จี้ปชน.หนุนร่างพรบ.สันติสุข

"เพื่อไทย" แบ่งรับแบ่งสู้เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม "วิสุทธิ์" ร่ายขั้นตอนย้ำไม่ข้องเกี่ยวมาตรา 112 แน่ "ทั่นเต้น" โผล่แล้วบอกจุดยืนไม่เคยเปลี่ยน แต่วิธีคิดอาจเปลี่ยนบ้าง ประเมินไม่มีม็อบการเมือง มีแต่ม็อบปากท้อง เชื่อช่วงปิดสภาจะถกเถียงหนักเพื่อตกผลึกเรื่องนิรโทษฯ แน่ "รทสช." ซัดพรรค ปชน.จริงใจต้องหนุนร่างกฎหมายสันติสุข ไม่ใช่มุ่งล้างผิด 112 "พิราบขาว" ให้ข้อมูลครอบงำพรรค ท้า "พท.-ชินวัตร" สาบานวัดพระแก้วไม่ได้ถูกชี้นิ้วสั่ง งามไส้! ผลโพลไม่เชื่อน้ำยาฝ่ายค้าน

เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ได้ตกลงกับวิปทั้งสามฝ่ายแล้วว่าจะเสนอในช่วงต้นของการประชุมสมัยหน้า เนื่องจากมีหลายฉบับ

เมื่อถามว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต้องพิจารณาอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการเสนอหลายแบบ เพราะมี 4 ฉบับ แต่ในฐานะที่เป็นประธานสภาไม่สามารถบอกได้ว่าแก้ไขในมาตราใด ฉบับใดจะผ่านหรือไม่ผ่าน ในส่วนนี้เราต้องเป็นกลาง ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ต้องแล้วแต่ที่ประชุมว่าสมาชิกจะเสนอและพิจารณาอย่างไร ต้องรอดูเมื่อมีการพิจารณาในสภา

ถามต่อว่า การแก้ไขมาตรา 256 ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 256 ต้องทำประชามติอยู่แล้ว เพราะเป็นการแก้ไขที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และอาจรวมถึงองค์กรอิสระซึ่งต้องทำประชามติก่อน

ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีพรรคจะมีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ว่า ต้องถามที่ประชุมพรรค แม้เป็นวิปรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าตัดสินใจแทนผู้แทนได้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อมีการปรึกษาสมาชิกของพรรคแล้ว ก็ต้องปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เมื่อมีความคิดเห็นเป็นเช่นไร ก็ต้องนำส่งต่อไปให้คณะกรรมการบริหารพรรค ทุกอย่างเป็นระบบ

เมื่อถามว่า ได้หารือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในสมัยประชุมหน้าหรือยังนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ต้องรอทำกฎหมายประชามติให้เสร็จก่อน เพราะกฎหมายประชามติจะเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันของทั้งสองสภาแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมก็ปล่อยให้ กมธ.ได้ทำงานกัน ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับนิรโทษกรรมซึ่งมี 4 ร่างในขณะนี้ เห็นว่ามีสองแนวทางคือ รัฐบาลอาจเห็นด้วยกับร่างของพรรคไหนหรือไม่เห็นด้วยเลย ตรงนี้เราก็ไม่ทราบ แต่ในส่วน สส.ของพรรคนั้นต้องหารือกันในพรรคก่อน

 “ไม่ว่าจะนิรโทษกรรมแบบไหน แต่ย้ำว่าเราจะไม่นิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยเด็ดขาด  ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยกับการแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่จะแก้ไขมาตรา 112 ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่าเราจะนิรโทษกรรมให้นั้นก็ไม่มีข้อเท็จจริง แต่หากเป็นคดีธรรมดา คดีการเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีจากความขัดแย้ง จะอยู่ในข่ายที่เราพิจารณา ซึ่งต้องมีการหารือกับ สส.ในพรรค รวมถึงต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า คิดเห็นอย่างไรและจะแก้ไขอย่างไรบ้าง” นายวิสุทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า การเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมจะไม่เป็นชนวนนำไปสู่รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ต้องปรึกษาหารือกัน เพราะพรรคร่วมก็เสนอร่าง แต่ยืนยันว่าไม่มีอะไรต้องหนักใจ เพียงแค่เราต้องมีการปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกก่อน

พรรคร่วมรัฐบาลซี้ปึ้ก

ถามย้ำว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นอยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า  เหนียวแน่นปึ้กอยู่ หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย การเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้กำชับเรื่องอะไรหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า นายกฯ ไม่ค่อยมาฝากฝังเรื่องอะไร มีแต่คำถามด้วยความเป็นห่วงว่าช่วงนี้มีอะไรหรือไม่ ซึ่งก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกถึงงานที่นายกฯ มอบหมายว่า ในคำสั่งแต่งตั้งคงปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกฯ มอบหมาย ทั้งเรื่องการติดตามประเมินสถานการณ์ ประสานงานทางการเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงานส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนั้นก็สุดแท้แต่นายกฯ จะมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ให้มาดูเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองยังไม่ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ส่วนผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหรือประสบความเดือดร้อนจากปัญหาการทำกิน หรือการดำรงชีพต่างๆ ก็มีนายสมคิด  เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานงานความคืบหน้าอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะมีประสบการณ์ด้านการชุมนุม  สถานการณ์ตอนนี้คิดว่ามีกลุ่มการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวจริงๆ มีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ทั้งในการชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ หรือการรวมตัวและแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่ในขั้นของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่หลักหมื่นหลักแสนคนเป็นเวลานานๆ อย่างที่เราเคยเห็นหลายครั้งในรอบ 20 ปีมานี้ เข้าใจว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีหน่วยงานหรือปฏิบัติการอะไรที่จะติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ เพราะเราเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมุ่งเน้นการผลักดันผลงาน การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า

เมื่อถามว่า มีชนวนใดที่จะทำให้จุดม็อบได้บ้าง นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การไม่ไปเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือเป็นเรื่องหลักที่ทุกรัฐบาลไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว และจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา จนกระทั่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ก็ไม่ได้มีท่าทีทำนองนี้ ขณะนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาลคือพยายามผลักดันนโยบาย หรือเนื้องานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ แต่การจัดบรรยากาศ การจัดเวทีในการดำเนินการเรื่องนี้มันมีความละเอียดอ่อน คิดว่าควรให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสภาว่ากัน  ใครมีความคิดเห็นแบบไหน ก็แสดงออกกันด้วยท่าทีและเวทีที่เหมาะสมน่าจะดีที่สุด

ถามถึงเรื่องนิรโทษกรรม จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบถึงรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันไม่มีข้อโต้แย้ง คือเห็นชอบว่าควรมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่ยังเห็นต่างกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะออกมา จะครอบคลุมถึงความผิดหรือการดำเนินคดีข้อหาใดบ้างนั้น ความจริงมาตรา 112 ยังเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งสภากำลังจะปิดสมัยประชุม และจะพิจารณากฎหมายนี้หรือไม่อย่างไรก็อยู่ที่สมัยประชุมหน้า ดังนั้นช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการประชุมสภา เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ตลอดจนกลุ่มก้อนภาคประชาชนที่ได้เคลื่อนไหวคงได้ปรึกษาหารือกัน และการจะเดินหน้าเรื่องนี้ หลักการคือต้องไม่ไปขยายความขัดแย้งใดๆ เพิ่ม

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การรักษาบรรยากาศไม่ให้ช่วงเวลานี้ไปมีเงื่อนไขความขัดแย้งอะไร หากจะพูดคุยกัน เช่น พรรคเพื่อไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ  และ รมว.กลาโหม บอกว่าจะมีกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการบริหาร จะหารือและมีข้อสรุปว่าจะมีร่างออกมาประกบหรือไม่ รวมถึงส่วนอื่นๆ ก็เช่นกัน คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาคุยกันภายใน ถึงเวลาก็ต้องเอาไปคุยกันในสภา  ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภาที่จะไปพูดคุยกัน

ทั่นเต้นยันจุดยืนเหมือนเดิม

 “จุดยืนของผมต่อเรื่องนี้ ผมได้แสดงความเห็นไปหลายที ยังมีจุดยืนเดิมที่พูดมาตลอด ก่อนที่จะมาทำหน้าที่  และหวังใจเวลาที่ยังเหลืออยู่ ข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างต่างๆ แต่ละฝ่ายที่กำลังคิดไม่เหมือนกัน น่าจะยังมีเวลาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกันได้” นายณัฐวุฒิกล่าว

เมื่อถามว่า ตั้งแต่มาเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ได้พูดคุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. ที่ออกมาเตือนว่าสักวันสิ่งที่นายณัฐวุฒิเคยทำหรือพูดไว้อาจกลับมาทำลายตัวเองหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกันเป็นทางการ แต่ก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ มีวิถีทางในการเลือกเดิน และยังแน่ใจว่าความเป็นตนเองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วิธีการคิดและเดินอาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างไปตามสถานการณ์ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และตลอดเส้นทางที่ผ่านมาเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากเพื่อนมิตรและพี่น้องก็เลือกที่จะเงียบและทำตามในสิ่งที่เชื่อ เดินตามทางที่เลือก ให้เวลามันอธิบายเรื่องทั้งหมดดีกว่า

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ยืนยันร่างกฎหมายของพรรคที่เสนอต่อสภาจะไม่ลดเพดานคดีมาตรา 112 แต่พรรครัฐบาลไม่มีเอกภาพ ความเห็นสวิงตลอดเวลาว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนมาโดยตลอดว่า กฎหมายนิรโทษกรรมผู้มีแรงจูงใจทางการเมืองไม่เหมารวมคดีทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  โดยเฉพาะพรรค รทสช.ย้ำจุดยืนชัดมาตั้งแต่แรก ไม่สังฆกรรม ปิดประตูตายไม่ยอมรับกฎหมายที่มีเกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าว

