เพื่อไทยยังงัดกันเอง! “หมอเชิดชัย” เผยอยากเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ม.112 แบบมีเงื่อนไข ตอก สส.ร่วมพรรคขี้ปอด เรื่องแบบนี้ต้องกล้าหาญ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสถาบัน อ้างแค่ปล่อยเด็กไปเรียน รอตัดสินในที่ประชุมพรรค 29 ต.ค. ด้าน "นพดล" ยืนยันพรรคไม่เคยมีนโยบายนิรโทษกรรมคนหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง ที่จ่อเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเปิดวันที่ 12 ธันวาคม พรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอร่างเข้าประกบหรือไม่ ว่ายังไม่ได้คุยกัน เพราะหลังจากวันที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบข้อสังเกตรายงานการศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตนก็ได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พท.บ้าง ซึ่งก็งงว่าแหกกติกากันหมดเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เราก็ไม่ว่าอะไร แต่คนอื่นกลับลงมติไม่รับหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการคุยพูดกันในพรรคเพิ่มเติมหรือไม่ สส.พรรคเพื่อไทยผู้นี้ตอบว่า เดี๋ยวจะประชุมพรรคกันวันที่ 29 ต.ค.นี้ คงจะต้องมีการเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมพรรค เพราะจะมีเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่จะเข้าสู่การประชุมสภาสมัยหน้าอีก 4 ฉบับอยู่แล้ว ไม่พูดวันนี้ วันหน้าก็ต้องพูดอยู่ดี จะได้นำสิ่งที่ กมธ.ศึกษามาเป็นแนวทางว่าอะไรเหมาะสมหรือแบบไหนก็ว่ากันไป
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการที่ สส.ของพรรคไม่เห็นด้วยกับร่างรายงานดังกล่าว นพ.เชิดชัยตอบว่า “เขาขี้ปอด ผมมองว่าเรื่องแบบนี้ต้องกล้าหาญหน่อย เพราะเป็นเรื่องที่หากจะไปพูดที่อื่นก็ไม่เหมาะ ก็ต้องพูดในที่เปิดเผย และต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าเราไปพูดเรื่องสถาบัน เพียงแค่เราจะดูว่ามีแนวทางใดที่จะช่วยผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบัน แต่คนกลับเข้าใจผิดว่าจะไปยกเลิกมาตรา 112 มันไม่ใช่ ซึ่งในรายงาน กรรมาธิการเขาดูแล้วก็มีตั้งแต่พวกที่ทำซ้ำ อาฆาตมาดร้ายจริงๆ มีไม่กี่คน แต่ส่วนใหญ่เราก็ควรนิรโทษกรรมให้เขาได้กลับไปเรียนหนังสือ โดยมีเงื่อนไขว่าอย่าไปทำผิดอีก ภายในกี่ปีก็ว่ากันไป”
ถามว่า พรรคเพื่อไทยควรเสนอร่างประกบเข้าไปด้วยหรือไม่ นพ.เชิดชัยเผยว่า หากจะมีการยกร่างประกบ ก็คงยกร่างไปตามที่เรามีการพูดคุยกันไป คือการนิรโทษกรรม 3 แนวทาง ซึ่งหากตนเสนอก็คงเสนอแบบมีเงื่อนไข แต่เราคงจะต้องมีการพูดคุยกันว่าสรุปแล้วจะเอาอย่างไร ในเมื่อมีร่างของภาคประชาชน ร่างของพรรคประชาชน และร่างของพรรคอื่นอีก ซึ่งเป็นร่างเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น
ไม่มีนโยบายนิรโทษกรรม 112
ด้านนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่สภาผู้แทนราษฎรโหวตไม่เห็นด้วยกับรายงาน กมธ. ซึ่งมีคนวิจารณ์ว่าญัตตินี้เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน แต่ทำไม สส.พรรคเพื่อไทยโหวตไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะ กมธ. และบางคนแสดงความคิดเห็นไปว่านายชูศักดิ์อาจจะน้อยใจในเรื่องนี้หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยยอมตามพรรคร่วมรัฐบาลเกินไปหรือไม่ ว่าเรื่องนี้ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นเป็นข้อๆ เพื่อความชัดเจนดังนี้
1.รายงานผลการศึกษาของคณะ กมธ.นั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือตัวรายงาน และส่วนที่สองคือข้อสังเกตของคณะ กมธ. ซึ่งส่วนที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวรายงานนั้น สภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่รับทราบ โดยไม่ต้องลงมติในขณะที่ส่วนที่สอง ซึ่งเป็นข้อสังเกตนั้น ต้องมีการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แม้สภาโหวตไม่เห็นชอบกับส่วนที่สองซึ่งเป็นข้อสังเกต ตัวรายงานส่วนที่หนึ่งนั้นถูกรับทราบโดยสภาไปแล้วตามกฎหมาย
2.พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีมติให้ สส.ของพรรคโหวตไปทางหนึ่งทางใด ซึ่งผลปรากฏว่ามีสมาชิกประมาณ 115 คนโหวตไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกต ซึ่งก็เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน ซึ่งมีเหตุผลแตกต่างกันไป นายชูศักดิ์เป็นผู้อาวุโส ไม่ได้น้อยใจใดๆ
3.แม้สมมุติว่าสภาเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะ กมธ. เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปพิจารณา ผลการลงมติของสภาก็ไม่สามารถไปบังคับ ครม.และรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้อยู่ดี ดังนั้นผลในทางปฏิบัติจึงไม่เกิดขึ้น ส่วน ครม.จะขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ ครม.หรือรัฐบาลจะไปพิจารณาร่วมกัน ซึ่งไม่ต้องผูกมัดกับมติของสภาผู้แทนราษฎร
4.ต่อไปนี้เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะไปพิจารณาว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ และถ้าเสนอจะนิรโทษฯ ความผิดใดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะรับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมืองของตนเอง
และ 5.พรรคเพื่อไทยยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอดว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายและแนวคิดที่จะรวมความผิดตามมาตรา 110 และ 112 เพื่อนิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112
“การนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้นจะต้องนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ในชาติ และไม่ควรนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต หวังว่าทุกฝ่ายจะก้าวข้ามความขัดแย้งและนำประเทศสู่ความมั่นคงทางการเมืองต่อไป" นายนพดลกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2
จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้