“พิชัย” ฟุ้งถก "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ฉลุย ไม่ติดกรอบเงินเฟ้อ 1-3% พร้อมบี้ลดดอกเบี้ย-คุมอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยกระตุ้นลงทุน หวังดันเงินเฟ้อทะยานแตะ 2% เดินเครื่องแก้หนี้ครัวเรือน ขีดเส้น 2 สัปดาห์ได้ข้อสรุป “จุลพันธ์” เผยคุยนายกฯ นอกรอบ เข็นมาตรการบูมเศรษฐกิจปลายปี "อิ๊งค์" แจงปม จม. “ธนาธร” ร้องทบทวนรับซื้อพลังงานหมุนเวียนยังไม่ถึง กพช. ยันทุกอย่างโปร่งใสไม่เอื้อนายทุน
ที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เวลา 13.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2568 ว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ของจริงที่คาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งน่าจะต่ำเกินไป ดังนั้นต้องมาพูดคุยกันว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยกระบวนการหารือจะต้องรีบจบโดยเร็วเนื่องจากใกล้สิ้นปีแล้ว
ภายหลังการหารือประมาณ 2 ชั่วโมง นายพิชัยเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังรับได้หากกรอบอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1-3% ตามเดิม แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท. จะต้องมีมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อสามารถปรับขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมใกล้เคียงกับค่ากลาง เช่น ระดับ 2% โดยเฉพาะผ่านนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย จะช่วยสนับสนุนทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ได้กำหนดว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปจะต้องปรับขึ้นหรือลดลง แต่อยากให้ กนง.และ ธปท. พิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการลงทุน โดยจะต้องดูปัจจัยจากต่างประเทศประกอบด้วย
“ผมมองว่ากรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องปลายเหตุเท่านั้น วันนี้อยากคุยกันที่ต้นเหตุมากกว่า ดังนั้นเรื่องการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ 1-3% ก็ยังใช้อยู่ แต่ทาง กนง.และ ธปท.จะต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้เกิดการลงทุนและทำให้เกิดความอยากลงทุน ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่น่าจะออกมาต่ำกว่า 1% นั้นก็ไม่เอา” นายพิชัยระบุ
หลังจากนี้ ธปท.จะต้องกลับไปพิจารณาเงื่อนไขทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องเร่งสรุปให้ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยยืนยันว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องเดินควบคู่กันไปได้ เพราะที่ผ่านมาไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโตไม่สูง โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ ส่วนปี 2568 คาดว่าจะโตได้ถึง 3% บวกลบ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ควรจะทำ และเชื่อว่า ธปท.จะเข้าใจในเจตนาและนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ เห็นว่านโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีความจำเป็นที่จะต้องเอื้ออำนวยและสอดคล้องเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากเรื่องนี้หลายประเทศก็มีการพิจารณาเพื่อให้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มีการเข้าไปแทรกแซงให้เสียในหลักการ โดยอยากให้ ธปท.ไปพิจารณาว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยสอดคล้องกับต่างประเทศ และสามารถแข่งกับคู่แข่งได้หรือไม่
“นโยบายการเงินบางประเทศไม่ได้พิจารณาแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณานโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งผมอยากใช้นโยบายเหล่านี้ควบคู่กันไป ในการช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาตลาดในประเทศ 70% ตลาดส่งออก 30% บางอย่างพึ่งพาการส่งออกถึง 50% แต่ไม่อยากบอกว่าต้องอ่อนค่าไปถึงแค่ไหน โดยอยากให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ นั่นหมายถึงมาตรการด้านการเงินใดๆ ที่จะออกมาจะต้องดูให้ครบทั้งหมด ทั้งเรื่องเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะต้องมีองค์ประกอบที่สนับสนุนการลงทุน ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การแก้หนี้ กำกับดูแลสถาบันการเงิน เหล่านี้ต้องออกมาเป็นแพ็กเกจ” นายพิชัยระบุ
ส่วนอีกเรื่องที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามทำเรื่องนี้อย่างบูรณาการ และให้ตกผลึกภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภค ที่หากทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้คือ มาตรการด้านการคลังและมาตรการด้านการเงินจะต้องเดินไปด้วยกัน ไม่พยายามแก้ปัญหาไปคนละทาง
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ได้มีการหารือนอกรอบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเห็นสอดคล้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีให้อยู่ในจุดที่น่าพอใจ หากไม่มีมาตรการอะไรเติมเข้าไปเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7%
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการจะไม่กระทบกับความเสี่ยงทางการคลังอย่างแน่นอน เพราะแต่ละโครงการที่จะทำมีขนาดหลักพันล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท และการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้ผ่านการพิจารณาไปแล้ว ดังนั้นไม่มีการขาดดุลเพิ่มขึ้นหรือต้องกู้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เผยแพร่จดหมายถึงนายกฯ เรียกร้องให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียนว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่องนี้ยังมาไม่ถึง แต่ได้มีการสอบถามและพูดคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานแล้ว โดยก่อนที่นายธนาธรจะออกมาพูด ได้มีการตอบคำถามเรื่องนี้ผ่านกระทู้ในสภาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันเรื่องนี้จะโปร่งใสไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนเรื่องนี้จะต้องโปร่งใส และยินดีให้ตรวจสอบ ซึ่งได้ยินจากรองนายกฯ ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการและต้องโปร่งใส ให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างแน่นอน เพราะนั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน