ปีติถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์     ปชช.เนืองแน่นสองฝั่งเจ้าพระยา ปลื้มปีติได้ชื่นชมพระบารมี ตราตรึงใจพระราชพิธีสมพระเกียรติ ยิ่งใหญ่งดงามตระการตา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2567 เวลา 15.14 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม ณ ท่าวาสุกรี ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ   เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เฝ้าฯ รับเสด็จ

 เมื่อเสด็จฯ ถึงยังสะพานฉนวนประจำท่าเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ  เรือพระที่นั่ง 4 ลำ กำลังพลทั้งสิ้น 2,412 นาย

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  เสด็จฯ ไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.ท.สมบัติ จูถนอม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนฝีพายประจำเรือพระที่นั่งแล้ว ว่าที่ น.อ.คมสันต์  ศรีหลง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบสะพานฉนวนน้ำ   หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแล้ว      พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการแจ้งนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ยาตราขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ต่อมาเวลา 15.22 น. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนออกจากท่าวาสุกรีเพื่อเข้าริ้วขบวนยาตราขบวนไปยังท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม    ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังฆ์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ และกลองชนะ ประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน จากนั้นเวลา 16.08 น. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเทียบสะพานฉนวนน้ำหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจ้าพนักงามพระราชพิธีเชิญผ้าพระกฐินจากบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชไปรอทูลเกล้าฯ ถวายในพระอุโบสถฯ

เวลา 16.12 น. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พล.ร.อ.จิรพล  ซึ่งเป็นผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าฯ รับเสด็จที่บริเวณปลายฉนวนน้ำ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ   เสด็จขึ้นสะพานฉนวนน้ำหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี   เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ไปยังพระอุโบสถ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัตทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถ  แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 2 ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตรพระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา เจ้าหน้าที่กรมการศาสนากราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ จบแล้วทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้านั้นพาดระหว่างพระกร ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2  เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว เสด็จฯ  ไปถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก

เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายเกียรติวิสุทธิ์ เพ็ชรหมื่นไวย ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัดเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์

เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3.5 นิ้ว  เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ 

ต่อมาเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนามิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2 แล้วเสด็จฯ ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ แล้วเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในปี 2567 นี้  กองทัพเรือจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือเข้าร่วมฝึกซ้อมในทุกริ้วขบวน 2,412 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์,   เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ นอกจากนี้  มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม เรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวน เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

ส่วนริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น  เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ ระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรีถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม รวม 3.9 กิโลเมตร โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย ร.ท.สุราษฎร์ ฉิมนอก และ พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กลิ่นบัว สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี 4 บทประพันธ์ โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วยบทสรรเสริญพระบารมี  บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง

ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี ได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์  จวบจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (บก) หรือชลมารค (น้ำ) เป็นการเสด็จฯ เพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐาน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น และจัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่าขบวนพุทธพยุหยาตรา การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง มาสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 

สำหรับการถวายผ้าพระกฐินหลวง  เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก โดยจะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์ นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ กรุงเทพมหานคร 12 พระอาราม จ.นครปฐม 1 พระอาราม จ.พระนครศรีอยุธยา 2 พระอาราม และ จ.พิษณุโลก จำนวน 1 พระอาราม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. ประชาชนจำนวนมากพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองมาจับจองพื้นที่และปักหลักเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีแน่นขนัดตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึงวัดอรุณราชวราราม จุดให้ประชาชนชมขบวนพยุหยาตรา 14 จุด โดยประชาชนต่างปลื้มปีติที่ได้ชื่นชมพระบารมี พากันเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องแม่น้ำเจ้าพระยา โบกธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และธงชาติพลิ้วปลิวไสว พร้อมรับชมความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอันเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน   เป็นความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย มีหนึ่งเดียวในโลก ในการจัดงานเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

ขณะที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า มีประชาชนแต่งกายด้วยชุดสีเหลืองจำนวนมากมารอรับเสด็จ โดยนางสุมล ปานสีทอง อายุ 74 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ อาชีพทำไร่ทำนา หนึ่งในพสกนิกรที่มารอรับเสด็จ กล่าวด้วยความปีติว่า มาพร้อมญาติๆ เดินทางมาจาก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ด้วยรถตู้ 1 คัน ตั้งแต่เวลา 04.30 น. เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้ามาจับจองที่นั่ง ถือเป็นบุญที่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว เพราะอายุมากแล้ว ไม่รู้จะได้มาเข้าร่วมพิธีอันมงคลอย่างนี้อีกหรือไม่ เพราะป็นคนต่างจังหวัด การเดินทางไปมาไม่สะดวก ร่างกายเริ่มอ่อนแอตามวัย วันนี้ถือว่ามีบุญที่ได้มา ชีวิตนี้คงไม่มีอีกแล้ว โดยการเตรียมตัวมาวันนี้ได้มีทั้งน้ำ ยาอม ยาดม เตรียมไว้พร้อม

“ก่อนหน้านี้เคยมาดูขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งหนึ่งเมื่อสมัย ร.9 ได้มาเฝ้าฯ รับเสด็จที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 แต่ก็เห็นไม่ชัดเพราะคนเยอะมาก เมื่อมีพระราชพิธีในวันนี้ มาพร้อมญาติๆ จึงได้ชวนกันมาเพื่อเป็นบุญตาอีกครั้ง" นางสุมลเผย

นางนวลน้อย เพิ่มผล อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญกรุงเทพมหานคร พร้อมสามี ได้เดินทางมาโดยรถรับ-ส่งของ ขสมก.จากบางเขน เพื่อรอรับชมขบวนพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค   โดยได้เล่าถึงความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีที่ไม่มีที่ไหนในโลก โดยตนได้ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 10.00 น. เพื่อมาจับจองที่นั่ง เพราะทราบว่าจะมีประชาชนเดินทางมาจำนวนมาก ถึงแม้วันนี้อากาศจะค่อนข้างร้อน แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค  ได้เตรียมร่มมาเพื่อกันแดดกันฝน

ก่อนที่จะมาในวันนี้ได้รับชมขบวนซ้อมซึ่งเป็นวันที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ที่ร่วมขบวนพยุหยาตราทุกคนต่างไม่ย่อท้อ แม้แต่ประชาชนที่เข้าร่วมรับชมในวันนั้นต่างก็รู้สึกประทับใจ ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่จะมีอย่างนี้ เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีสถาบันกษัตริย์ประเทศไหนที่เป็นศูนย์รวมจิตใจเหมือนประชาชนชาวไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประมวลภาพ ในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2567 เวลา 15.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  ปชช.เนืองแน่นสองฝั่งเจ้าพระยา ปลื้มปีติได้ชื่นชมพระบารมี ตราตรึงใจพระราชพิธีสมพระเกียรติยิ่งใหญ่งดงามตระการตา

ประชาชนเนืองแน่น 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รอชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

บริเวณสวนสันติชัยปราการประชาชนแต่งกายชุดสีเหลือง มารอเฝ้าฯรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

ประชาชนร่วมใจใส่เสื้อเหลืองทยอยเข้าจุดรับชมพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค

ประชาชนร่วมใจใส่เสื้อเหลืองทยอยเข้าจุดรับชมชมพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค