ปลุกเที่ยวเหนือ สั่งเยียวยาเพิ่ม ฟื้นพื้นที่น้ำท่วม

นายกฯ อิ๊งค์แต่งตัวรับลมหนาว ฟุ้งไทยแม้หนาวไม่มากแต่มีกิจกรรมให้ทำยาวทุกจังหวัดตั้งแต่ พ.ย.ปีนี้ถึง ม.ค.ปีหน้า บอกคนอยุธยารอหน่อย เงินเยียวยาน้ำท่วมถึงมือแน่ สั่ง ครม.ให้เร่งหามาตรการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม “อนุทิน” รับศึกษาจริงเวนคืนพื้นที่ 40  เมตรริมแม่น้ำสายแก้อุทกภัย

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานแถลงข่าว Thailand Winter Festivals โดยนายกฯ และรัฐมนตรีที่ร่วมงานได้สวมผ้าพันคอเข้าธีมฤดูหนาว  ซึ่งเป็นผ้าทอดอยตุง หมักโคลน สีโทนธรรมชาติ  จากจังหวัดเชียงราย

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นบรรยากาศต้อนรับฤดูหนาว ซึ่งฤดูหนาวของไทยอาจไม่ได้หนาวมาก แต่กิจกรรมแน่นแน่นอน โดยตั้งแต่เดือน พ.ย.ถึง ม.ค.ปีหน้า เราจะจัดเทศกาลฤดูหนาวทั่วประเทศ  ไม่ว่าจะไปจังหวัดไหนของประเทศก็มีที่เที่ยวแน่นอน

"วันนี้ภาคเหนือของเราพร้อมเที่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ฉะนั้นใครที่วางแผนไว้ว่าจะสัมผัสลมหนาวปลายปีที่ภาคเหนือ สามารถจองเครื่องบิน ที่พักได้เลย พี่น้องชาวเหนือของเราพร้อมเปิดบ้านต้อนรับทุกคน" นายกฯ กล่าว

ต่อมา น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนหลายตำบลใน จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลังน้ำท่วมมา 3 รอบแล้วว่า  ในทีมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รับทราบหมดแล้ว ซึ่งเรื่องค่าเยียวยาต้องได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน  อย่างในพื้นที่ภาคเหนือเราก็ได้เร่งจ่าย ฉะนั้นทุกจังหวัดก็เช่นเดียวกัน รอให้ผ่านเกณฑ์ทุกอย่างก็จ่ายได้เลย ไม่นานแน่นอน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาการจ่ายเงินเยียวยาจะข้ามปี นายกฯ ย้อนถามว่าที่ผ่านมาปีไหนเอ่ย ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมนะ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษก ศปช. กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.แพทองธารได้มีข้อสั่งการ ครม. ว่าให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม โดยให้ส่งเรื่องที่นอกเหนือจากที่ ครม.เคยอนุมัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย ในทุกภาคของประเทศไปแล้ว ให้นำมารวมที่ ศปช.โดยเร็ว เพื่อรวบรวมและกลั่นกรองก่อนนำมาเสนอต่อ ครม. ซึ่งนายกฯ ยังได้กำชับให้ส่วนราชการในพื้นที่ อ.แม่สาย และอำเภออื่นๆ ยังต้องดำเนินการฟื้นฟูในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ ศปช.ส่วนหน้าจะส่งมอบพื้นที่ไปแล้วก็ตาม เพื่อให้การเข้าสู่หน้าท่องเที่ยวในหลายพื้นที่เป็นไปอย่างคึกคักตามนโยบายรัฐบาล

นายจิรายุยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า  ปัจจุบันหลายจังหวัดจะเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว แต่ยังมีฝน และยังต้องติดตามการบริหารน้ำอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานได้รายงานน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่ายังควบคุมการระบายน้ำต่อเนื่องอยู่ที่อัตรา 1,699 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว  ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานต่อ ศปช.ว่าได้แจ้งเตือนการเฝ้าระวัง ในวันที่ 30-31 ต.ค. จะมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากฝนตกสะสมช่วงดังกล่าวจากปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน และหนองหญ้าปล้อง จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณ อ.ปราณบุรี และหัวหิน ส่วนที่ภาคใต้ยังมีต้องเฝ้าระวังฝนที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการฟื้นฟูหลังสถานกาณ์อุทกภัยของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่โบราณสถาน วัดกู่ป้าด้อม โบราณสถานเวียงกุมกาม ที่ถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือนนั้น ล่าสุด นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แจ้ง ศปช.ว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10  ลำปาง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังภายในโบราณสถานดังกล่าวแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป การอนุรักษ์และฟื้นฟูจะดำเนินการคลุมลวดลายปูนปั้นด้วยผ้าที่มีเส้นใยลักษณะหนาและมีความนุ่ม เพื่อรักษาความสมดุลของอุณหภูมิของลวดลายปูนปั้นกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อลวดลายปูนปั้น เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพที่ดีที่สุดต่อไป

 “รัฐบาลให้ความสำคัญในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะโบราณสถานต่างๆ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟู และรักษาเอาไว้ให้กลับมาคงสภาพที่ดีที่สุด เพราะด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมนั้นประเมินค่ามิได้ เป็น Soft Power ที่เพิ่มเสน่ห์ เสริมภาคการท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น การฟื้นฟูจึงต้องคำนึงถึงทุกความเกี่ยวข้องที่ส่งเสริมกัน” นายจิรายุกล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะเวนคืนพื้นที่ 40 เมตรบริเวณริมแม่น้ำสาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากว่า เรื่องนี้จะไปดูเรื่องของการบุกรุกพื้นที่มากกว่าว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังไปวางแนวอยู่ โดยการเวนคืนครั้งนี้ไม่ได้ไปมองถึงเรื่องของการบุกรุกที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่กรมโยธาธิการกำลังไปศึกษาการวางแผนงานทำเขื่อนกันน้ำกันดิน ซึ่งจะทำพาดผ่านตามแนว อ.แม่สาย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากศึกษาดีๆ โครงการนี้จะคุ้มค่าหากเสียกว่า  3,000 ล้านบาท แต่แก้ไขปัญหาได้ดีทีเดียว เพราะทุกวันนี้หากปล่อยเป็นเช่นนี้รัฐบาลเสียเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาทอีก และได้แต่เยียวยา ซึ่งปีหน้าอาจต้องเสียงบอีก

 “การรุกล้ำไม่มีการเยียวยา แต่ต้องแนะนำให้บุคคลเหล่านั้นไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนเรื่องการเวนคืนต้องไปดูว่าหากสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้รัฐบาลก็จำเป็นที่ต้องเยียวยา ซึ่งกรมโยธาธิการฯ  เพิ่งมารายงานผลการศึกษา แต่ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะมีครัวเรือนกี่ครัวเรือน ประชากรกี่คน  ธุรกิจกี่อย่าง ซึ่งบริเวณนั้นมีตลาดสายลมจอยอยู่  และเชื่อว่าจะใช้เวลาศึกษาไม่นาน แต่จะใช้เวลาของบนาน โดยต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจากเรื่องนี้ใช้งบกลางไม่ได้ เพราะเกิน 1 ปี จึงต้องผลักดันให้ใช้งบประมาณปกติ ซึ่งต้องไปพูดคุยกับ สทนช.ด้วย โดยได้เร่งรัดเรื่องนี้แล้ว เพราะเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในระยะยาว” นายอนุทินระบุ

นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า ได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้มาลงทะเบียนขอรับการเยียวยาแล้วทั้งหมด 83,886 ครัวเรือน โดย ปภ.เชียงใหม่ได้ส่งเรื่องไปยัง ปภ.แล้ว 23,324 ครัวเรือน และในสัปดาห์นี้จะส่งเรื่องไปเพิ่มเติมอีกกว่า 40,000 ครัวเรือน

“ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาหรือได้รับเงินล่าช้า คือการที่ผู้ประสบภัยยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับทางธนาคาร หรือบัญชีถูกปิดการใช้งานไปแล้ว บัญชีไม่เป็นปัจจุบัน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว และชื่อในบัตรประชาชนไม่ตรงกับในชื่อบัญชี ซึ่งขณะมีเอกสารถูกตีกลับมาทั้งหมด 415 ราย ดังนั้น ปภ.เชียงใหม่จึงได้แจ้งไปยังอำเภอนั้นๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนไปอัปเดตข้อมูลกับธนาคาร ก่อนจะมีการโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีให้ภายหลัง” นายดุสิตกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง