สว.ข้องใจโอน‘ดิไอคอน’ให้DSI

ตร.สอบสวนกลางส่ง "ดีเอสไอ" รับไม้ต่อ "ดิไอคอน" เป็นคดีพิเศษ ขนสำนวนล็อตแรก 18 ลังส่งถึงมือ "รอง ผบช.ก." ยันไร้ช่องโหว่ ด้าน "บอสพอลและคณะ" จ่อกินข้าวคุกยาวต่อเนื่อง เล็งอีกข้อหา พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน เพิ่มเป็น 7 ฝาก 84 วัน “กมธ.ศาสนา” ไม่แตะ “ว.วชิรเมธี” อ้างเรื่องละเอียดอ่อนเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ “สามารถ” อ่วมหนักเจอขุดส่งตำรวจเข้าสอบแทนสถาบันภาษา ป.เอก ม.รามฯ

เมื่อวันจันทร์ ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  (บช.ก.) เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกล่องสำนวนคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ไปส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และยังมีสำนวนบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และเจ้าหน้าที่จะทยอยส่งสำนวนที่เหลือให้ในภายหลัง

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. กล่าวว่า วันนี้ได้มีการส่งมอบสำนวนของคดีดิไอคอน พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดไปให้ DSI เบื้องต้นมีสำนวนที่ส่งในวันนี้ทั้งหมด 18 ลัง 156 แฟ้ม เอกสารมากกว่า 81,000  แผ่น ที่เป็นของผู้เสียหายที่มาแจ้งความระหว่างวันที่ 10-16 ต.ค. ประกอบด้วยผู้เสียหายลำดับที่ 1-325 ซึ่งบางส่วนจะทยอยตามไปเรื่อยๆ โดย บช.ก.รับผู้เสียหายไว้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกว่า 3,400 ราย ไม่รวมพยานบุคคลที่ทำการสอบไว้อีกหลายปาก

เมื่อถามว่า หากดีเอสไอรับสำนวนไปแล้ว และยังเห็นช่องโหว่ของสำนวน บช.ก.จะส่งทีมไปช่วยทำคดีกับดีเอสไอหรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ระบุว่า ตามกฎหมายหากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว อำนาจทั้งหมดก็จะอยู่ที่ดีเอสไอ ดำเนินการ แต่ในเรื่องที่ว่าจะมีช่องโหว่ของสำนวนนั้นไม่น่าจะมี เพราะตอนนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนที่ยังไม่แล้วเสร็จ  โดยที่ส่งคดีไปก็เพื่อที่จะให้ดีเอสไอดำเนินการต่อให้สมบูรณ์

เมื่อถามว่า ดีเอสไอจะสามารถทำสำนวนทัน 4 ฝาก หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์กล่าวว่า หากมีการแจ้งข้อหา พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จะเพิ่มเป็น 7 ฝาก 84 วัน ก็จะมีเวลาทำสำนวนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการรวมเป็นสำนวนเดียวกัน เพราะตอนนี้มีการกระทำผิดกฎหมายหลายบท จากเดิมที่เรามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่ไปขออนุมัติหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมพ์ แต่สอบสวนไปแล้วพบว่ามี พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ก็อยู่ในเรื่องเดียวกัน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.อัคราเดช  พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าชุดทำคดีดิไอคอน ระบุว่า พนักงานสอบสวนชุดที่ทำคดีได้นำส่งสำนวนคดีให้ดีเอสไอรับช่วงดำเนินการต่อเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นสำนวนที่ประกอบด้วยข้อหาหลักฐานฉ้อโกงประชาชน และข้อหาย่อยที่อยู่ในนั้นคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยจากนี้อำนาจหน้าที่ในการสอบสวนจะเป็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งหมด รวมไปถึงการออกหมายเรียกและหมายจับผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ดีเอสไอจะเป็นแม่งานรับผิดชอบทันที

ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า เนื่องด้วยในตอนนี้ดีเอสไอยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่เมื่อตำรวจมีการส่งมอบสำนวนมาให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่อย่างไร ต้องขอรอดูข้อเท็จจริงทั้งหมด ในวันนี้ที่จะต้องไปต่อคือ การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527  หรือกฎหมายแชร์ลูกโซ่ โดยจะมีการประชุมในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหารือผลสรุปการรับเป็นคดีพิเศษ และวิธีการขั้นตอนต่างๆ ในการสอบสวน

ส่วน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. เปิดเผยถึงความคืบหน้า จากกรณีที่ตำรวจเตรียมดำเนินคดีกับกลุ่มเทวดาที่รีดทรัพย์บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งหลักฐานมาจากคลิปเสียงในโทรศัพท์มือถือของบอสพอลว่า ขณะนี้ตำรวจเตรียมสอบปากคำกลุ่มบอสไว้เป็นพยาน โดยมีประมาณ 7 คนที่เกี่ยวข้อง แต่ตำรวจจะเรียกสอบปากคำ 3 คน ก็เพียงพอต่อพยานหลักฐาน ไม่จำเป็นต้องสอบปากคำทั้งหมด เบื้องต้นทนายบอสพอลได้นัดหมายเข้าแจ้งความวันที่ 31 ต.ค.นี้ เนื่องจากติดว่าความ แต่ตนมองว่าช้าไป จึงกำลังหารือว่าให้มอบทีมทนายมาแจ้งความแทนก็ได้  เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ไม่ให้เกิดความล่าช้า

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายชิบ จิตนิยม สว.สายสื่อมวลชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่ายดิไอคอนกรุ๊ป ที่มีผู้เสียหายเกือบ 10,000 คน และลุกลามทั่วโลก ทั้งนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงแทน

นายชิบกล่าวว่า การส่งคดีให้ดีเอสไอเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหวั่นว่าหากดำเนินการไม่เสร็จทันตามกรอบเวลา อาจจะต้องมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจากการคุมขัง ทำให้ผู้ต้องหารอดคดี รวมถึงมาตรการควบคุมป้องกันการใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ให้มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชน การทำหน้าที่กำกับดูแลของ กสทช.

โดยนายประเสริฐระบุว่า ข้อมูลที่ทราบคือมีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย และรัฐบาลได้มีการดำเนินการในการควบคุมเรื่องการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง เสนอให้มีการกำหนดมาตรการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสร้างมาตรฐานในการโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

ด้านนางเอมอร ศรีกงพาน สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะวัฒนธรรม วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กรณีท่าน ว.วชิรเมธี ถูกวิพากษ์วิจารณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับดิไอคอนกรุ๊ป และไร่เชิญตะวัน โดยนายวราวุธ ตีระนันทน์ สว.ในฐานะประธานอนุ กมธ.การศาสนาฯ กล่าวว่า มี 3 หลัก คือ 1.เรื่องพระธรรมวินัย เราคิดว่าคณะสงฆ์ต้องพิจารณา 2.เรื่องกฎหมาย ซึ่งมีตำรวจและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่ จะเป็นอย่างไรเราไม่ทราบ

 “และ 3.ด้าน กมธ.ฯ เราตระหนักดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องสำคัญของพุทธศาสนา ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี เป็นพระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง จะผิดจะถูกเราไม่สามารถรู้ได้ ซึ่งตอนนี้ประธาน กมธ.ฯ ได้มอบหมายให้ผมแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งตอนนี้ก็จะมีการนัดประชุมกัน หากได้ข้อเท็จจริงก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป” นายวราวุธระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณาสถานะสมาชิกพรรคของนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเสนอให้พรรคขับนายสามารถให้พ้นสมาชิกพรรค

มีรายงานว่า เมื่อปี 2564 นายสามารถในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ถูกสถาบันภาษา ม.รามคำเเหง แจ้งว่าสถาบันฯ ได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้มาเรียนและเข้าสอบแทนนายสามารถตั้งแต่วันที่ 6-7 มี.ค. 2564 ในการนี้สถาบันฯ ได้ตัดสิทธิ์ในการเรียนวิชาดังกล่าวของนายสามารถแล้ว หลังถูกพบว่ามีนายตำรวจยศ พ.ต.ท.ไปเรียนและเข้าสอบหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาเอก ม.รามคำแหงแทน โดยล่าสุดทางผู้บริหาร ม.รามคำแหงกำลังเตรียมพิจารณาเรื่องนี้ใหม่  ผลการสอบสวนภายในและผลการสอบสวนของพรรคพปชร.ออกมาตรงกันว่า มีพฤติกรรมตามที่ถูกตรวจสอบจริง

 นอกจากนี้ มีรายงานว่านายตำรวจยศ พ.ต.ท.คนดังกล่าวได้เลื่อนยศเป็น พ.ต.อ. ตำแหน่ง ผกก.สน.แห่งหนึ่ง ในสังกัด บช.น. และเมื่อไม่นานมานี้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนกรณีเข้าเรียนและสอบแทนนายสามารถ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการกับนายตำรวจคนนี้ต่อไป

ที่ จ.บุรีรัมย์ มีความคืบหน้ากรณีลูกสาวของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านกรวด ตั้งตัวเป็นเท้าแชร์บ้านกิ๊ฟซี่ โกงเงินลูกแชร์หลายจังหวัดไม่ต่ำกว่า 60 คน สูญเงินไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ล่าสุด ร.ต.อ.พนัส โกรดประโคน รอง สว.(สอบสวน) สภ.บ้านกรวด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบปากคำผู้เสียหายและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยเท้าแชร์กิ๊ฟซี่ที่ถูกแจ้งความกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปติดต่อให้มาพบพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ยังไม่เห็นเข้ามาพบ ซึ่งก็จะต้องออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนตามขั้นตอน เบื้องต้นจากพฤติการณ์ก็เข้าข่ายความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.การเล่นแชร์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี ผู้เสียหายคดีดิไอคอนกรุ๊ป​ 'ปปง.' เปิดให้ยื่นขอคุ้มครองสิทธิรับคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สิน

ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ได้นำส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี บริษัท