ่มเจรจา 21 เมษายน 2544 และตกลงเซ็นเอ็มโอยู 2544 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2544 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่นี้เดิมไม่มีกฎหมายรับรอง
ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุว่า ดังนั้น การที่รัฐบาลอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน บดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูก เพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรองเข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซียอย่างชัดเจน
"พรรคพลังประชารัฐจึงเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิก MOU 2544 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เขตของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดพื้นที่ของสยามเพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง" ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ
ด้านนายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางออก 2 ทางให้แก่รัฐบาล โดยรัฐบาลสามารถทำไปพร้อมๆ กัน ดังนี้ ทางแรกคือการที่รัฐบาลไทยเปิดเผยแนวทางของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยให้ประชาชนไทยได้ทราบ อย่าไปแอบเจรจากับกัมพูชาเงียบๆ และเมื่อมีการเจรจาทำข้อตกลงแล้ว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีการออกกฎหมายภายในที่จะต้องดำเนินการ
นายจุลพงศ์กล่าวว่า แนวทางที่สองคือการใช้องค์กรที่สามที่น่าจะเป็นทางออกให้ทั้งไทยและกัมพูชา คือคณะตุลาการตามภาคผนวกของอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และหากพิจารณาออกมาว่ามีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณใด ก็ใช้ข้อตกลงการพัฒนาร่วมกันตามแนวทางแรกมาใช้
"ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอีกครั้ง ต่อการที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาการพัฒนาแต่เชิงพาณิชย์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาอย่างเดียว โดยไม่นำเรื่องเขตแดนทางทะเลมาพิจารณาพร้อมกันไปด้วย ไม่ใช่เพราะคลั่งชาติ แต่เป็นเพราะความหวาดระแวงของประชาชนในเรื่องผลประโยชน์ซ้ำซ้อนที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านถึงขนาดทำให้รัฐบาลต้องล้มได้แล้ว และอาจจะนำไปสู่ความเพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้เรื่องเขตแดนทางทะเล ดังเช่นเคยแพ้คดีพื้นที่พิพาทบนเขาพระวิหาร" นายจุลพงศ์ทิ้งท้าย
ที่่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ..... เป็นนัดแรก ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีมติส่งตัวแทนเข้าประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางออกหลักเกณฑ์การทำประชามติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะใช้เสียงข้างมากสองชั้น ตามที่ สว.เสนอ หรือใช้เสียงข้างมากปกติ ตามที่ สส.เสนอ
ต่อมา นายนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เปิดเผยผลการประชุมว่า วันนี้มีการพิจารณาเพียงวาระเดียว คือการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเลือก พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน กมธ. ขณะที่ สส.ได้รองประธาน กมธ.คนที่ 1 คือนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ทั้งนี้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ได้เป็นโฆษก กมธ. โดยจะมีการประชุมนัดหน้าในเวลา 13.00 น. วันที่ 6 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กมธ.จะประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และคาดว่าจะประชุมไม่เกิน 3 ครั้งน่าจะได้ข้อยุติ ทั้งนี้ สส.จะมีการเสนอแนวทางที่จะรอมชอมเรื่องเสียงข้างมากสองชั้นกับ สว. คือจากเดิมที่ต้องมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงที่ได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติต้องมีเสียงเกินครึ่งจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แก้ไขเป็นให้มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนเสียงที่ได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติยังเหมือนเดิม คือต้องมีเสียงเกินครึ่งจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ที่ จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระบุช่วงหนึ่งว่า เสียงรัฐบาลกว่า 300 เสียงไม่มีอะไรน่าห่วง เมื่อถามว่าพรรคจะอยู่ครบ 4 ปีกับรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทย นายสุวัจน์ตอบว่า ถ้าเขายังไม่เอาออกก็จะอยู่ด้วยกัน รัฐบาลอยู่ครบเราก็อยู่ตาม เขาบอกว่า อิมพอสซิเบิล (Impossible) อย่าใช้กับการเมืองไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวพรรคกล้าธรรม (กธ.) ที่มีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ล่าสุด นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว หรือกำนันศักดิ์ อดีตแกนนำดูแลพื้นที่ภาคใต้ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้นำทีมพร้อมบุตรสาว น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว สมัครเป็นสมาชิกพรรค กธ. ขณะเดียวกัน ในส่วนของที่ทำการพรรค จะใช้อาคารปานศรี ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ทำการ พปชร.เก่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้
นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้