“หากพรรคประชาชนที่เสนอกฎหมายเข้าสภามาแล้วยังดื้อรั้นดันทุรัง ดันกฎหมายดังกล่าวให้เข้าพิจารณาในสภา ขอบอกไว้ล่วงหน้าว่าให้เตรียมใจถูกคว่ำร่างได้เลย เพราะไม่มีพรรคใดที่เห็นด้วยให้เหมายกเข่งนิรโทษกรรมคนที่ทำผิดคดีมาตรา 112” นายธนกรกล่าวและว่า ขอให้พรรคประชาชนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … ของพรรคหากมีความจริงใจเห็นแก่ประเทศชาติจริง อยากให้เกิดความปรองดอง แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่จ้องจะยกโทษให้บางกลุ่มที่ก้าวล่วงเบื้องสูงเท่านั้น

วันเดียวกัน นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เรียกเข้าให้ข้อมูลในคำร้องให้มีการยุบ 6 พรรคการเมือง จากกรณีที่ถูกนายทักษิณ ชินวัตร เข้าครอบงำ ชี้นำ ซึ่งหลังจากที่ได้ยื่นคำร้องแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าคำร้องมีมูลปรากฎ โดยประเด็นการครอบงำเป็นที่ประจักษ์ คนไทยไม่ได้กินหญ้าแต่คนไทยกินข้าว และนับถือแม่พระโพสพ จะรู้ว่าเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงคือใคร เพราะก็เป็นอดีตผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย  พรรคนี้มีเสน่ห์เรื่องการเงิน ไม่ว่าเจ้าของพรรคจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไร ที่ไหน ต้องดำเนินการตาม

“วันนี้นายภูมิธรรมถูกสงสัยว่าตำแหน่งที่แท้จริงคืออะไร เพราะจุ้นจ้านไปทุกตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งนายกฯ  ด้วย วันนี้มันเป็นความปรากฏทั้งสิ้นทั้งมวลว่า อดีตนายกฯ ทักษิณเป็นผู้ชี้นำการเมืองพรรคเพื่อไทย เริ่มตั้งแต่ในอดีตว่าทักษิณคิด เพื่อไทยทำ วันนี้ทักษิณชี้นิ้วเพื่อไทยทำ ถ้าไม่จริงไปสาบานกันที่วัดพระแก้ว ขอให้ สส.พรรคเพื่อไทย สมาชิกพรรครวมถึงตระกูลชินวัตร ออกมายืนยันว่าอดีตนายกฯ ทักษิณไม่มีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นแบบนั้นจริงในวันนี้เราจะไม่เห็น น.ส.แพทองธารเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกฯ” นายนพรุจกล่าว

อึ้ง! คนไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ นายนพรุจยังได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต.กรณีให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย จากเหตุมีมติส่งนายชาญ พวงเพ็ชร์ ลงสมัครนายก อบจ.ปทุมธานี ในนามพรรคเพื่อไทย ทั้งที่นายชาญถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปทุมธานี ปี 2554 และต่อมาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค1 พิพากษาให้จำคุก 6 ปี 18 เดือน ซึ่งถือว่ากระทำความผิดเป็นที่ประจักษ์ จึงต้องการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองอาศัยมาตรา 93  พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วยหรือไม่

ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,500 คน จากทั่วทุกภูมิภาค เรื่องความเชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน โดยผลสำรวจนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านคนใดที่โดดเด่นที่สุด พบว่า 1.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 15.2% สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) 2.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 12.8% สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. 3.น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรค ปชน 9.3% 4.นายรังสิมันต์ โรม 9.3% สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. 5.น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ 8.7%  สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. เป็นต้น และเมื่อถามต่อว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านใดทำหน้าที่ได้ดีที่สุด 5 อันดับแรก  พบว่า พรรคประชาชน 23.3% พรรคไทยสร้างไทย 19.7%  พรรคเป็นธรรม 13.6% พรรคใหม่  12.5% และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 10.4%   

 “เมื่อถามว่ามีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพียงใด พบว่าเชื่อมั่นมาก 12.3%  ค่อนข้างเชื่อมั่น 16.1% ค่อนข้างไม่เชื่อมั่น  30.6% ไม่เชื่อมั่นมาก 26.7% และไม่มีความเห็น 14.3%”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันนอร์' ลุยถกแก้รธน. 14-15 ม.ค. ถือเป็นข่าวดีปีใหม่ หวังทันเลือกตั้งปี 70

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ได้คุยกับวิป 3 ฝ่ายไปแล้วว่าเรามีร่างรัฐธรรมนูญที่แก้รายมาตรา 17 ฉบับ และยังมีร่างที่แก้ทั้งฉบับของพรรคประชาชน(ปชน.)