คลังเร่งดันจีดีพี ปล่อยเช่าที่99ปี ธปท.ชี้หนุนศก.

นายกฯ สวมชุดผ้าไหมแม่ มอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ ลั่นสื่อ-รัฐบาลเป้าหมายเดียวกัน ทำเพื่อ ปชช. พร้อมหนุนธุรกิจ SME “ขุนคลัง”  เคาะจีดีพีไทยปีนี้โตเต็มสูบ 2.7% ชี้เงินเฟ้อไทยควรอยู่ที่ 2% เร่งออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ \หนุนเปิดช่องต่างชาติเช่าที่ดินยาว 99 ปี กระตุ้นลงทุน “แบงก์ชาติ” ยันจับมือ "คลัง" ช่วยหนุนเศรษฐกิจ เห็นพ้องกรอบเงินเฟ้อ 1-3% เหมาะสม  จับตาอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด

ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 30  ตุลาคม เวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ ในงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567  “Thailand 2025 : Opportunities, Challenges and the Future” โดยได้สวมชุดผ้าไหมทอมือสีกลีบบัวจากภาคอีสาน ซึ่งเป็นชุดของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดาของ น.ส.แพทองธาร  เคยสวมสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

นายกฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกคน สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจกับรัฐบาลเป็นความสัมพันธ์ที่เรามีกันมาอย่างยาวนาน และสมาคมมีหน้าที่ในการตั้งคำถาม ตรวจสอบ มีคำถามจากประชาชน เพื่อถามและได้คำตอบจากรัฐบาล เพื่อสื่อสารต่อให้ประชาชนได้รับรู้เข้าถึงข้อมูลของรัฐบาล เข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเราทั้งสองฝ่ายเป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อประชาชน มีประชาชนเป็นเป้าหมาย แต่ละคนทำหน้าที่ต่างกันในความรับผิดชอบของตัวเอง

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่หรือรุ่นไหนก็ตามที่มีความตั้งใจความพยายามในการทำธุรกิจ SME โดยจะลดต้นทุนให้ทั้งหมด ฉะนั้นขออนุญาตบอกผู้สื่อข่าว หากมีข้อมูลอะไรดีๆ รัฐบาลพร้อมรับฟังและนำข้อมูลเหล่านี้ไปแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะพูดเสมอว่าจริงๆ แล้วถ้าเราอยู่ในปัญหาก็จะเห็นปัญหาได้ในมุมหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามีคนที่ช่วยกันดู วิเคราะห์ ซัปพอร์ตหลายด้านจะเห็นปัญหาได้ครบขึ้น เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะแก้ปัญหาของประชาชนให้ดีที่สุด

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” ว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ แต่มองว่าควรจะขยายตัวได้มากกว่านี้ หลังจากในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างมาก โดยปีที่ผ่านมาจีดีพีเติบโตได้แค่ 1.9% เท่านั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยมองว่าควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอย่างต่ำควรอยู่ที่ 2% ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณารอบด้านว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพอะไร และต้องแก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องมองเงื่อนไขที่จะเดินไปข้างหน้า ซึ่งเรียกความความท้าทายและโอกาสที่จับต้องได้

"ปีนี้เดาว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ คิดว่ามันควรจะมากกว่านี้ แต่มีน้ำท่วมเข้ามาแทรก ส่วนปี 2568 หากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวน่าจะได้ถึง 3% บวกลบ ซึ่งผมคิดว่า 3% แต่ก็คิดว่ามันควรจะขึ้นไปได้มากกว่านี้ เราอาจจะมองลึกไปถึงตอนที่เศรษฐกิจเคยขยายตัวได้ถึง 5% เศรษฐกิจมันโตมาในระดับหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ที่ 3.5%" นายพิชัยระบุ

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจุบันได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 89% ของจีดีพี หรือ 12 ล้านล้านบาท จากก่อนหน้านี้เคยขึ้นไปอยู่มากกว่า 90% ของจีดีพี ซึ่งมองว่าไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้น ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนปรับลดลงมานี้ ไม่ได้มาจากการแก้ปัญหา แต่เป็นเพราะมูลค่าจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและภาคเอสเอ็มอี สะท้อนว่าคนที่เป็นกำลังของประเทศกำลังประสบปัญหาหนี้ท่วม ส่วนหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 65-66% โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงเกินกว่ากรอบที่ 70% ต่อจีดีพี ด้านนโยบายการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50% เป็นระยะเวลานาน แต่มีคนเรียกร้องให้ปรับลดต่ำลงมาอีก

นายพิชัยกล่าวว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน โดยภาระการจ่ายหนี้ต้องลดลง ให้คนมีโอกาสที่จะใช้จ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้รถกระบะ และหนี้ที่อยู่อาศัย โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้

"นักลงทุนต่างชาติมีความต้องการเข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก คิดเป็นวงเงินหลายแสนล้านบาท และต้องการลงทุนในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาปักฐานการลงทุนในไทยหากมีสัญญาเช่าที่ดินที่นาน เช่น 99 ปี น่าจะเป็นโอกาสที่ดี แต่หากไม่มีสัญญาเช่าที่ดินที่นานขนาดนี้ อาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเกิดยากขึ้น อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปที่ต่างชาติ อย่างที่ดินของรัฐที่เยอะนั้น เอามาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็ให้เช่าในราคาถูกระยะเวลานาน” นายพิชัยระบุ

ขณะที่ นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า จากการหารือเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ระหว่าง รมว.การคลังและผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ต่างมีความเห็นร่วมกันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

โดยการดำเนินการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกันนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คือการดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ โดยการใช้เครื่องมือแบบผสมผสานตามที่ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป มาตรการทางการเงินในการแก้หนี้ ซึ่งเป็น Policy package ที่สร้างสภาวะแวดล้อม และบรรยากาศทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ยังเห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืด หรือการที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งในกรณีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ไม่พึงประสงค์นั้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้น ขยายตัวเร็วขึ้น และเงินเฟ้อจะสูงขึ้น อยู่ภายในกรอบ 1-3% เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจที่อุปสงค์เพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ปัจจัยอุปทาน ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ได้หน่วงจนเงินเฟ้อต่ำ ทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกันว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป็นสิ่งที่ดี

สำหรับกระบวนการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันของกระทรวงการคลังและ ธปท.นั้น ยังคงเดินไปตามกระบวนการปกติที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งไปตามปกติที่จะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2568 ต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ธปท.เพิ่มการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน มารวมอยู่ในการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินด้วยนั้น นายปิติกล่าวว่า เรื่องค่าเงินไม่ได้เป็นเป้าหมายขั้นสูงสุด  แต่เป็นเพียงตัวแปรหรือองค์ประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งของภาวะการเงิน ที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่ง ธปท.ดูแล และมีการติดตามเรื่องค่าเงินอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความผันผวนที่หากเกินเลยไปจากปัจจัยพื้นฐาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้